ยังจำกันได้หรือไม่ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีกระแสไวรัลของไอศกรีมแท่งที่มีลวดลายเป็นลาย “กระเบื้องวัดอรุณฯ” ปรากฏเป็นไวรัลกระจายเต็มโซเชียลมีเดีย หลังจากที่มีลูกค้าท่านหนึ่งมาโพสต์รีวิวสั้น ๆ ว่า “รสชาติน่ารัก” พร้อมกับภาพถ่ายของไอศกรีมแท่งสีส้มและสีม่วงที่มีลวดลายเป็นลายไทยงดงาม โดยมีฉากหลังเป็นพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จากจุดเริ่มต้นของรีวิว “รสชาติน่ารัก” ในวันนั้น นำมาสู่ไวรัลที่สร้างปรากฎการณ์ให้คนมากมายแห่กันไปที่วัดอรุณฯ เพื่อลองลิ้มรสและร่วมเทรนด์รีวิวไอศกรีม 3 มิติลายกระเบื้องวัดอรุณฯ พิสูจน์ว่า “รสชาติน่ารัก” เนี่ย มันเป็นยังไง
ความไวรัลไอศกรีม 3 มิติลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ยังไม่ทันหาย ความไอศกรีม 3 มิติลวดลายใหม่ก็เข้ามาแทรก ด้วยการต่อยอดความสำเร็จเป็นไอศกรีมอีก 2 ลวดลาย 2 รสชาติ ที่ไปปักหมุดสร้างสีสันให้กับ “เยาวราช” แลนด์มาร์กการท่องเที่ยวชื่อดังของไทย จากไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ที่ยังมีขายเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ “มังกรเขียว เหนี่ยวทรัพย์” และ “สิงโต นำโชค” ที่ยังคงคอนเซปต์การออกแบบที่สื่อถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้อย่างชัดเจนเช่นเดิม ชนิดที่ว่า เข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นและคำแรกที่กัด จนทำให้ไอศกรีม 3 มิติ กลายเป็นไอเทมที่ใคร ๆ ก็ต้องไปตามหามาถ่ายรูปสวย ๆ ไม่ว่าจะที่วัดอรุณฯ หรือที่เยาวราชก็ตาม
คนต้นคิด จึงไม่พลาดที่จะตามกระแส ด้วยความอยากรู้ว่าเจ้าของแบรนด์เขามีไอเดียหรือคอนเซปต์อะไร จึงได้เลือกนำเสนอ “ตัวตน” ของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วยไอศกรีมแท่งที่ออกแบบลวดลายให้นูนเป็น 3 มิติ พูดคุยกับ “คุณน้ำตาล ศิริญญา หาญเผชิญโชค” เจ้าของแบรนด์ Pop Icon ไอติม 3 มิติ ถึงจุดเริ่มต้นในการคิดสร้างมูลค่าให้กับไอศกรีมแท่งธรรมดา ๆ รวมถึงการใช้ไอศกรีมเป็นสื่อกลางในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเห็นของดีเมืองไทยตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งก็เท่ากับช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว
จุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ “Pop Icon ไอติม 3 มิติ”
ไม่รู้ว่าคำว่า passion มันเชยไปหรือยังนะคะ คือมันเริ่มมาจาก passion ส่วนตัวของตาลที่ชอบกินไอศกรีมค่ะ บวกกับการที่เราชอบศิลปวัฒนธรรมไทยจริง ๆ แล้วก็อยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย เพราะเห็นว่าการท่องเที่ยวไทยยังมีความคลาสสิกอยู่ แต่ตาลแค่อยากจะให้มันมีสีสันขึ้นมาหน่อย มีมุมมองใหม่ ๆ ตาลก็เลยเอาทุกอย่างมารวมกันจนออกมาเป็นไอศกรีมตัวนี้ค่ะ ซึ่งตาลใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการทำ R&D (Research and Development) ทำดีไซน์แล้วก็พัฒนาผลิตภัณฑ์
ส่วนเรื่องของชื่อแบรนด์ Pop Icon เป็นครั้งแรกเลยนะคะที่มีคนถามตาลว่ามันมามีที่มาจากอะไร คือชื่อนี้แยกเป็น 2 คำค่ะ คือ Pop ที่มาจาก Ice Pop และ Popsicle ที่แปลว่าไอศกรีมแท่งค่ะ นอกจากนี้ ตาลยังอยากจะสื่อถึงความเป็น Pop Culture ที่เข้าถึงคนด้วย ส่วน Icon ก็ตามความหมายเลยค่ะ เป็นสัญลักษณ์ และที่สำคัญนะคะ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ตาลจะนำเสนอค่ะ คือ Pop ในภาษาอังกฤษ มันถอดเสียงออกมาแล้วพ้องเสียงกับคำว่า “พบ” ค่ะ พอมารวมกับ Icon ตาลเลยอยากสื่อถึง “การพบไอคอน” นั่นเอง เพราะไอศกรีมของตาลมันมี Icon ต่าง ๆ เป็นตัวแทนของสถานที่นั้น ๆ ด้วยไงคะ!
