รวม 15 อาชีพที่น่าสนใจจากตัวละครในซีรีส์เกาหลี

จุดเด่นของซีรีส์เกาหลีที่ครองใจคนดูรุ่นใหม่ ๆ ได้นั้นไม่ได้มีแค่เหตุผลเรื่องผู้ชาย เพราะนอกเหนือจากพระเอกหล่อ พระรองแสนดีแล้ว ต้องยอมรับว่าการผลิตรายการของเขานั้นใส่ใจในรายละเอียดมาก ๆ ทั้งบทละคร การคัดเลือกนักแสดง สถานที่ ฉาก แสง เอฟเฟกต์ ซีจี การแต่งหน้าทำผม ชุดนักแสดง รวมถึงเพลงประกอบ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบโดยรวมที่ทำให้ซีรีส์เกาหลีดูสมจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาชีพ” ของตัวละครในเรื่อง ที่ส่วนใหญ่แล้วคนเขียนบทจะทำการมาดีมาก เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ซีรีส์มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

หากใครที่ติดตามดูซีรีส์เกาหลีเป็นประจำ จะเห็นว่าเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับอาชีพทุกอาชีพ ไม่ได้มีแค่แพทย์ พยาบาล ครู วิศวกรเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ แต่ยังมีอีกหลาย ๆ อาชีพที่ถูกนำเสนอผ่านจอให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้น อาชีพในซีรีส์เกาหลีที่ถูกนำมาถ่ายทอดจึงค่อนข้างจะว้าวที่สามารถนำมาเป็นธีมในการนำเสนอเรื่องราวได้ เอาเข้าจริงตัวอาชีพอาจจะไม่ได้แปลกหรอก เพียงแต่เราไม่ได้เห็นการนำเสนออาชีพเหล่านี้ในละครไทยกันเท่าไรนัก

คอนเทนต์นี้ Tonkit360 ขอยกเอาตัวอย่างของอาชีพจากในซีรีส์เกาหลีที่น่าสนใจและมีความว้าวในการนำเสนอ โดยซีรีส์ที่จะกล่าวถึงในคอนเทนต์นี้ ยกมาจากซีรีส์เกาหลีที่อยู่ในคอลัมน์ชะนีติดซีรีส์ เผื่อว่าใครสนใจเกี่ยวกับอาชีพเหล่านี้จะได้ลองหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป

1. เจ้าหน้าที่แผนกจิตเวช

เริ่มต้นที่อาชีพที่ไม่ค่อยจะได้เห็นในละครบ้านเรา คือเจ้าหน้าที่แผนกจิตเวช เป็นเจ้าหน้าที่ไม่ใช่หมอ นั่นแปลว่าคนที่ทำหน้าที่นี้ในห้องผู้ป่วยจิตเวชจะต้องรับมือกับผู้ป่วยจิตเวชได้ ซึ่งผู้ป่วยในแผนกนี้เนี่ยก็มีหลายระดับ ถ้าระดับที่พูดจากันรู้เรื่องเจ้าหน้าที่ก็จะไม่เหนื่อยเท่าไร แต่ถ้าระดับที่คลุ้มคลั่งอาละวาด เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ต้องจัดการให้อยู่หมัด ซึ่งความยากก็จะอยู่ที่ตรงนี้ โดยอาชีพนี้ปรากฎในซีรีส์เรื่องเรื่อง It’s Okay to Not be Okay เป็นอาชีพของพระเอกซึ่งรับบทโดยคิมซูฮยอน

ในซีรีส์เรื่องนี้จะได้เห็นถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและการรับมือกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในห้องผู้ป่วยจิตเวช ห้องที่คนส่วนใหญ่เป็นคนจิตใจไม่ปกติ คนเหล่านี้ต้องการรักษาและการบำบัดจิตใจ อย่างที่จะมีฉากหนึ่งที่พระเอกสอนให้นางเอกทำท่าอ้อมกอดผีเสื้อ (Butterfly Hug) ซึ่งเป็นท่าที่ใช้รักษาความเจ็บปวดทางจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีต ท่านี้จะช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ให้จิตใจสงบลง นี่จึงเป็นการนำเสนอให้เห็นถึงการทำงานของอาชีพอีกอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อคนดูไม่มากก็น้อย

