เทคโนโลยี AR ตัวช่วย shopping online ก่อนตัดสินใจซื้อ

ในฐานะนักชอปออนไลน์ น่าจะมีหลายคนทีเดียวที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันในทำนองที่ว่า “ลิปสติกสีนี้สวยดี อยากได้นะ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเข้ากับเราไหม” หรือช่วงโปรโมชันในทุก ๆ เดือน ที่แอปฯ ชอปออนไลน์มักมีโค้ดลดราคา บางคนอาจเข้าไปหาน้ำยาเปลี่ยนสีผมราคาดีงาม แต่ก็เกิดลังเลขึ้นมาว่าจะเอาสีนี้ดีไหม เพราะไม่แน่ใจว่าสีที่เลือกมาจะเข้ากับหน้าและสีผิวมากแค่ไหน

ทั้งลิปสติกและน้ำยาเปลี่ยนสีผม ถ้าซื้อมาแล้วเกิดใช้ไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า “สีสวยแต่ไม่เหมาะกับเรา” มันก็แย่ ถ้าเปิดใช้ (ลอง) ไปแล้ว จะขายต่อใครเขาก็ยากหน่อย หรือจะให้ลองเสี่ยงซื้อสีที่ชอบมาอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอสีที่เหมาะมันก็คงไม่ตอบโจทย์ และมันคงจะดีกว่าถ้าเราได้ “ลอง” ก่อนว่ามันเหมาะกับเราแค่ไหน ถ้าไม่เหมาะ จะได้ไม่ซื้อ หรือลองหันไปมองสีอื่น ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าอย่างลิปสติกและน้ำยาเปลี่ยนสีผมเท่านั้นที่เราควรได้ลองเทียบดูว่ามันเข้ากับเราไหมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่ควรต้องได้ลองก่อนเหมือนกัน อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของการซื้อของจากออนไลน์ก็คือ มันไม่สามารถสัมผัสกับสินค้าจริงได้ เลยไม่รู้ว่าจะลองอย่างไรนี่แหละ

ทว่าทุกวันนี้ ปัญหาข้างต้นอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่มาไกลมาก เราจึงหมดปัญหาเลือกซื้อของที่ชอบ สวยถูกใจ แต่เอามาใช้จริงแล้วไม่เหมาะไปเลย เพราะเราสามารถ “ลองความเหมาะสม” ก่อนได้แม้จะชอปผ่านออนไลน์ก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality) หรือ AR

AR เทคโนโลยีสุดเจ๋งที่เปลี่ยนโลกของการชอปปิง

หลายคนน่าจะพอได้รู้จักกับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ “เทคโนโลยีเสมือนจริง” กันมาบ้างอยู่แล้ว หลักการทำงานง่าย ๆ ของ AR คือการผสมผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้วัตถุ (Object) สามารถแสดงผลในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติ ซึ่งจะทำงานผ่านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ร่วมกับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

แค่ AR เป็นเทคโนโลยีก็น่าสนใจและน่าตื่นเต้นอยู่แล้ว แต่เมื่อเรานำมาผนวกรวมเข้าไว้กับความงามและการชอปปิง มันก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ E-commerce หรือการชอปปิงออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากมันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคดิจิทัล ทั้งในเรื่องของความง่าย ที่เราสามารถสั่งซื้อสินค้าจากที่ไหนเวลาไหนก็ได้ เพราะทำผ่านออนไลน์ แค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการเสิร์ชหาสินค้าที่ต้องการ การซื้อขายก็เกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ความสะดวกสบายที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งซื้อขายด้วยตัวเอง แถมยังเปรียบเทียบราคาที่คุ้มค่าได้ง่ายกว่ามาก ๆ ทุกอย่างจบได้ไม่กี่คลิกในเวลาไม่กี่นาที

อย่างไรก็ตาม ทุกคนทราบดีว่าข้อจำกัดในการชอปปิงออนไลน์ก็คือ การที่เราไม่ได้สัมผัสกับสินค้าจริงและไม่สามารถทดลองสินค้าได้ เพราะสินค้าหลาย ๆ อย่างจำเป็นที่จะต้อง “ลอง” ก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น เสื้อผ้า ที่นอกจากเรื่องมาตรฐานของไซซ์ที่แต่ละแบรนด์อาจทำออกมาไม่เท่ากันแล้ว ยังมีเรื่องของ “ความสวย” “ความชอบ” และ “ความเหมาะ” ที่เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลด้วย การที่เราไม่สามารถนำสินค้ามาลองก่อนตัดสินใจซื้อได้ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของนักชอปหลายคน เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าเสื้อลายนี้ใส่ออกมาแล้วเข้ากับเราไหม ไม่รู้ว่าลิปสติกสีสวยนี้ มันจะยังสวยอยู่ไหมถ้ามันอยู่บนริมฝีปากของเราจริง ๆ กระเบื้องลายนี้สวย แต่ถ้าซื้อมาใช้กับห้องเรา เราจะยังชอบมันอยู่ไหม

เมื่อการ “ทดลองสินค้า” ว่ามัน “เหมาะ” กับเราไหม ยัง “สวย” อยู่ไหมเมื่อเราเอามาใช้ และเราจะยัง “ชอบ” ไหมที่ได้ใช้ของสิ่งนี้ ยังคงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักชอป เทคโนโลยี AR จึงเข้ามาช่วยเสริมข้อจำกัดข้อนี้นั่นเอง ช่วยให้การชอปปิงออนไลน์เป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยเราก็ยังได้ “ลอง” แม้ว่าจะเป็นการลองทิพย์ที่เราไม่ได้สัมผัสสินค้าจริง ๆ แต่ก็ยังพอช่วยให้เห็นภาพว่าสิ่งของชิ้นนั้นเป็นอย่างไรเมื่อมาอยู่บนตัวเรา เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เราจะชอบหรือถูกใจสิ่งของอะไรก็ได้ แต่เมื่อซื้อมาใช้จริงแล้วมันเข้ากับเราไหม นั่นเป็นอีกเรื่องไปเลย