ทำไมถึงจะต้องเป็น “ไอติม 3 มิติ”
ย้อนไปเริ่มที่จุดที่ตาลชอบกินไอศกรีมค่ะ แต่เรารู้สึกว่าตอนนี้ไอศกรีมในท้องตลาดในไทยส่วนใหญ่มันก็มีแค่ไอศกรีมแบบที่ขายในร้านสะดวกซื้อ แล้วก็มีไอศกรีมแบบตักเป็นลูก ๆ ที่มีความเป็นเจลาโต้ มันไม่มีไอศกรีมไหนที่จะมาช่วยสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเลย ในขณะเดียวกัน ไอศกรีมเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเด็กหรือว่าคนมีอายุ ทุกคนกินไอศกรีมอยู่แล้ว บวกกับอากาศในเมืองไทยมันร้อน ด้วยภาพตรงนี้ทำให้ตาลคิดว่าตัวไอศกรีมยังไงก็น่าจะขายได้ แล้วทั้งความชอบและช่องทางมันก็แมตช์กันพอดี
ทำไมต้องเป็นไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณ และลายสิงโต&ลายมังกร
ตาลอยากนำเสนอคนละแนวคิดกันค่ะ ที่ขายทั้ง 2 ที่ก็จะต่างกัน อย่างที่วัดอรุณฯ เนี่ยมันมีความเป็นไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมไทย และเป็นสมบัติของชาติ ตาลก็เลยอยากจะออกแบบให้มีความเป็นไทยเพื่อสะท้อนความไทยค่ะ แต่ถ้าถามว่าทำไมมันถึงต้องเป็นลายกระเบื้องด้วยล่ะ คือเวลาที่คนไปเที่ยวเนี่ย สถาปัตยกรรมของวัดอรุณฯ มันโดดเด่นมากเลยค่ะ แล้วตัวพระปรางค์วัดอรุณฯ ใครไปก็ต้องถ่ายรูปคู่กับพระปรางค์ ไม่งั้นเหมือนมาไม่ถึง แต่อุตส่าห์ลงเรือมาเที่ยวทั้งที ถ่ายรูปกับพระปรางค์เสร็จแล้วก็จบเลยเหรอ มันง่ายไปค่ะ
ที่สำคัญ ตาลคิดว่าอีกหนึ่ง DNA ของความเป็นวัดอรุณฯ ก็คือลายกระเบื้องที่ประกอบขึ้นมารอบ ๆ ตัวพระปรางค์ค่ะ เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนใคร เป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งที่ใครหลายคนนึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป ก็เลยอยากจะหยิบกระเบื้องตรงนั้นขึ้นมาถ่ายทอดว่ามันเป็นยังไง เพิ่มมุมมองใหม่เข้าไป คนก็จะได้รู้สึกว่าอยากจะใช้เวลาเข้าไปศึกษาหรือเข้าไปใกล้ชิดพระปรางค์มากขึ้น เข้าไปดูว่าประติมากรรมของไทยเป็นยังไง เข้าไปดูว่าศิลปะไทยเป็นยังไง ซึ่งผลตอบรับก็คือดีเลยค่ะ คือคนไม่ได้ถ่ายรูปเฉย ๆ แล้วก็ไปละ แต่เขาเริ่มเข้าไปดูว่าลายกระเบื้องมันเป็นยังไง ประติมากรรมไทยสวยงามยังไง แล้วก็จะใช้เวลากับสถานที่ท่องเที่ยวนานขึ้น
