เรือน้อย น่าลอยลำ (ตอนแรก)

เมืองไทยเราได้ชื่อว่าเป็น “เมืองน้ำ”

เพราะภูมิประเทศของบ้านเราเป็นเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ทุกภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่เหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งนอกจากแม่น้ำแล้ว ยังมีลำธาร ลำห้วย ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบอีกมากมาย ยังไม่นับชายทะเลที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำ “เรือน้อย” ไป “ลอยลำ”

การที่เมืองไทยเราได้ชื่อว่าเป็น “เมืองน้ำ” นั้น แน่นอนว่า “เรือ” เป็นพาหนะหลักของคนไทยมาแต่โบราณ ทุกบ้านจะมี “เรือ” ในรูปแบบต่างๆ อย่างน้อย 1 ลำ ตามฐานะของแต่ละครอบครัว อย่างน้อยก็เพื่อใช้สัญจรไปมาหาสู่ และเป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ กระทั่งถึงการค้าการขายแดนไกล

“เรือ” สำหรับคนไทย จึงมีความหมายที่ผูกโยงถึง “การดำรงชีพ” มากกว่าเป็น “การกีฬา” เหมือนประเทศตะวันตก

อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ ไทยเรามีการใช้ “เรือ” ในสัดส่วนของ “การกีฬา” มากกว่าเป็น “การดำรงชีพ”

อันนำมาสู่ ข้อเขียนใน Sport Gadgets ของ “ต้นคิด 360” อย่างน้อยสองถึงสามตอนที่ผมจะขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “เรือ” กันครับ

สัปดาห์นี้ขอประเดิมกันที่ หลักการพื้นฐานของการ “เล่นเรือ” กันก่อน ที่ในครั้งต่อๆ ไปจะขอแนะนำ Sport Gadgets ที่เกี่ยวกับ “เรือ” แบบลงลึก

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่า เมืองไทยเราได้ชื่อว่าเป็น “เมืองน้ำ” ดังนั้น เชื่อเหลือเกินว่า “การพายเรือ” คงจะอยู่ใน DNA ของคนไทย และถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังกันอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

เพราะในอดีต “การสัญจรทางน้ำ” มีความสำคัญในยุคที่เรายังไม่มีการใช้พลังงานฟอสซิลในการขับเคลื่อนพาหนะประเภทต่างๆ และพาหนะก็มีให้เลือกน้อยมากครับ

“เรือ” จึงเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของคนยุคโบราณนั่นเอง

ในที่นี้ ผมขออนุญาตกล่าวถึง “เรือใบ” กันก่อนครับ

“เรือใบ” ถือได้ว่า เป็น “นวัตกรรม” แรกของ “การสัญจรทางน้ำ” เอาเลยทีเดียว

และมวลมนุษยชาติในยุคโบราณ ล้วนถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับ “เรือใบ” ให้แก่กัน จากรุ่นสู่รุ่น

ว่าการจะเข้าใจ “การเคลื่อนที่ของเรือใบ” ได้นั้น มนุษย์เราจำเป็นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของลม ฟ้า อากาศ กระทั่งอาจพูดได้ว่า ต้องมีความเข้าใจในหลักการทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น เกี่ยวกับแรงและทิศทาง การถ่วงน้ำหนักและความสมดุล

ทั้งนี้ก็เป็นไปในการบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของ “เรือใบ” อีกทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของ “ความเร็ว” อีกด้วย

ดังนั้น “การออกแบบเรือใบ” จึงต้องอาศัยวิทยาการความรู้มากมายหลายสาขา อาทิ น้ำหนัก ความเบา ความทนทานของวัสดุ อีกทั้งหลักการออกแบบเพื่อให้เกิดการลดแรงต้านของน้ำ

หากจะกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญในการเคลื่อนที่ของ “เรือใบ” แล้ว หลักการพื้นฐานมีอยู่ว่า ต้องรู้จักสังเกตทิศทางของลม เพื่อปรับมุมของใบเรือ ทิศทางของหางเสือ เพื่อให้สมดุลกับความเร็วของลม

กล่าวคือ เมื่อมีกระแสลมทางหนึ่งนำพาทำให้ใบเรือนูนออกเป็นส่วนโค้ง กระแสลมที่วิ่งผ่านส่วนโค้งด้านนอกจะมีความเร็วมากกว่ากระแสลมด้านใน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Bernouli Effect หรือ “เมื่ออากาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ความดันจะลดลง ทำให้มีความดันน้อยกว่าอีกด้านหนึ่ง เกิดเป็นแรงผลักไปตามทิศทางของด้านที่โค้ง”

อย่างไรก็ดี ครีบกลางลำเรือหรือคัดแคงที่อยู่ในน้ำช่วยจะต้านแรงดังกล่าวเอาไว้ ทำให้ทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือสามารถเปลี่ยนทิศทางไปทำให้เรือเคลื่อนที่ไปด้านหน้าได้

เหตุดังนั้น การปรับมุมของใบเรือเพื่อให้สัมพันธ์กับทิศทางของกระแสลมที่เหมาะสม จะช่วยใช้เรือสามารถแล่นทั้งตามกระแสลมและทวนกระแสลม

ในครั้งหน้า ผมจะประเดิมการแนะนำ Sport Gadgets เกี่ยวกับ “เรือ” โดยเราจะมาเริ่มต้นกันที่ Wind Paddle Cruiser Canoe Sail กันนะครับ