โรคกระดูกพรุน ป้องกันดีกว่ารักษา


ม.มหิดลชี้โรคกระดูกพรุนป้องกันดีกว่ารักษา ดูแลด้วยแคลเซียม-วิตามินดี-ออกกำลังกาย

ในบรรดาโรคที่มักมาพร้อมกับความชรา “โรคกระดูกพรุน” คือ หนึ่งในภัยเงียบที่น่ากลัวที่สุด จึงควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระดูกเปราะบางจนเสี่ยงต่อการแตกหัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล ที่ปรึกษาภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงภารกิจเพื่อชุมชนและประเทศชาติที่ผ่านมา ซึ่งได้ฝากผลงานวิจัยเพื่อมอบองค์ความรู้อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล

จากการนำทีมลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่อยู่ในเขตบางกอกน้อย และชุมชนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน พบนิมิตรหมายที่ดีซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า โรคกระดูกพรุนสามารถควบคุมให้ดีขึ้นได้ จากผลการสำรวจที่พบว่าจำนวนประชากรในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 50 มีความรู้พอสมควรเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง จนสามารถแนะนำบุคคลในครอบครัว และบุคคลรอบข้างได้ประมาณร้อยละ 15

ซึ่ง “โรคกระดูกพรุน” สามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้ได้ประมาณ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยควรพิจารณาจากแหล่งอาหารประเภท “นม” เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารแคลเซียมที่ดีที่สุด ซึ่งมีองค์ประกอบของกลุ่มโปรตีน “เคซีน” (Casein) ที่ง่ายต่อการดูดซึม

ในขณะที่การรับประทานกระดูกปลาซึ่งอุดมไปด้วยฟอสฟอรัส (Phosphorus) แต่ดูดซึมได้ยากกว่า และการรับประทานธัญพืช ซึ่งอุดมไปด้วยผลึกแคลเซียมออกซาเลท (Oxalates) และไฟเตท (Phytates) แต่ดูดซึมได้ยากกว่าเช่นกัน “เพียงดื่มนมให้ได้ 1-1.5 ลิตร หรือเนยแข็งประมาณ 2 แผ่น จะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรับประทานแคลเซียมสังเคราะห์”

“อย่างไรก็ดีควรเสริมด้วยการรับประทานวิตามินดี พร้อมให้ร่างกายได้รับแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายใน 3 ประเภท โดย “วิตามินดี 2” เป็นวิตามินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1-1.50 บาท รับประทานเพียงสัปดาห์ละ 1 เม็ด (20,000 ยูนิต) จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย นอกเหนือไปจาก “วิตามินดี 3” และ “วิตามินดีแอคทีฟ” ซึ่งมีราคาสูงกว่านับ 10 เท่า” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล กล่าว

นอกจากนี้ ควรเสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งในผู้สูงวัยควรออกกำลังกายด้วยท่าที่ไม่รุนแรงจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำอันตรายต่อระบบเอ็น กระดูก โดยทั่วไปใช้หลักการบริหารโดยการเกร็งกล้ามเนื้อ (Isometric Exercises) ให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหว เช่น นั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นเกร็งไว้ เพื่อสร้างแรงกระทำต่อบริเวณขา และต้นขา ให้เกิดการสร้างกระดูกที่ดี รวมทั้งยังสามารถบริหารในส่วนคอ ด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อคอ โดยใช้มือดันศีรษะแล้วเกร็งกล้ามเนื้อคอสู้แรงมือ หรือจะนั่งตัวตรงแล้วใช้มือสอดเข้าไปตรงบริเวณปกหลังแล้วออกแรงดัน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง โดยไม่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว

สำหรับการบริหารร่างกายอีกแบบ คือ Eccentric Exercises ฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหดตัว ในขณะที่ถูกยืดออก เพื่อให้มีแรงส่งผ่านไปยังกระดูก และคอยกระตุ้นทำให้กระดูกแข็งแรง ระหว่างการก้มหน้าขึ้น-ลง และหันคอซ้าย-ขวาอย่างช้า ๆ

และอีกวิธีการบริหารแบบ Eccentric Exercises ที่สามารถฝึกได้โดยการยืนหลังเก้าอี้ แล้วใช้มือจับส่วนบนของเก้าอี้ ก่อนย่อตัวลงโดยงอเข่าให้ได้ 90 องศา เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อข้อ แล้วให้พยายามยืนขึ้นช้า ๆ ซึ่งเป็นท่าการออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนัก และเคลื่อนไหวช้า ๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูกและป้องกัน “ภาวะกล้ามเนื้อลีบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย

“กรดอะมิโน” ที่ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ หรือการสลายของกล้ามเนื้อได้ดี ได้แก่ “วาลีน” (Valine) และ “ลิวซีน” (Leucine) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในนมและไข่ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน จากการรับประทานโปรตีนมากเกินไป

รวมทั้งอาหารโปรตีนที่ไม่มีประโยชน์ เช่น “คอลลาเจน” ซึ่งหาได้โดยทั่วไป แต่ยังไม่มีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการรับประทานโปรตีนที่ไม่มีคุณภาพ โดยขาดกรดอะมิโน “วาลีน” (Valine) และ “ลิวซีน” (Leucine) ที่จะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้นพบรายงานว่าจะส่งผลทำให้ไตทำงานมากขึ้นจนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า การรักษาโรคกระดูกพรุน เป็นการ “รักษาตามอาการ” ทางที่ดีที่สุดควรเข้ารับการ “ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก” และป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม-วิตามินดี-ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยหวังให้คนไทยทุกคนห่างไกลโรคกระดูกพรุน สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป

ที่มา : ม.มหิดล https://mahidol.ac.th/