ทำไมเราจึงควรล้างประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ

การใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนในยุคศตวรรตที่ 21 นิยมทำกันเป็นปกตินิสัย อย่างไรก็ตาม การใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุก ๆ ครั้งจะยังคงหลงเหลือร่องรอยทิ้งไว้เสมอ ทั้งรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ซึ่งเป็นร่องรอยของกิจกรรม การกระทำ การมีส่วนร่วม และการสื่อสารดิจิทัลผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ดิจิทัล พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นร่องรอยของพฤติกรรมการใช้งานในงานอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงการเก็บเว็บคุกกี้ (HTTP cookie) หรือก็คือการจัดเก็บข้อมูลขนาดเล็ก ไว้ที่เว็บเบราว์เซอร์ เพื่อให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถจดจำสถานะการใช้งานของเว็บเบราว์เซอร์ที่มีต่อเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้

สิ่งที่ต้องการจะสื่อก็คือ ปัจจุบันแทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้หมด ข้อดีก็คือ มันสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตขึ้นเยอะ ถึงอย่างนั้น มันก็ต้องยอมแลกกับการให้ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองไว้บนโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น หลายครั้งที่เราต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อสมัครแอ็กเคานต์ต่าง ๆ ก่อนถึงจะเข้าใช้งานได้ หรือบางทีเราอาจเผลอลงข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ไว้บนเว็บบอร์ดแต่ไม่สามารถลบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกสิ่งอย่างที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของเรา ที่เราแทบไม่รู้เลยว่าข้อมูลเราจะถูกเก็บเป็นความลับแค่ไหน เว็บนั้น ๆ โดนแฮ็กจนข้อมูลหลุดขึ้นมาจะเป็นยังไง หรือเว็บนั้น ๆ อาจจะจงใจเอาข้อมูลของเราไปขายเพื่อทำการตลาดก็ได้เช่นกัน หรือสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่พวกหน่วยงานต่าง ๆ เก็บไปทำวิจัย ส่วนใหญ่ก็มาจากบันทึกประวัติและกิจกรรมต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น

นั่นหมายความว่าการใช้งานต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เราคิดว่าเรามีทั้งอิสระและความเป็นส่วนตัวที่จะใช้งานมันอย่างไรก็ได้ แท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็นความลับขนาดนั้น หากมีความพยายามที่จะค้นหาร่องรอยเหล่านั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะทุก ๆ กิจกรรมที่เราใช้อินเทอร์เน็ต มันจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่สามารถใช้ตามสืบร่องรอยได้เสมอ ซึ่งถ้าหากว่าเราไม่ได้พยายามจะลบมันทิ้งไปบ้าง มันยิ่งสืบหาได้ง่าย แต่ถ้าเราหมั่นล้างประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราบ่อย ๆ ก็จะทำให้บุคคลอื่นการเข้าถึงประวัติและร่องรอยการใช้อินเทอร์เน็ตของเราได้ยากขึ้น แน่นอนว่าตัวเราก็จะใช้งานได้ไม่ค่อยสะดวกนัก แต่ก็ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัว จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของตนได้มากทีเดียว

ประวัติและบันทึกกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต บ่งบอกตัวตนของเราเกือบทั้งหมด

อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้เราใช้อินเทอร์เน็ตกันในชีวิตประจำวันมากขึ้นในทุก ๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแผนที่ดูเส้นทางขับรถ ดูระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง เปิดยูทูบดูคลิปออกกำลังกาย เสพความบันเทิงต่าง ๆ ไถฟีดโซเชียลมีเดียเพื่อดูว่ามีข่าวสารอะไรน่าสนใจบ้าง เพื่อนคนไหนอัปเดตชีวิตตัวเองยังไง เราก็อัปเดตชีวิตของเราบ้างละกันว่าทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน เปิดกูเกิลเพื่อค้นหานู่นนั่นนี่ที่อยากรู้ ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์ แอปฯ ขายของออนไลน์ จองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมผ่านแอปพลิเคชัน ทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นเลยว่าเรารวบเอาชีวิตของเราย่อลงมาไว้อยู่ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวได้ โดยทุกอย่างทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าใช้งานหรือเข้าถึงบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตนั้น เราจำเป็นต้องเปิดเผย ข้อมูลส่วนตัว หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล บางอย่างเพื่อลงทะเบียน ที่เห็นได้ทั่ว ๆ ไปก็อย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล เพศ อายุ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ ถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ก็อาจจะต้องกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน กรอกที่อยู่ด้วย และถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขาย ก็ต้องกรอกเลขบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้สะดวกในการทำธุรกรรม

โดยเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราลงทะเบียนใช้งาน ก็ล้วนแล้วแต่เก็บข้อมูลส่วนตัวที่เราให้ไปเพื่อเป็นฐานข้อมูลผู้ใช้งานหรือลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการให้บริการที่ดี หรืออาจจะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ฟังดูมันอาจเป็นเรื่องปกติที่เราต้องให้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ซึ่งมันก็เพื่อความปลอดภัยในการเข้าใช้งานระบบต่าง ๆ หรือบางครั้งบางข้อมูลมันก็จำเป็นมากตามสถานการณ์ อย่างการซื้อของ ถ้าไม่ให้ที่อยู่แล้วของจะมาส่งอย่างไร หรือถ้าไม่ลงข้อมูลเลขบัญชีธนาคารและเลขบัตรเครดิตเอาไว้เพื่อผูกกับแอปฯ ซื้อของออนไลน์ เราก็ต้องมานั่งกรอกใหม่กันอยู่ทุกครั้ง ทำได้ก็จริงแต่แอบเสียเวลา ผูกไว้มันสะดวกกว่ามาก ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย ว่าถ้าวันดีคืนดี มือถือเราถูกแฮ็กขึ้นมาจนถูกควบคุมโดยสมบูรณ์ ข้อมูลส่วนตัวของเราทุกอย่างที่เราให้ไว้ มันก็พร้อมใช้งานในอุปกรณ์ของเราแล้ว

หรือถ้าเรื่องใหญ่กว่านั้น ถ้าแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้เกิดโดนแฮ็ก โดนโจมตีขึ้นมา ข้อมูลก็อาจจะหลุดออกไปสู่แฮ็กเกอร์ ซึ่งเขาจะจัดการกับข้อมูลของเราอย่างไรก็ได้ อาจนำมาเผยแพร่ให้เป็นสาธารณะบนอินเทอร์เน็ตไปเลย เอาไปขายต่อให้กับพวกมิจฉาชีพ หรือจะเอาไปใช้งานอย่างอื่นในแบบที่เราไม่คาดคิดก็ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด ส่วนเราก็จะกลายเป็นเหยื่อหรือผู้ประสบภัยมิจฉาชีพออนไลน์เข้าไปอีก

นอกจากนี้ พวกประวัติการค้นหา และประวัติกิจกรรมการท่องเว็บไซต์ ยังเป็นร่องรอยที่บ่งบอกตัวตนของเราได้ไม่ต่างจากพวกข้อมูลส่วนตัวเลย เพราะมันสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ได้ว่าเราให้ความสนใจกับสิ่งใดจนถึงขั้นค้นหาบ่อย ๆ ถึงบอกละเอียดไม่ได้ก็พอจะจัดหมวดหมู่ได้ว่าเรามีความสนใจอะไร เพศอะไร อายุประมาณเท่าไร เดินทางไปสถานที่แบบไหนบ่อย ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ นอกจากข้อมูลส่วนตัวเฉพาะบุคคลแล้ว ร่องรอยของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราใช้อินเทอร์เน็ตค้นหา มันสามารถระบุตัวตนของเราได้ทั้งหมด

หรือการที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิล (Google) เพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความลับหรือเรื่องส่วนตัว เจ้าตัวไม่ได้อยากให้คนอื่นรู้ แต่ก็ไม่รู้จะไปหาคำตอบจากที่ไหน การใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลก็เป็นเรื่องปกติที่คนยุคนี้ทำกัน ซึ่งในทุกการค้นหา ระบบจะเก็บเป็นประวัติเอาไว้ด้วยว่าเราเคยค้นหาอะไร และเมื่อจะเริ่มพิมพ์ค้นหาอะไรหลังจากนั้น กูเกิลก็มักจะนำประวัติสิ่งที่เคยค้นหาก่อนหน้านั้นแสดงขึ้นมาให้เลือกอีกครั้ง ในกรณีที่มีคนมายืมใช้โทรศัพท์ หรือกำลังใช้โน้ตบุ๊กส่วนตัวต่อขึ้นจอใหญ่ในการนำเสนอข้อมูลงานกับหัวหน้าหรือลูกค้า มันย่อมไม่ดีแน่ที่สิ่งนั้นปรากฏขึ้นมาให้คนอื่นได้รับรู้