2. ช่างแต่งหน้า

ช่างแต่งหน้า อาจถูกเรียกรวม ๆ ว่าเป็นช่างเสริมสวยในสังคมไทย แม้ว่าจะเป็นแค่คำที่ใช้เรียกอาชีพ แต่ก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกเชิงลบในคำว่าช่างเสริมสวย ปัญหาก็เพราะว่าค่านิยมที่เชิดชูอยู่แค่ไม่กี่อาชีพของคนไทยนั่นแหละ ที่มองว่าอาชีพหนึ่ง ๆ ดีกว่าอีกหลาย ๆ อาชีพ และอาชีพอีกหลาย ๆ อาชีพที่ว่าก็มักจะแฝงไปด้วยความรู้สึกเชิงลบเสมอเมื่อถูกพูดถึง แต่ขอบอกเลยว่าช่างแต่งหน้านี่ไม่ไก่กานะ คนที่ประสบความสำเร็จมีอยู่หลายคนมาก และเป็นอาชีพที่ค่อนข้างโชคดีมากด้วย เพราะคุณจะมีโอกาสได้ทำงานกับคนดัง ๆ จากหลากหลายวงการ

สำหรับอาชีพช่างแต่งหน้าในซีรีส์เกาหลี เป็นอาชีพของนางเอกในซีรีส์เรื่อง Record of Youth ความฝันของนางที่มาเป็นช่างแต่งหน้าก็เพราะอยากที่จะใกล้ชิดกับพระเอกซึ่งเป็นนักแสดงนั่นเอง เพราะนางเอกเป็นติ่งพระเอกตั้งแต่พระเอกยังไม่ดังเลยด้วยซ้ำ ถึงอย่างนั้นนางเอกก็มุ่งมั่นอย่างมากที่จะเป็นช่างแต่งหน้าฝีมือเพื่อให้ได้มีโอกาสทำงานในวงการบันเทิง เพราะฉะนั้น อย่าได้ดูถูกฝีมือนางเชียว

3. นักวาดการ์ตูน

ให้พูดอะไรไหม อาชีพที่เกี่ยวกับศิลปะเนี่ย เป็นอาชีพที่โดนเหยียดมาตลอดในสังคมไทย เป็นศิลปินไส้แห้งบ้าง เต้นกินรำกินบ้าง เด็ก ๆ ที่เลือกเรียนอะไรเทือก ๆ นี้จะต้องเคยผ่านคำดูถูกมาแล้วทั้งนั้น และคำถามสุดคลาสสิกว่าจบมาแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ แล้วยิ่งทัศนคติที่มองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระด้วยแล้ว หากใครคิดจะเป็นนักวาดการ์ตูนในเมืองไทยเนี่ยคุณต้องแข็งแกร่งจริง ๆ ถึงจะยืนหยัดทัดทานคำพูดเหล่านั้นให้ได้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

สำหรับอาชีพนักวาดการ์ตูน เป็นอาชีพของนางเอกจากซีรีส์เรื่อง How to be Thirty ที่แม้ว่าตัวซีรีส์จะไม่ได้เน้นที่อาชีพนางเอกมากเท่ากับชีวิตสุดกล้ำกลืนของนางเอก แต่เราก็จะเห็นว่าเกาหลีเขาพยายามให้ความสำคัญกับคนทุกอาชีพจริง ๆ ไม่ได้เชิดชูแค่หมอ พยาบาล วิศวกร เพราะการเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงและโด่งดังจนประสบความสำเร็จก็สามารถเป็นได้ ทุกอย่างอยู่ที่ความพยายามและความสามารถ