ซึ่งตาลรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ นะคะ หลังจากที่ถามมาหรือที่เห็นตามโซเชียลมีเดีย คือตอนนี้คนที่ไปเที่ยว เขาไม่ได้ถ่ายรูปแค่พระปรางค์ แต่คนเริ่มเข้าไปศึกษาดูตรงลายกระเบื้องมากขึ้น แล้วเหมือนมีรูปถ่ายกระเบื้องมากขึ้นน่ะค่ะ ตาลเลยตีความว่าอย่างนั้นนะ มีทั้งที่เอาไอศกรีมเราไปถ่ายคู่กับกระเบื้อง แล้วก็ภาพเดี่ยว ๆ ของลายกระเบื้องที่มันปรากฏอยู่บนไอศกรีมด้วยค่ะ
กับอีกร้านที่ซอยแปลงนามใช่ไหมคะ เนื่องจากประเทศไทยเหมือนเป็น “หม้อหลอมเหลวทางวัฒนธรรม” ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก อันนี้ก็เป็นจุดเด่นของประเทศไทยเหมือนกัน ยิ่งไทย-จีนเนี่ยยิ่งชัดเจน บวกกับการที่เยาวราชนับเป็นแลนด์มาร์กสำคัญอีกแห่งของเมืองไทย ตาลก็เลยอยากจะนำเสนอความเป็นไทย-จีนให้ลงมาเป็นลวดลายของไอศกรีมค่ะ
เริ่มจากตัวน้องสิงโตนำโชค ตาลจะเล่นในเรื่องของการเฉลิมฉลองตรุษจีนค่ะ ที่มีการเชิดสิงโต มีป้ายอวยพร มีประทัด แล้วข้างหลังของสิงโตก็เป็นแลนด์มาร์กอย่างเยาวราชที่ติดอันดับโลกของประเทศไทย ส่วนรสชาติก็เป็นรสส้มทับทิม ซึ่งเป็นรสชาติที่เราสามารถเห็นกันได้บ่อย ๆ ในเยาวราช คือเราเดินไปในเยาวราชเนี่ยก็จะเจอรถเข็นขายน้ำส้ม น้ำทับทิมใช่ไหมคะ เป็นซิกเนอเจอร์ของเยาวราชเลย ตาลก็เลยเอาตรงนั้นมาแปลงให้เป็นตัวไอศกรีม เอาส้มกับทับทิมมารวมกันให้เป็นไอศกรีม มันก็ได้ออกมาเป็นรสที่สดชื่น กินแล้วดับร้อน แบบว่าเยาวราชนี่เป็นสวรรค์ของนักชิมน่ะค่ะ นักชิมก็ไปชิมของเผ็ด ๆ ร้อน ๆ แบบพวกอาหารจีน จากนั้นก็มากินไอศกรีมของเราดับเผ็นดับร้อนได้ค่ะ
ส่วนน้องมังกรเขียวเหนี่ยวทรัพย์นี่ก็ชัดเจนอยู่แล้วค่ะ เยาวราช อีกชื่อก็คือถนนสายมังกร และมังกรเป็นสัตว์เทพศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมจีน มังกรก็เลยเป็นสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอเลย แล้วอีกอย่างก็คือมังกรซ่อนตัวอยู่ในเยาวราชเยอะมาก บนป้ายร้านทอง บนผนังที่ศาลเจ้า แล้วรอบ ๆ มังกรก็มีสิ่งมงคล มีลูกแก้วนำโชค มีดอกเหมยที่มีความเชื่อเรื่องมีโชค อายุยืน มีเงิน-ทอง ก็คือกินเข้าไปแล้วก็จะได้มีความเฮง ๆ ก็คือนำเสนอความเชื่อเรื่องความโชคดีเฮง ๆ เป็นความมูแบบไทย-จีน อะไรแบบนี้ค่ะ
ไอศกรีม 3 มิติ อยากบอกเล่าเรื่องราวอะไรผ่านไอศกรีม
เพราะตาลคิดว่าไอศกรีมมันเป็นตัวกลางที่ดีที่จะใช้สื่อสารค่ะ ให้คนที่เข้ามาซื้อต้องดูที่ตัวไอศกรีม สิ่งที่ตาลคิดไว้ตั้งแต่แรกก็คือ ต้องเข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นและคำแรกที่กัด พอคนเห็นว่าไอศกรีมมันน่าสนใจ แล้วเข้ามาซื้อ เขาก็จะเริ่มคิดแล้วว่าอันนี้มันคืออะไรล่ะ อันนี้มันคือกระเบื้องนะกระเบื้องวัดอรุณฯ คนก็รู้สึกสนใจและอยากจะไปศึกษาใกล้ชิดมันยิ่งขึ้น คนก็จะได้รู้ผ่านเรื่องราวที่ตาลอยากจะเล่าด้วยว่าสีฟ้านี่มาจากลายครามนะ เพราะกระเบื้องที่อยู่รอบ ๆ วัดอรุณฯ นี่มีหลากหลายแบบ บนไอศกรีมมี 4 แบบ มันก็จะอยู่บนพระปรางค์ในมุมที่แตกต่างกัน คนก็จะเริ่มไปเดินหาว่าลายอันนี้อยู่ตรงไหน ดอกนี้คืออะไร แบบนี้ค่ะ
การที่เราได้เล่าเรื่องราวเข้าไปในตัวไอศกรีม แล้วคนก็สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าอันนี้มันคืออะไร มันทำให้คนสนใจมากขึ้นค่ะ จากนั้นก็กระตุ้นการท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งคนไทยแล้วก็คนต่างชาติด้วย ก็แสดงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของสถานที่นั้น ๆ ออกมา มันก็ทำให้เรารู้สึกอินกับบรรยากาศได้มากขึ้น เที่ยวสนุกขึ้น มีคอนเทนต์ให้ทำ
อย่างคอนเทนต์ที่เป็นไวรัลน่ะค่ะ ตาลเพิ่งเริ่มวางขายเดือนพฤษภาคม ตอนที่เป็นไวรัลก็หลังจากเริ่มขายประมาณเดือนเดียว ตอนแรกที่ขายก็มีคนรีวิวบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ตาลคิดว่าคอนเทนต์ของคนรีวิวก็สำคัญ อันนี้มันเป็นรีวิวแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ เห็นภาพ แล้วก็เรียกความสนใจของคนให้สงสัยว่ารสชาติน่ารักมันเป็นยังไง แล้วเราก็เห็นเขาถ่ายตัวไอศกรีมกระเบื้องแล้วมีพื้นหลังเป็นพระปรางค์วัดอรุณ ซึ่งคนก็เห็นแบบประจักษ์แล้วว่าไอศกรีมสวยนะ แต่ว่ารสชาติน่ารักนี่มันเป็นยังไง
เมื่อลวดลายไอศกรีมสัมพันธ์กับสถานที่
ตาลปักหมุดสถานที่ก่อนอยู่แล้วค่ะว่าเรามีหมุดหมายตรงนี้ แล้วเราจะแสดงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของพื้นที่ตรงนี้ออกมาผ่านตัวไอศกรีมด้วยลวดลายและรสชาติอะไร อย่างวัดอรุณฯ เนี่ย ตาลก็คิดก่อนเลยว่าอยากไปวัดอรุณฯ เพราะตาลชอบวัดอรุณฯ มาก แล้วก็รู้สึกว่าเป็นที่ที่เหมาะสม ก็ไปศึกษาเป็นทริป 30-40 รอบ ว่าจะทำยังไงให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย เหมาะกับบริบทของการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือจะให้ไปทำรูปพระพุทธรูปก็คงไม่ได้จริงไหมคะ แต่ไม่งั้นป่านนี้ตาลอาจจะดังไปแล้วก็ได้ค่ะ (หัวเราะ)
คือเราก็ต้องอยู่ในกรอบของบริบททางสังคมนิดนึง ต้องสร้างสรรค์ให้มันเหมาะกับทุกคน เพื่อให้ทุกคนสบายใจ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ก็ดีแล้วนะคะที่ทุกคนมีความคิดเห็น เราก็ต้องควบคุม ต้องระมัดระวังเพื่อให้มันมีความเหมาะสม แต่จริง ๆ ตาลก็แอบคิดเหมือนกันนะคะว่าถ้าทำแบบนั้นป่านนี้ตาลคงจะดังไปแล้ว ก็อาจจะดังแบบทัวร์ ๆ หน่อย (หัวเราะ)