ดังนั้น มันจึงอาจจะดีกว่าถ้าเราจะใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ในโหมดที่ไม่บันทึกประวัติไว้ในภายหลัง เพราะประวัติการค้นหาและการเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ จะไม่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งก็จะช่วยให้มีความเป็นส่วนตัวเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ดี แนะนำว่าให้หมั่นล้างข้อมูลประวัติและกิจกรรมท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ ออกไปเลยก็จะดีกว่า ในการกำจัดร่องรอยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

ข้อมูลส่วนตัวของเราหลุดออกไปได้อย่างไร และจะเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง

มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราหลุดออกสู่สาธารณะ และหนึ่งในนั้นก็เป็นตัวเราเองที่ยินดีแชร์ให้กับผู้อื่น ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่ามันอาจย้อนศรกลับมาสร้างความเสียหายให้ตัวเราได้

  • จากตัวผู้ใช้เอง ด้วยการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เพราะต้องการแชร์กิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเพื่อนหรือผู้ติดตามได้รับรู้ หรือแม้แต่โพสต์ไว้เพื่อเก็บเป็นไดอารี่ออนไลน์ของตนเอง หรืออาจเกิดจากกรณีที่ถ่ายภาพไว้ในโทรศัพท์มือถือแล้วเครื่องหาย นำไปซ่อม หรือเปลี่ยนเครื่อง แล้วมีผู้ไม่หวังดีปล่อยสู่สาธารณะ หรือแม้แต่การที่มีคนยืมใช้โทรศัพท์มือถือของเรา แล้วบังเอิญไปเห็นกิจกรรมท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็สามารถแอบจดจำมาได้เช่นกัน
  • จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ จากการที่เรากดตกลงให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลเองโดยไม่ได้อ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วนว่าข้อมูลเราจะถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง เช่น ขอส่งข้อมูลของเราไปให้บริษัทในเครือ เพื่อการประชาสัมพันธ์บริการอื่น ๆ เพื่อนำไปทำการตลาด
  • จากการโดนแฮ็กหรือเจาะขโมยข้อมูลในบริษัทที่เราให้ข้อมูล แม้ว่าในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะระบุว่าจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของเราไว้เป็นความลับ แต่หากไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ก็อาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้ ทั้งจากบุคคลภายในองค์กรเองที่บกพร่องในการใช้งาน หรือขโมยข้อมูลขององค์กรไปขาย และจากบุคคลภายนอกองค์กร คือ แฮ็กเกอร์ที่สามารถเจาะเข้าระบบได้ ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะหลุดออกไปสู่บุคคลอื่นหรือสาธารณะได้
  • จากการหลอกลวงด้วยวิธีการต่าง ๆ วิธี Phishing ที่หลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวในเว็บไซต์ปลอม โดยส่งมาทางอีเมลหรือลิงก์ต่าง ๆ หลอกขอข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อนำไปใช้ หลอกขอสำเนาบัตรประชาชนเพื่อนำไปเปิดบัญชีปลอม หรือหลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา เพื่อเอาไปใช้แอบอ้างเป็นตัวเราไปหลอกลวงคนอื่น เป็นต้น

โดยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากข้อมูลส่วนตัวหรือประวัติการท่องเว็บไซต์ของเราหลุดออกไป ก็คือ

  • ถูกนำไปในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น เลขที่บัตรประชาชนถูกนำไปใช้ในการเปิดบัญชีเพื่อฉ้อโกงผู้อื่น คลิปส่วนตัวที่ถ่ายไว้ถูกปล่อยเผยแพร่บนออนไลน์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรืออาจโดนข่มขู่แบล็กเมล
  • โดนโจรกรรมทางการเงิน เช่น ใช้เลขบัตรเครดิตของเราไปกรอกเพื่อซื้อสินค้า หรือถูกโอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร
  • นำไปใช้ประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งจะทำให้เราถูกรบกวนด้วยโฆษณาขายสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย
  • ถูกปลอมแปลงตัวตน ข้อมูลส่วนตัวของเราทุกอย่าง สามารถนำไปสร้างตัวตนปลอม ๆ ขึ้นมาใหม่ได้ มิจฉาชีพอาจเอาไปแอบอ้างทำเรื่องที่เสียหายหรือผิดกฎหมาย