4. พนักงานเก็บกวาดที่เกิดเหตุ

นี่น่าจะเป็นชื่ออาชีพที่แปลกประหลาดที่สุดแล้วในบรรดาอาชีพที่นำเสนอในคอนเทนต์นี้ และสำหรับใครที่ไม่เคยดูซีรีส์เรื่อง Move to Heaven ก็จะไม่รู้ว่าพนักงานเก็บกวาดที่เกิดเหตุคือใคร ทำงานแบบไหน เพราะฟังจากลักษณะงานแล้วน่าจะเป็นการทำความสะอาดที่เกิดเหตุการณ์อะไรซักอย่างเทือก ๆ นั้น แต่จริง ๆ แล้ว นอกจาก Move to Heaven จะเป็นชื่อซีรีส์แล้ว ยังเป็นชื่อบริษัทที่ตัวละครในเรื่องทำงานอยู่ด้วย เป็นบริษัทที่ทำงานร่วมกับคนที่ตายไปแล้ว เพราะคนตายลุกขึ้นมาจัดการกับข้าวของตัวเองไม่ได้ งานเก็บกวาดที่เกิดเหตุของ Move to Heaven จึงเป็นการทำความสะอาดและขนย้ายครั้งสุดท้ายให้กับเจ้าของทรัพย์สินที่ไม่ได้จ้างพวกเขา และไม่สามารถกลับมาใช้ข้าวของพวกนี้ได้อีกแล้ว

นี่เป็นซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้ดู เพราะการทำงานของ Move to Heaven ไม่ใช่แค่ทำความสะอาดเฉย ๆ ทว่ายังไขปริศนา ส่งต่อสาร ข้าวของชิ้นสำคัญ และความตั้งใจสุดท้ายให้กับครอบครัวและคนที่รักของผู้วายชนม์ เพราะคนที่ตายแล้วไม่มีโอกาสได้ทำเอง เป็นการหยิบเอาอาชีพสุดแปลกแต่มีอยู่จริงในเกาหลีใต้มานำเสนอให้เป็นที่รู้จัก โดยมีวิธีถ่ายทอดมุมมองและเรื่องราวที่สร้างความประทับใจสุด ๆ จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีและการแนะนำแบบปากต่อปากว่าควรต้องเปิดดูให้ได้

5. นักบินอวกาศ

ในขณะที่ละครไทยยังไม่มูฟออนจากการตบตีแย่งผู้หญิงผู้ชาย ซีรีส์เกาหลีเขาบินออกนอกโลกไปยันดวงจันทร์แล้ว แม้ว่าเกาหลีใต้ยังดูไม่ค่อยพร้อมที่จะออกไปนอกโลก แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เริ่มมีการนำเสนออาชีพนี้ในซีรีส์เกาหลีแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะสร้างผลงานแนวไปอวกาศ เพียงแต่อาจจะต้องทำการบ้านให้มากขึ้นอีกนิด และทำให้บทมันแข็งแรงกว่านี้อีกสักหน่อย นอกนั้นก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

สำหรับนักบินอวกาศ ปรากฏในซีรีส์เรื่อง The Silent Sea ผลงานคัมแบ็กในรอบ 5 ปีของพระเอกฉายาลมหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย กงยู พล็อตเรื่องเป็นไซไฟ บอกเล่าถึงโลกที่ใกล้เข้าสู่วิกฤติขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำ สาธารณรัฐเกาหลีจึงได้ส่งนักบินอวกาศออกไปสำรวจทรัพยากรน้ำที่ดวงจันทร์ ไปทำภารกิจเพื่อหาแหล่งน้ำแหล่งใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบนโลก

