การวางแผนการเงินส่วนบุคคล สำคัญต่อการวางแผนครอบครัว

แม้ว่าการไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่การมีเงินออม และสามารถนำไปลงทุนให้งอกเงยได้ ก็จะยิ่งทำให้บุคคลนั้น ๆ มีอิสรภาพทางการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องของ “งบการเงินส่วนบุคคล” จะช่วยให้เราตรวจเช็กสุขภาพทางการเงินส่วนบุคคลได้ว่ามีสภาพคล่องหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการเงินอย่างถูกต้อง

แผนการเงินส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่กำลังเตรียมตัวจะสร้างครอบครัว งบการเงินส่วนบุคคลมีส่วนสำคัญต่อการวางแผนครอบครัว ในยุคที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขนาดนี้ เรื่องแผนทางการเงินจึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเรื่อง “การมีลูกเมื่อพร้อม” ไม่เช่นนั้นแล้วยิ่งมีลูกเพิ่มขึ้นมาอีก ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมาก รายได้ที่หามาได้แต่ละเดือนไม่พอใช้ เดือนชนเดือนตลอด และอาจมีการสร้างหนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนภายในบ้าน ซึ่งถ้าหากไม่สามารถปิดหนี้ได้ ก็จะเกิดภาวะงูกินหางไปจนกว่าลูกจะโต ทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าเลย และอาจจะต้องหวังพึ่งพาให้ลูกหลานกลับมาเลี้ยง

งบการเงินส่วนบุคคลคืออะไร?

“งบการเงินส่วนบุคคล” (Personal Financial Statements) คือการตรวจสอบสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีหนี้สินมากกว่ารายได้ หรือมีเงินเหลือมากพอที่จะนำไปต่อยอดได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างนักบัญชีมาทำให้แต่อย่างใด

โดยงบการเงินส่วนบุคคล ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ “งบดุลส่วนบุคคล” ที่จะคำนวณได้ว่าเรามีทรัพย์สินหรือหนี้สินมากกว่ากัน และ “งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล” ที่เป็นการสรุปรายได้และค่าใช้จ่ายของเรา ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเมินความมั่งคั่งจาก “งบดุลส่วนบุคคล”

งบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet) เป็นการประเมินความมั่งคั่งทางการเงินของแต่ละบุคคล ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะช่วยให้เราประเมินความมั่งคั่งทางการเงินในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนทางการเงินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมได้

โดยมีสูตรคำนวณ  สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ นั่นหมายความว่า เราต้องรู้ก่อนว่ามีสินทรัพย์เท่าใด และมีหนี้สินเท่าใด เพื่อจะได้คำนวณออกมาเป็นความมั่งคั่งได้

สินทรัพย์ คือ รายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของ ซึ่งต้องบันทึกมูลค่าตามราคาตลาดที่ยุติธรรมด้วย โดยสินทรัพย์ประกอบด้วย

  • สินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต อาทิ เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนระยะสั้น
  • สินทรัพย์ส่วนตัว เพื่อการใช้งาน อาทิ บ้าน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ เครื่องประดับ
  • สินทรัพย์เพื่อการลงทุน หรือสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงิน อาทิ พันธบัตร กองทุนรวม หุ้น ที่ดิน ทองคำ

หนี้สิน คือ รายการกู้ยืมที่มีพันธะสัญญาต้องชำระคืนในอนาคต ประกอบด้วย

  • หนี้สินระยะสั้น คือหนี้สินที่ต้องชำระภายใน 1 ปี อาทิ หนี้บัตรเครดิต
  • หนี้สินระยะยาว คือหนี้สินที่ต้องใช้เวลาผ่อนชำระเกิน 1 ปี อาทิ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์

หากนำมาคำนวณแล้วก็จะประเมินความมั่งคั่งสุทธิของตัวเองได้ ยิ่งทรัพย์สินสุทธิมีมูลค่ามากเท่าใด ก็มีโอกาสจะสร้างความมั่งคั่งได้มากเท่านั้น แต่ก็ต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่าทรัพย์สินที่มีอยู่นั้น มีโอกาสสร้างรายได้ได้มากน้อยเพียงใด และเราสามารถทำงานหารายได้ได้มากน้อยเพียงใด

วางแผนการใช้จ่ายจาก “งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล”

งบรายได้และค่าใช่จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement) คือรายงานสรุปรายได้และค่าใช้จ่ายของเรา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เราสามารถนำมาปรับปรุงพฤติกรรมการใช้เงิน และการวางแผนการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้