ทำไมเราจึงควรหมั่นล้างประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือกิจกรรมบนออนไลน์

จุดประสงค์หลัก ๆ ก็คือ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติการค้นหา ประวัติการท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จะกลายเป็นร่องรอยดิจิทัลที่สามารถตามสืบหาไปถึงตัวตนของบุคคลได้ สามารถนำไปวิเคราะห์ แล้วบอกถึงสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่สนใจ และสิ่งที่เราอยากทำได้ หากหลุดออกไปจะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ใช้งานได้นั่นเอง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าร่องรอยดิจิทัลต่าง ๆ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของเราได้ จากการสังเกตดูว่าบุคคลนั้น ๆ ทำกิจกรรมอะไรบ้างบนโลกไซเบอร์ ข้อมูลดังกล่าวอาจมีทั้งด้านบวกและด้านลบ หรือข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกล้างทิ้งและหลุดสู่สาธารณะ ก็อาจเป็นโทษแก่ผู้ใช้งานได้มากกว่า

ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์ของเรา ดูเผิน ๆ ก็ไม่ได้อันตรายอะไร อุปกรณ์ของเราก็ใช้อยู่คนเดียวด้วย แต่โอกาสที่อุปกรณ์ของเราจะโดนแฮ็กและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จมันก็มี โอกาสที่จะเผลอไปกดลิงก์แปลกปลอมบางอย่างจนติดตั้งแอปฯ แปลก ๆ เข้ามาตรวจจับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรามันก็มี หรือมีสิทธิจะดึงเอาข้อมูลอ่อนไหวต่าง ๆ จากในอุปกรณ์เราไปเลยก็มีเหมือนกัน หรือแม้แต่คนกันเอง คนใกล้ตัวที่แค่มาหยิบยืมของของเราใช้ประเดี๋ยวประด๋าว ถ้ามันเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือประวัติการท่องเว็บที่เป็นความลับจริง ๆ มีใครคนอื่นมาเห็นเข้ามันก็ดูไม่ดีเท่าไร เขาอาจนำไปพูดให้เราเสียหาย หรือเขาอาจมองเราด้วยสายตาแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปก็เป็นได้ ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานร่วมกันหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วย

ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจในเรื่องของความเป็นส่วนตัวและการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวกันให้มากขึ้น รวมถึงรู้จักป้องกันภัยที่มีแนวโน้มว่าสามารถเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นการดีกว่า ยิ่งทุกวันนี้ที่ภัยออนไลน์มีอยู่ทั่วไป มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อกันเป็นว่าเล่น บางคนระวังตัวแจก็ยังโดน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปพลาดเอาตอนไหนเหมือนกัน นั่นหมายความว่ามันจะมาเคาะประตูห้องเราเมื่อไรก็ไม่รู้ การระวังตัวและปิดช่องโหวจุดเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการล้อมคอกก่อนวัวหาย ยังดีกว่าวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก พยายามปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตัวเองไว้ในขอบเขตให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการสวมรอยจากผู้ไม่หวังดี หรือมิจฉาชีพนำข้อมูลอ่อนไหวมาใช้ในการสร้างเรื่องหลอกลวง ทำให้สูญเสียทรัพย์สินได้

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้อินเทอร์เน็ต การท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่มันจะอยู่ในอุปกรณ์ของเราเอง แต่มันสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก ๆ เพียงแค่การใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนร่วมกันเท่านั้นก็ดูได้แล้ว ไม่ต้องลักลอบแฮ็กเข้ามาแอบดูแต่อย่างใด คลิกไม่กี่คลิกก็เจอแล้ว นี่จึงจัดเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามต่อระบบข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติการค้นหาหรือประวัติท่องเว็บไซต์ อาจถูกเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อมูลอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ข้อมูลอาจไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงการขโมยข้อมูลเพื่อไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