รสชาติไอศกรีมทั้ง 4 รสชาติ ได้แต่ใดมา
เรื่องรสชาติ ตาลต้องการให้มันสื่อสารถึงสถานที่นั้น ๆ เลยค่ะ อย่างรสส้มทับทิม ก็เริ่มมาจากรถเข็นขายน้ำที่เยาวราชค่ะ มันเป็นสตรีตฟู้ดที่เราเห็นได้ทั่วไป แล้วอีกอย่างสัมกับทับทิม มันก็เป็นผลไม้มงคลที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวจีนด้วย ตาลก็เลยคิดว่ามันเป็นมงคลดีที่ไอศกรีมตาลจะเป็นรสส้มทับทิม
ส่วนรสชาเขียว ก็นำเสนอวัฒนธรรมการกินของจีนเหมือนกัน การเจียะแต๊ หรือก็คือการดื่มชา สมมติว่าเราจะรับแขกเราก็ต้องเอาชามารับแขก เราแต่งงานเราก็ยกน้ำชา เราไหว้เจ้าเราก็เอาชาไปถวายเจ้า ก็คือชามันอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวไทย-จีน ตาลก็เลยคิดว่าชาเขียวมันก็นำเสนอประเพณีการกินของชาวจีน
รสกะทิอัญชันอบควันเทียน กะทิถือเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทยค่ะ อัญชันก็เป็นภูมิปัญญาไทยเรื่องการให้สี ส่วนสีฟ้าก็เป็นสีของเครื่องลายครามที่ตาลอยากจะนำเสนออีกด้วย กระเบื้องลายครามที่อยู่บนพระปรางค์ บวกกับอบควันเทียน ก็เป็นภูมิปัญญาไทยในการทำขนมหวานไทย ที่นำไปอบควันเทียนนี่เป็นซิกเนเจอร์เลย ก็อยากจะแสดงถึงภูมิปัญญาไทยด้วย ก็เลยออกมาเป็นกะทิอัญชันอบควันเทียน แล้วเวลาที่เราเดินเข้าไปในวัดเนี่ย เราจะได้กลิ่นควันเทียนใช่ไหมคะ ตาลก็อยากจะให้ทุกคนเข้าไปแล้วมันมีสิ่งที่ทำให้หวนนึกถึง แล้วก็เข้ากับบรรยากาศของที่นั่น
ส่วนชาไทยเนี่ยก็คือชาไทย เราก็ต้องขึ้นหิ้งไว้อยู่แล้ว เพราะว่าเป็นเครื่องดื่มไทยที่ติดอันดับโลก ชาไทยก็แสดงความเป็นไทยอยู่แล้ว อีกอย่างมันก็แสดงความเป็นกึ่งไทยกึ่งจีนด้วยนะคะ เพราะว่าจริง ๆ ศิลปะวัฒนธรรมของวัดอรุณเนี่ยมันเป็นศิลปะกึ่งไทยกึ่งจีน เอากระเบื้องเครื่องลายครามของจีนมาแปะอยู่บนพระปรางค์ แล้วเวลาเดินอยู่ในวัด เราก็จะเห็นรูปปั้นหินตุ๊กตาอับเฉา ซึ่งมันมีความเป็นไทย-จีน แล้วชาก็เป็นวัฒนธรรมส่งต่อจากจีนมาถึงไทย แล้วไทยก็มาดัดแปลงให้เป็นชาไทยของเราที่มันดังไปทั่วโลก ส่วนสีส้มมันก็เป็นสีของวิธีการเผากระเบื้องที่มีสีส้มอยู่บนตัวพระปรางค์อยู่แล้ว ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ค่ะ