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AR ในการชอปปิง

เพราะเทคโนโลยี AR สามารถผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงให้เข้ากับโลกเสมือนได้ ทำให้เรามองเห็นวัตถุคล้ายกับภาพเสมือนจริงได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ และเราก็สามารถตอบสนองกับภาพเสมือนดังกล่าวนั้นได้แบบเรียลไทม์ผ่านทางกล้องที่ติดอยู่กับอุปกรณ์เหล่านั้น ทำให้หลายธุรกิจนำเอาเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ เพื่อให้ลูกค้าได้ “เสมือนว่าลอง” สินค้าต่าง ๆ ว่ามันจะดีไหมหากซื้อมาแล้ว จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ ส่วนลูกค้าอย่างเรา ๆ ก็มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้นจากการ “เสมือนว่าลอง” ถ้าชอบก็ซื้อเลย ถ้าไม่ชอบก็ลองอันอื่น ถ้าอันอื่น ๆ ก็ยังไม่ชอบ ก็จะได้ไม่เสียเงินซื้อ การลองแบบเสมือนจะเรียกว่า Virtual Try-On

สำหรับธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยี AR มาใช้เพื่อให้ลูกค้าได้เสมือนว่าลอง ก็อย่างเช่น ธุรกิจเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก อายแชโดว์ บลัชออน เป็นสินค้าที่ลูกค้าควรต้องได้ลอง “สี” ว่ามันเข้ากับตัวเองไหม ใช้แล้วสวยไหม AR จะช่วยให้ลูกค้าได้ลองเลือกสินค้าสีต่าง ๆ มาแต่งหน้าตัวเองผ่านหน้าจอ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นออกมาดูเนียนเหมือนเราไปลองแต่งหน้าที่ร้านจริง ๆ น้ำยาย้อมสีผม ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อสีไหนดีที่เข้ากับหน้าและสีผิวของตัวเอง ลูกค้าสามารถเลือกผมสีต่าง ๆ มาเล่นผ่านทาง AR ได้ ถูกใจสีไหนก็ค่อยซื้อ หรือจะเป็นเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อ กางเกง กระโปรง รองเท้า ถ้าตัดเรื่องไซซ์ออกไป เราสามารถเลือกมาลองได้ว่าถ้าสวมใส่แล้วจะออกมาเป็นอย่างไร

นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องลองดูก่อนว่ามันเข้ากับเราไหม เหมาะสมกับตัวเราไหมแล้วนั้น ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างทีเดียวที่เราควรได้ลองเพื่อดูว่ามันจะถูกใจเราไหม เช่น วัสดุตกแต่งบ้าน บางคนอยากจะเปลี่ยนวอลเปเปอร์ของห้องหับภายในบ้าน อยากปูกระเบื้องใหม่ ดูไอเดียจากอินเทอร์เน็ตมาแล้วว่าแบบไหนดีแบบไหนสวย แต่ห้องของเรากับห้องในตัวอย่างมันแตกต่างกัน ห้องตัวอย่างที่เราดูเป็นไอเดียมาอาจใช้สีนี้แล้วสวย แต่กับห้องของเราเองมันอาจจะดูมืดเกินไปก็ได้ แล้วก็อาจจะไม่เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม การได้ลองผ่าน AR ก่อน จะเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจได้อย่างดี ไม่ใช่ว่าซื้อมาเพราะสวย แต่เอามาใช้จริงแล้วไม่สวย ก็เสียดายเงิน เสียดายของเปล่า ๆ

นอกจากพวกวัสดุตกแต่งบ้านแล้ว เทคโนโลยี AR ยังมีประโยชน์ในการลองสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านด้วย ก่อนจะตัดสินใจซื้อของเข้าบ้าน ก็สามารถเลือกเอาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้น ๆ มาลองวางตามมุมต่าง ๆ ในห้องดูได้ว่าห้องจะออกมาเป็นแบบไหน โซฟาสีนี้แบบนี้จะเหมาะกับวอลเปเปอร์ของเราไหม วางมุมนี้ดูดีไหม ถ้าไม่เหมาะแล้วสีไหนดีกว่า AR สามารถทำได้ผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟนของเรา เพียงแค่เราเปิดกล้อง แล้วใช้กล้องส่องไปตามมุมที่ต้องการในบ้าน จากนั้นก็กดเลือกเอาเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ มาลองวางดู เราก็จะรู้ได้แล้วว่าถ้าซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้มาใช้แล้ว บ้านของเราจะเป็นแบบไหน

ด้วยประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้ เทคโนโลยี AR จึงเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งฉลาดและมีประโยชน์ต่อการชอปปิงของผู้คนในยุคนี้ที่ชอปกันผ่านทางออนไลน์เสียมากกว่า ซึ่งเราจะเห็นว่าแอปฯ ชอปปิงออนไลน์หลายแอปฯ มีความร่วมมือกับแบรนด์สินค้า และเพิ่มฟังก์ชัน Virtual Try-On ที่ช่วยให้เราสามารถทดลองใช้สินค้าแบบเสมือนได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปเลือกสินค้าด้วยตัวเอง และได้รับสินค้าที่ถูกจริตด้วย