“สะพานลอยเมืองไทย” กับความปลอดภัยบนท้องถนน

สร้างสะพานลอยเพื่อตอบสนองผู้ใช้รถ

เป้าหมายหลักของการรณรงค์ เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย คืออยากให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ และทางออกแรกที่สามารถทำได้ก็คือ การข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลาย แต่ปัจจุบันความปลอดภัยของคนเดินเท้าลดน้อยลง เนื่องจากปริมาณจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้น บวกกับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎจราจรของผู้ใช้รถ ที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย คนเดินเท้าจึงต้องเสี่ยงข้ามถนน กะระยะความเร็วของรถที่สัญจรไปมาเอาเองว่า จะมีคันไหนใจดีหยุดให้เดินข้ามบ้าง แต่ก็มีน้อยคันนักที่จะหยุด แถมคนเดินเท้ายังต้องหันไปพยักหน้าขอบคุณอีกทั้งที่เป็นทางม้าลาย ด้วยความไม่มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนดังกล่าว จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนคนเดินข้ามถนนอยู่บ่อยครั้ง

เห็นได้จากสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนที่ไทยอยู่อันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นการครองแชมป์ที่ไม่น่ายินดีเอาซะเลย 22,356 คือจำนวนยอดผู้เสียชีวิตของไทยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ในปี 2559 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยมีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีรถชนประมาณ 1 แสนราย และกลายเป็นผู้พิการราว 6 หมื่นคนต่อปี ส่วนทางออกที่สองที่จะทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนมีมากขึ้น นั่นก็คือ การให้คนเดินเท้าไปใช้สะพานลอยข้ามแทน ซึ่งตรงนี้คนไทยส่วนใหญ่จะถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่า สะพานลอยคือเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาจราจร และสาธารณูปโภคเพื่อความปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สินบนท้องถนนของคนเดินเท้า

ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพมหานคร มีสะพานลอยทั้งหมดจำนวน 915 แห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกทม. จำนวน 723 แห่งและกรมทางหลวงจำนวน 192 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสกายวอล์กเชื่อมสถานีบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ อีกจำนวน 9 แห่ง จะเห็นได้ว่าจากการที่มีสะพานลอยเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นจะลดลงไป ด้วยคุณสมบัติที่สะพานลอยมี อาจจะเป็นแค่ความปลอดภัยจอมปลอม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้ใช้รถเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่ได้คิดถึงคนเดินเท้าหรือคนกลุ่มอื่นในสังคม เพราะบ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้พิการนั่งวีลแชร์ แต่ต้องข้ามถนนใต้สะพานลอย หรือคนแก่ต้องเดินขากระเพลก วิ่งหนีตายอยู่แถวใต้สะพานลอย นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า การสร้างสะพานลอยในเมืองไทยอย่างมากมายหลายจุดนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อใคร ?

สะพานลอยในเมืองไทยไม่ได้น่าใช้อย่างที่คิด

1. สะพานลอยสูงลิ่ว ขึ้นบันไดอย่างกับจะไปสวรรค์ การสร้างสะพานลอยในบ้านเรา ไม่คำนึงถึงผู้ใช้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพบางกลุ่ม ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องวิ่งเสี่ยงตายข้ามถนนใต้สะพานลอยเอง แบบไม่มีใครเหลียวแลและทำเหมือนกับว่าพวกเขาไม่มีตัวตน ที่สำคัญผู้ใช้รถยังมีแต่บีบแตรด่าไล่ว่าทำไมไม่ยอมข้ามสะพานลอย

2. ไฟไม่มี ความสว่างน้อยนิด กล้องวงจรปิดเสีย กลายเป็นแหล่งซ่องซุมของโจร มิจฉาชีพ คนเร่ร่อน คนติดยาเสพติด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปสะพานลอย 11 จุดที่อันตรายทั่วกรุงเทพมหานคร จากสถิติการเกิดอาชญากรรม สภาพพื้นที่และการร้องเรียนจากประชาชน ได้แก่ สะพานลอยปากซอยเพชรเกษม 92, สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ถ.วิภาวดีรังสิต, สะพานลอยหน้าศูนย์ฝึกรักษาดินแดน ถ.วิภาวดีรังสิต, สะพานลอยหน้าร้านเจ๊เล้ง ถ.วิภาวดีรังสิต, สะพานลอยหน้าวัดเสมียนนารี ย่านประชาชื่น, สะพานลอยหน้าวัดสารอด เขตราษฎร์บูรณะ, สะพานลอยหน้าวัดยายร่ม ถ.พระราม 2, สะพานลอยปาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 46, สะพานลอยบริเวณตลาดวรรณโนทัย ถ.พระราม 4, สะพานลอยตรงข้ามประตู 2 ทางเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ.งามวงศ์วาน และสะพานหน้าหมู่บ้านกฤษดานคร ถ.บรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน

3. สะพานลอยอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน สะพานผุ ราวพัง สะพานลอยบางแห่งก่อสร้างด้วยเหล็ก และมีอายุการใช้งานนาน ตากแดด ตากฝน ทำให้เกิดการผุพังขึ้นสนิม แต่ไม่ได้รับการดูแล สายไฟตกลงมากองอยู่ตามพื้น จนอาจเกิดอันตรายกับผู้ใช้สะพานลอย น้ำท่วมขัง น้ำรั่ว สกปรก มีแต่ขยะและสิ่งปฏิกูล กลายเป็นทัศนียภาพที่ไม่น่าชม บางแห่งเหม็นกลิ่นสิ่งปฏิกูลที่มีผู้ขับถ่ายไว้

แนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนในไทย

1. ยุบสะพานลอยอื่นที่ไม่จำเป็น เลือกคงไว้แต่สะพานลอยที่สำคัญ และสะพานลอยที่คงไว้ต้องจัดลักษณะทางกายภาพให้ดี ติดไฟเพิ่มความสว่าง ติดกล้องวงจรปิด ทำทางลาดเพื่อรองรับผู้พิการและผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์ หรือจัดให้มีลิฟต์โดยสารสำหรับผู้สูงวัย ส่วนสะพานลอยในจุดที่ไม่สำคัญ ควรจะปรับเป็นทางข้ามบนพื้นถนน

2. ลดปริมาณรถ เป็นไปได้ยากแต่ต้องเร่งทำด่วนที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดหามาตรการในการลดปริมาณรถบนท้องถนน ควรมีการคำนวณความหนาแน่นของรถต่อพื้นที่ของถนน และจำนวนของประชากรให้สอดคล้องกัน แล้วจัดโครงการเพื่อลดปริมาณรถลงและติดตามตัวเลขของรถที่ลดลง เพิ่มภาษีรถคันที่สองหรือผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์มากกว่าหนึ่งคัน รวมทั้งมาตรการในการอนุญาตให้รถเข้าพื้นที่ชุมชนหรือย่านการค้า

3. ลดความเร็วของพาหนะ ทั้งในเขตเมืองและชุมชน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกฎหมายเอาผิดผู้ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรและป้ายกำหนดความเร็ว ควบคู่ไปกับการจับปรับผู้ที่ข้ามถนนไม่ตรงกับทางม้าลาย