คือตาลก็พยายามคิดให้มันลึกซึ้งค่ะ ไม่อยากคิดแค่ตื้น ๆ แต่ว่ามันก็เข้าใจได้ง่าย พอพูดปั๊บก็แบบเออจริงด้วย เพราะความเป็นไทยมันมีความลุ่มลึก ความน่าหลงใหลของความเป็นไทยอยู่ แต่ว่าตรงนั้นบางทีเราขายด้วยความคลาสสิกเกินไป อยากจะดึงตรงนั้นออกมาให้มันโมเดิร์นขึ้นอีกนิด แล้วก็ให้น่าค้นหา น่ายอมรับขึ้นมาอีกหน่อยนึงด้วยค่ะ แต่สำหรับตาล แค่คนกินเขามีความสุขตาลก็ดีใจแล้วนะคะ ตอบโจทย์ยิ่งกว่าเข้าใจคอนเซปต์อีก ทำให้คนแฮปปี้แล้วมาท่องเที่ยวเยอะขึ้น เท่านี้โอเคแล้ว แต่ถ้าเขาสามารถย่อยเข้าไปอีกได้ หรือว่าไอศกรีมของตาลมันสามารถทำให้เขาฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ ก็เป็นโบนัสของตาลค่ะ
มีความคิดเห็นอย่างไรที่ว่าทุกวันนี้ “อาหารต้องเป็นมากกว่าอาหาร?”
ตาลเข้าใจนะ ตาลว่าทุกวันนี้อะไรหลายอย่างเราจะต้องมองเลยไปมากกว่า functional ของสิ่งนั้น ๆ อย่างอาหารนี่ ตาลคิดว่ามันควรจะเป็นมากกว่าอาหาร คือเป็นทั้งอาหารตาและอาหารใจ อย่างอาหารเรากินเข้าไปใช่ไหมคะ ตามฟังก์ชันมันก็คืออาหารที่กินเข้าไปเพื่อให้อิ่ม เพื่อให้อร่อย แต่ว่าอาหารตา มันต้องดูสวยงามด้วยนะ เราพึงพอใจกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า แล้วเราสามารถทำอะไรต่อจากนั้นได้ เช่น ลองไปแชร์กับกลุ่มเพื่อนเรา หรือเราทำคอนเทนต์ได้ เราก็รู้ว่าแบบสุขใจค่ะ
อย่างเช่นไอศกรีมของตาล นอกเหนือจากลวดลาย สี และรสชาติที่สื่อถึงสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ไม้ไอศกรีมของตาลมันก็จะมีคำทำนาย คำพูดดี ๆ ให้กำลังใจด้วย มันก็เป็นอาหารใจอย่างหนึ่งที่กินเข้าไปแล้วก็ยังได้คำทำนายดี ๆ อีก มัน feel good ค่ะ แล้วมันก็เป็นการวัดดวงด้วย ตาลก็ตลกดีนะคะตรงที่มีคนบอกว่ามันแม่นด้วย (หัวเราะ) ซึ่งมันก็เป็นมู ๆ นิดนึง เพราะคนก็หยิบไอศกรีมเอง ได้มาแบบสุ่ม ๆ แล้วสิ่งที่ได้มันก็เป็นเพราะเราสุ่มขึ้นมาเอง มันไม่ได้เหมือนกันทุกไม้ ตาลจะมีคำทำนายอยู่ประมาณ 20-30 แบบ
ตั้งใจจะไปทำไอศกรีมที่ไหนอีก แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะมี Pop Icon ไอติม 3 มิติ ทั้ง 77 จังหวัด
ก็คงมีไปอีกแหละค่ะ แต่ไปที่ตรงไหน ตาลอาจจะยังบอกไม่ได้ในตอนนี้ มันมีหลายปัจจัยค่ะ แต่ตาลก็ยังจะไปอีกแน่นอนค่ะ เตรียมพบกับ Pop Icon ตามที่ต่าง ๆ ได้เลย