6. แพทย์เฉพาะทาง

การบอกว่าตัวละครเป็นหมอ มันเป็นเรื่องที่สุดแสนจะโบราณ เพราะมันจะปังกว่ามากถ้าบอกด้วยว่าเป็นหมออะไร ซึ่งซีรีส์เกาหลีเขาก็ทำแบบนั้นแหละ หมอในซีรีส์ส่วนใหญ่จะเป็นหมอเฉพาะทาง เช่น แพทย์ผิวหนังประจำคลินิกเสริมความงาม (แบบที่นวดหน้า ฉีดโบท็อซ์ ฉีดฟิลเลอร์ ไม่ถึงขั้นผ่าตัดทำศัลยกรรม) อาชีพของนางเอกเรื่อง Thirty-Nine ศัลยแพทย์ทรวงอกผ่าตัดหัวใจ อาชีพของตัวละครในเรื่อง Ghost Doctor หรือจิตแพทย์ที่ดูแลอาการเดินละเมอของพระเอกในเรื่อง Let Me Be Your Knight เป็นต้น

มันเป็นความละเอียดของคนเขียนบทที่ต้องศึกษาเรื่องเฉพาะทางของแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้ก่อนที่จะเขียนบทละครแล้ววางตัวละครให้รับบทนี้ ซึ่งซีรีส์เกาหลีแทบจะไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย ไม่ใช่บอกว่าตัวละครเป็นแพทย์แล้วจบ ใส่เสื้อกาวน์ห้อยหูฟังแพทย์เดินเข้ากล้องออกกล้องแบบนั้น เขาละเอียดยันสาขาเฉพาะทางของแพทย์ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าซีรีส์เกาหลีจะไม่มีอายุรแพทย์แบบที่ตรวจคนไข้ที่ห้องตรวจแบบนั้น คือมี แต่เขาก็ทำได้ละเอียดกว่าอยู่ดีว่าแพทย์อายุรกรรมต้องทำอะไรบ้าง

7. พิธีกรรายการขายสินค้าทางโทรทัศน์

เป็นอีกอาชีพของตัวละครที่รู้สึกว้าวมากเมื่อเห็นซีรีส์เกาหลีเอามาทำ คืออาชีพพิธีกรรายการขายสินค้าทางโทรทัศน์ หรือถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือพิธีกรรายการ home shopping นั่นแหละ ตอนอ่านเรื่องย่อครั้งแรกบอกเลยว่าในใจอุทานว่าบราโว่! เพราะไม่คิดว่าจะมีใครนึกถึงอาชีพนี้จนถึงขั้นเอามาทำเป็นซีรีส์ แล้ววิธีการนำเสนอของซีรีส์เกาหลีอะเนอะ ไม่ใช่แค่แปะป้ายว่านักแสดงคนนี้รับบทเป็นพิธีกรรายการ home shopping แล้วจบ แต่การดำเนินเรื่องราวก็อยู่ในจักรวาลของรายการ home shopping จริง ๆ

แต่บอกก่อนว่าพล็อตของซีรีส์เรื่อง Kill Heel นั้นอาจจะดูน้ำเน่าสักเล็กน้อย เพราะตัวละครที่อยู่ในรายการขายสินค้านั้นมีความดราม่าในชีวิตกันอย่างหนักหน่วง เบื้องหลังจริง ๆ ของคนในวงการนี้ไม่ได้สวยงามเหมือนภาพลักษณ์ทางโทรทัศน์ ทุกคนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด และได้ไปต่อในหน้าที่การงานได้อย่างสง่างาม มีความอิจฉาริษยาแอบหยุมหัวกัน ทว่าไม่ได้ด่ากันด้วยภาษาตลาด ๆ หรือเจอหน้าก็ตบตีกันแบบละครบ้านเรา เขาทะเลาะกันด้วยการชิงไหวชิงพริบ แข่งขันกันด้วยสมองแบบที่ไม่มีใครโง่กว่าใคร มีแต่ใครจะเหนือกว่าในเกมนี้เท่านั้น พร้อมทั้งยืนขายสินค้าทางหน้าจอโทรทัศน์ไปด้วย

8. นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (ผีสิง)

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อาชีพแปลก แต่ก็ไม่คิดว่าเกาหลีจะทำเรื่องราวของคนอาชีพนี้ออกมาเป็นซีรีส์ ที่สำคัญ อสังหาริมทรัพย์ที่นายหน้าคนนี้ขายก็ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ธรรมดา ๆ แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์ผีสิง พูดง่าย ๆ ก็คือนางเอกของซีรีส์เรื่อง Sell Your Haunted House เป็นทั้งนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ผีสิงและยังเป็นหมอผีที่จัดการผีในอสังหาริมทรัพย์เองเลยด้วย แถมวิธีการทำงานของหมอผีก็ยังทันสมัยมาก อุปกรณ์แต่ละอย่างเวลาออกไปปราบผีคือจัดเต็ม

ซีรีส์เรื่องนี้มันไม่ได้ดูแล้วน่ากลัวอย่างเดียว แต่มันยังให้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับชีวิตที่ตายไปแล้วแต่ไปไหนไม่ได้ จนยึดติดอยู่กับสถานที่ที่ตัวเองตาย มันแสดงให้เห็นถึงความครีเอตของคนเขียนบท ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จนเอามาทำเป็นซีรีส์แล้ว ยังพูดถึงวิญญาณที่ติดอยู่ในบ้าน ซึ่งถ้าไม่ปราบบ้านก็จะขายไม่ได้ อีกทั้งการนำเสนอในแนวซีรีส์ผีก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดีด้วย พอเชื่อมโยงนายหน้าอสังหาริมทรัพย์กับบ้านผีสิงมันจึงเป็นอะไรที่ลงตัวสุด ๆ ชอบวิธีการนำเสนอของเกาหลีจริง ๆ

9. นักแต่งเพลง

ถ้าถามบรรดาพวกที่เป็นติ่งเกาหลีว่าอะไรที่ชักนำให้เข้าสู่วงการติ่ง นอกเหนือจากตามหวีดผู้ชายแล้ว เสียงเพลงน่าจะเป็นอีกคำตอบ เอาเข้าจริงหลายคนที่ไม่เคยติ่งมาก่อนหลงเข้ามาในวงการติ่งได้เพราะได้ยินเพลงที่ตัวเองก็แปลไม่ออกเหมือนกันว่าเขากำลังสื่อความหมายอะไรในเพลง ร้องตามก็ไม่ได้เพราะเป็นภาษาเกาหลี แต่กลับชอบในทำนอง ชอบในเสียงร้องของนักร้อง พอชอบแล้วก็ไปหาว่าที่ได้ยินมาน่ะมันคือเพลงอะไร ใครเป็นคนร้อง แบบที่เรามักจะเห็นกระทู้พันทิปหรือคอมเมนต์ในกลุ่มแฟนคลับ ว่าเพลงที่ร้องว่า… (พยายามถอดให้เป็นคำไทย) มันคือเพลงอะไร

พอรู้ชื่อเพลงแล้วเอาไปค้นหาต่อ จนเจอว่าใครเป็นคนร้อง นั่นแหละถึงเริ่มติดตามศิลปินและกลายเป็นติ่งโดยสมบูรณ์ ฉะนั้น การที่จะแต่งเพลงให้ถูกจริตคนฟัง แบบที่แค่ฟังท่อนเดียวก็ประทับใจจนต้องไปตามหาชื่อเพลง (ทั้งที่ฟังภาษาเกาหลีก็ไม่ออก) คนแต่งเพลงต้องมีความสามารถสูงมาก และต้องอินตามไปกับเนื้อเพลงที่ตัวเองแต่งจริง ๆ ไม่เช่นนั้นคนฟังก็จะจับได้เหมือนกันหากมันฟังแล้วความรู้สึกในเพลงดูปลอมอะไรประมาณนั้น โดยซีรีส์ที่นำเสนอชีวิตสุดรันทดของนักแต่งเพลงที่ดันไม่มีประสบการณ์แบบในเพลงที่ตัวเองแต่คือเรื่อง Soundtrack #1

10. ดารา/ไอดอล

อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้นั้นใหญ่มากจนถึงขั้นที่พวกเขาผลักดันให้กลายเป็น soft power และใช้ซีรีส์เป็นช่องทางในการส่งออกวัฒนธรรมที่น่าสนใจของประเทศเขา พวกซีรีส์ที่นำเสนอถึงอาชีพดารา/ไอดอลจึงมีหลายเรื่องมาก แทบจะไม่เคยขาดช่วงไปจากหน้าจอ แต่ละล็อตที่ซีรีส์ออนแอร์จะต้องมีเรื่องที่ตัวละครเป็นดารา/ไอดอลอยู่อย่างน้อย ๆ 1 เรื่อง และซีรีส์เหล่านี้ก็นำเสนอเบื้องหลังการทำงานของคนเหล่านี้แบบจัดเต็ม ที่ดาราอิจฉาริษยากันมันก็มีอยู่บ้าง แต่กลวิธีที่เขานำเสนอมันแทบจะไม่ปรากฏฉากกลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายกันแบบตัวร้ายขี้อิจฉาเลย

การทำงานในวงการบันเทิงมันไม่ง่าย ส่วนใหญ่เราจะเห็นตัวละครที่ไม่ถูกกันเอาชนะกันด้วยความสามารถมากกว่า ซีรีส์ที่นำเสนอชีวิตที่ไม่ง่ายของเหล่าซุปตาร์ของเกาหลีใต้ก็อย่างเช่น Sh**ting Stars ที่พระเอกเป็นนักแสดงดัง Imitation พระเอกนางเอกเป็นไอดอลที่แอบคบกัน Record of Youth เส้นทางของพระเอกก่อนที่จะได้เป็นนักแสดงที่บอกได้เลยว่าลุ้นหืดแทบขึ้นคอ Let Me Be Your Knight ก็เป็นอีกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของไอดอลและปมในใจที่ทำให้พระเอกป่วยเป็นโรคเดินละเมอ แต่ละเรื่องคือเน้นนำเสนอชีวิตกว่าจะเป็นคนดังมากกว่าจะอิจฉากัน

11. ผู้จัดการดารา

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมบันเทิงใหญ่มาก มันก็อาจจะไม่ค่อยแปลกเท่าไรที่ซีรีส์ที่นำเสนอออกมาจะให้ตัวละครมีอาชีพเป็นดารา/ไอดอล แต่ที่น่าสนใจคือการนำเสนอที่ลึกไปจนถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังดารา/ไอดอล แม้กระทั่งผู้จัดการส่วนตัวของเหล่าคนดัง โดยที่ตัวละครเหล่านี้ไม่ใช่ตัวประกอบที่โผล่มายื่นบทละครให้พระเอกนางเอก ตั้งโต๊ะเมาท์มอยดาราในข่าว หรือเช็กเสื้อผ้าหน้าผมของคนดังแล้วถอยออกจากจอ แต่กลับมีความสำคัญเป็นตัวละครหลักที่เดินเรื่องในหลาย ๆ ฉากเลยด้วยซ้ำไป

อย่างซีรีส์เรื่อง Sh**ting Stars ก็เผยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของคนที่มีหน้าที่สนับสนุนบรรดาซุปตาร์ให้เฉิดฉาย แบบที่ยกมาเป็นบริษัทเอเจนซีที่เป็นต้นสังกัดที่มีหน้าที่ต้องดูแลบรรดานักแสดง ทั้งผู้จัดการดารา ทีมงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกฎหมาย คนกลุ่มนี้คือคนเบื้องหลังทั้งหมดที่เราแทบจะไม่ได้เห็นการนำเสนอการทำงานของคนกลุ่มนี้ในละครไทย จะมีก็แต่กลั่นแกล้งกันไปมาเพื่อให้นักแสดงในสังกัดตนเองได้งาน หรือทะเลาะตบตีเบะปากมองแรงใส่กันเป็นส่วนใหญ่