ส่วนเรื่องไอศกรีมทั่วไทย จริง ๆ แล้วอันนี้อยู่ในแพลนของตาลตั้งแต่ต้นเลยค่ะ ตาลอยากโชว์เคสความเป็นไทยในแต่ละจังหวัดตามเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่แต่ละจังหวัดมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน อย่างที่ประเทศไทยเรามี OTOP ของแต่ละจังหวัด ซึ่งมันเป็นอะไรที่อเมซิงและเวิร์กมากเลยนะคะสำหรับตาล มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่เกิดขึ้นมา ที่เอาของดีของแต่ละจังหวัดมาสร้างมูลค่าต่อยอด เพราะฉะนั้น ถ้ามันมีสิ่งหนึ่งที่ตาลสามารถเอามาต่อยอดและช่วยการท่องเที่ยวไทยได้ ทั้งคนไทยช่วยกันเอง และทั้งต่างชาติสนใจมาซื้อ ตาลก็อยากทำค่ะ ตาลอยากเป็นคนที่ทำตรงนั้น
เพราะว่าสำหรับตาล ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จอย่างเดียวมันไม่ได้เติมเต็มตาล ตาลอยากให้มันมีการช่วยส่วนรวมด้วย ให้เราได้ช่วยส่วนรวมด้วย ช่วยการท่องเที่ยวด้วย มันเป็นเป้าหมายของตาลเหมือนกันนะคะว่าไม่ใช่ส่วนตัวอย่างเดียว แต่จะทำเพื่อส่วนรวมด้วย ถ้าจะทำ Pop Icon 77 แบบ 77 จังหวัด คือแต่ละจังหวัดมีของดีเยอะแยะที่บางทีคนทั่วไปยังเข้าไม่ถึงด้วยซ้ำ บางคนอาจจะไม่รู้ว่าที่นี่มีอย่างนี้ด้วยเหรอ ประมาณนี้ค่ะ ก็ต้องไปศึกษา GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ในแต่ละที่ว่ามีอะไรบ้าง แต่ตาลอยากให้เกิดขึ้นจริง ๆ นะคะ
แล้วถ้าในอนาคตทุกอย่างมันลงตัวมากขึ้น ตาลคงอยากจะสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้นด้วยค่ะ แต่ตอนนี้คนก็จะซื้อกินแบบเอาคอนเทนต์ก่อน หรืออ่านบทความแล้วก็ตามมากิน แบบว่าชอบในความคิดหรือในคอนเทนต์ ชอบข้อมูลที่ตาลอยากจะนำเสนอ แต่ว่าในอนาคตก็อยากจะสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้มากกว่านี้โดยใช้ไอศกรีมเป็นสื่อกลาง แต่จริง ๆ ตาลก็คิดไว้เหมือนกันนะคะว่ามันก็ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้เหมือนกัน แต่สำหรับตาลอาจจะต้องค่อย ๆ โฟกัสไปก่อน ตอนนี้ก็อยากจะโฟกัสที่ไอศกรีมก่อนค่ะ
ชี้เป้า จะไปตามหา Pop Icon ไอติม 3 มิติ ได้ที่ไหนบ้าง
ไปตามหาไอติม 3 มิติได้ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารค่ะ ที่อรุณคาเฟ่ เปิดตั้งแต่ 09.00-16.30 น. แล้วก็ที่ถนนแปลงนาม เยาวราช อยู่บริเวณกลาง ๆ ซอยค่ะ มาจาก MRT สถานีวัดมังกรก็ได้ หรือว่าจะเดินมาจากเยาวราชก็ได้ค่ะ ร้านอยู่ใกล้ ๆ กับวัดมงคลสมาคมค่ะ เปิดตั้งแต่ 13.00-21.00 น. ตาลขอฝาก 2 ที่นี้ก่อนค่ะ อยากให้มาลิ้มลองกันเยอะ ๆ ส่วนที่ที่ 3 บอกเลยว่าอีกไม่นานเกินรอค่ะ ตอนนี้ยังใบ้อะไรไม่ได้มาก แต่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ค่ะ