12. นักกีฬา

ต้องบอกก่อนว่าซีรีส์ที่เน้นนำเสนอเกี่ยวกับอาชีพกีฬาของเกาหลีใต้นั้นแต่ละเรื่องค่อนข้างโหดพอสมควร เพราะเขาไม่ได้นำเสนอแค่ว่าพระเอกนางเอกหรือตัวละครเป็นนักกีฬาเท่านั้น แบบที่แทบจะไม่เคยเห็นฉากที่ตัวละครเล่นกีฬาชนิดนั้น ๆ เลยนอกจากเดินเข้าเดินออกสนาม จีบกัน งอนกัน มีจุดขัดแย้งเกี่ยวกับอาชีพนักกีฬานิดหน่อยแล้วก็จบบริบูรณ์ เขานำเสนอกันจริงจัง มีฉากซ้อมกีฬาสุดดุเดือด ฉากแข่งขันที่เล่นเอาคนดูลุ้นตามเหมือนดูถ่ายทอดสดกีฬาจริง ๆ เอาชื่อตัวละครไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ ไปแข่งโอลิมปิก แบบชนะได้เหรียญทองกลับมาเลยด้วยซ้ำ

ตัวอย่างซีรีส์ที่นำเสนออาชีพนักกีฬาที่เพิ่งจบไปได้ไม่นาน Twenty-Five, Twenty-One นางเอกซึ่งรับบทโดยคิมแทรี สวมวิญญาณเป็นนักกีฬาฟันดาบทีมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเรื่อง Going to You at a Speed of 493km ทั้งพระเอกนางเอกเป็นนักกีฬาแบดมินตัน แชจงฮยอบกลายเป็นนักแสดงที่มักจะได้บทเป็นนักกีฬาในซีรีส์เกือบทุกเรื่อง ส่วนพัคจูฮยอนก็มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีกเมื่อจับไม้แบดหวดลูกขนไก่ แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นนักแสดงไม่ได้เป็นนักกีฬาจริง ๆ ฉากแข่งกันแบบโหด ๆ ส่วนใหญ่ก็ตัดต่อเอา แต่ดูแล้วมันรู้สึกฮึกเหิมเหมือนดูกีฬาจริง ๆ

13. อัยการทหาร

ถ้าพูดถึงทหารกับอัยการ มันจะไม่ค่อยว้าวเท่าไรหรอก เพราะเป็นอาชีพที่เห็นได้บ่อยไปในละครไทย อย่างอัยการแม้ว่าจะเจอน้อยกว่าทนายความและผู้พิพากษา แต่ก็ยังพอเห็นในละครที่เกี่ยวกับนักกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งพอทหารกับอัยการมารวมกันเป็นอัยการทหารแล้ว มันจึงค่อนข้างแปลกนิดหน่อยสำหรับคนไทย เอาเข้าจริงอัยการทหารก็ไม่ต่างอะไรกับอัยการและทหารทั่วไป เพราะก็แค่เป็นคนที่เป็นทั้งทหารและอัยการแค่นั้นเอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นอาชีพที่ปรากฏตัวอยู่ในศาลทหาร หรือศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับทหารนั่นเอง

สำหรับซีรีส์เกาหลี อัยการทหารปรากฏในซีรีส์เรื่อง Military Prosecutor Doberman โดยเป็นอาชีพของทั้งพระเอกและนางเอก อันโบฮยอนและโจโบอา บอกเลยว่าเครื่องแบบทหาร (ของเกาหลีใต้) นั้นเท่ไม่เบา พอผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างโจโบอาสวมเครื่องแบบพร้อมกับตัดผมสั้นแล้วกลายเป็นผู้หญิงที่มีความหลัวสูงมาก ส่วนอันโบฮยอนหลังจากที่ขยับขึ้นมาเป็นพระเอกและได้สวมเครื่องแบบอีกครั้งก็ทั้งหล่อทั้งเท่มาก ๆ (เคยสวมเครื่องแบบทหารจากเรื่อง Descendants of the Sun กับบทพิคโคโล สมาชิกทีมอัลฟ่า ลูกน้องกัปตันยูชีจิน)

14. นักวิเคราะห์พฤติกรรม

เป็นอาชีพที่ถูกกล่าวถึงในสารคดีซีรีส์เรื่อง The Raincoat Killer เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในเกาหลีใต้ ชื่อของ ยูยองชอล กลายเป็นฆาตกรที่เหี้ยมโหดมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เกาหลี จากนั้นก็มีซีรีส์อีกหลายเรื่องที่นำเอาเหตุการณ์นี้ไปสร้างเป็นบันเทิงคดีที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง และถูกนำเสนอในซีรีส์เรื่อง Through the Dark่ness ด้วย นักวิเคราะห์พฤติกรรมถือเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจสำหรับประเทศที่เหตุอาชญากรรมถี่ยิบอย่างบ้านเรา แต่ดีกว่าหน่อยตรงที่คดีฆาตกรรมต่อเนื่องไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย

แต่ถึงอย่างนั้นอาชีพนักวิเคราะห์พฤติกรรมหรือ Profiler นั้นยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ สำหรับคนไทย การศึกษาทางด้านอาชญาวิทยาไม่เป็นที่รู้จัก มีสถาบันการศึกษาไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรนี้ และส่วนมากจะเป็นระดับปริญญาโท ขนาดด้านจิตวิทยาก็ไม่ค่อยแพร่หลาย คนยังเข้าใจว่าไปหาจิตแพทย์แปลว่าต้องเป็นคนบ้าอยู่เลย ดังนั้น เด็กที่คิดจะเรียนด้านนี้คงต้องเหนื่อยคิดคำตอบตอบพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่อีกว่ามันคืออะไร เรียนไปได้อะไร จบมาทำมาหากินอะไร

15. นักพัฒนา

ด้วยความที่เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เขาจะขายความทันสมัยของประเทศเขาลงในซีรีส์ ที่น่าสนใจก็คือ คนที่เป็นนักพัฒนาในซีรีส์เรื่อง Please Don’t Date Him คือนางเอก! ใช่แล้ว ผู้หญิงเป็นนักพัฒนา แถมความสามารถไม่ธรรมดาไก่กา มีตำแหน่งเป็นถึงมันสมองของแผนกวิจัยและพัฒนาของบริษัทเทคโนโลยี ผลงานชิ้นโบแดงคือตู้เย็นที่ประมวลผลด้วย AI นาเขียนโค้ดได้ ซ่อมเครื่องเป็น แม้แต่เชื่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ นางก็ทำ

เอาเข้าจริงมันก็อาจจะไม่ได้แปลกอะไรที่ผู้หญิงจะเป็นนักพัฒนาหากมองตามกรอบสังคมบ้านเรา เพราะสังคมบ้านเราให้โอกาสกับเพศหญิงได้แสดงออกซึ่งความสามารถในการหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพลักษณะนี้มานานแล้ว แต่หากเป็นสังคมเกาหลีใต้ มันก็อาจจะว้าวอยู่นิดหน่อย เพราะสังคมเกาหลีใต้ยังไม่ได้เปิดกว้างให้กับเพศหญิงเท่าไรนัก ถึงอย่างนั้น รวม ๆ แล้วก็ถือว่าว้าวอยู่นะที่ผู้หญิงมีอาชีพเป็นนักพัฒนา แถมยังเก่งรอบด้านขนาดนั้น