โดยมีสูตรคำนวณ รายได้ – รายจ่าย = เงินเกิน (รายได้มากกว่ารายจ่าย) หรือเงินขาด (รายได้น้อยกว่ารายจ่าย) ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าอนาคตทางการเงินของเราจะเป็นเช่นไร และเป็นการคาดการณ์การใช้จ่ายในอนาคตได้ด้วย

รายได้ หมายถึง รายได้ส่วนบุคคลที่มาจากช่องทางต่าง ๆ อาทิ จากงานประจำ งานเสริม ดอกผลจากการลงทุน บำเหน็จ บำนาญ และสวัสดิการต่าง ๆ 

รายจ่าย หมายถึง ค่าใช้จ่ายหรือจำนวนเงินสดที่ใช้จ่ายออกไป เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน  การใช้เพื่อซื้อทรัพย์สิน การใช้จ่ายค่าภาษี ชำระหนี้สินต่าง ๆ

  • ค่าใช้จ่ายคงที่ หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเท่ากันทุกงวด เป็นจำนวนที่แน่อนน อาทิ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันภัย
  • ค่าใช้จ่ายผันแปร หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่คงที่แน่นอน ผันแปรไปตามเหตุการณ์ความจำเป็น อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื้อผ้า
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน อาทิ เงินออม เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

หากนำมาคำนวณแล้วจะทำให้เห็นว่ามีสภาพคล่องทางการเงินมากน้อยเพียงใด หากมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ก็จำเป็นต้องหาวางแผนการใช้จ่ายใหม่ ด้วยการหาวิธีแก้หนี้ หารายได้เพิ่ม หรือปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง เพื่อทำให้รายจ่ายลดลง

ทั้งนี้ เราควรจะมีสัดส่วนการออมออมและลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองในอนาคต ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ก็จำเป็นต้องค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปรลงให้ได้เสียก่อน

งบการเงินส่วนบุคคลสำคัญอย่างไร?

การทำงบการเงินส่วนบุคคลจะทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินที่แท้จริงของเราว่าส่งผลให้เกิดการก่อหนี้หรือการออมมากกว่ากัน และช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงิน ของตนเองและครอบครัวได้อย่างถูกต้อง

การวางแผนงบการเงินที่ดี ส่งผลโดยตรงต่อการวางแผนครอบครัวที่ดีด้วย เพราะการวางแผนครอบครัว จะครอบคลุมถึงเรื่องของการเงินในครอบครัว พวกค่าใช้จ่ายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมตัว การทำงานเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวล่วงหน้า และยิ่งถ้าคิดจะมีลูก เรื่องการเงินคือหนึ่งในปัจจัยหลักของ “การมีลูกเมื่อพร้อม” หากมีลูกขึ้นมาตอนที่สถานะการเงินของคู่สามีภรรยาไม่พร้อม มันจะตามมาซึ่งปัญหาระยะยาว ทั้งภาวะขัดสน ภาวะกู้หนี้ยืมสิน การไม่สามารถสนับสนุนลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เท่าที่ควร เด็กคนหนึ่งจะต้องเติบโตมากับความรู้สึกที่ว่า “ทำไมถึงมีหนูทั้งที่ยังไม่พร้อม” ลึก ๆ ในใจตลอดเวลา เมื่อเห็นพ่อแม่เผชิญกับปัญหาด้านการเงินเวลาเลี้ยงดูตัวเอง

ปัญหาการเงินดังกล่าวเป็นปัญหาระยะยาว เพราะกว่าที่พ่อแม่จะส่งเสียลูกคนหนึ่งจนเรียนจบ ต้องเป็นหนี้เป็นสินตั้งเท่าไร อีกทั้งยังไม่สามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลของตัวเองที่ต้องวางแผนเรื่องความมั่นคงหลังเกษียณเอาไว้ด้วย ด้วยระยะเวลาเกือบครึ่งชีวิตยังติดอยู่ในวังวนของการหาเช้ากินค่ำ ใช้เงินเดือนชนเดือนเพื่อเลี้ยงลูกให้โต พอลูกโต อายุตัวเองก็มากขึ้นจนทำงานแทบไม่ไหว และด้วยไม่ได้วางแผนเรื่องการเงินของตนเองมาก่อน พอแก่ตัวลงทำงานไม่ได้ก็ไม่มีเงินใช้ และกลายเป็นว่าต้องหันหน้าไปพึ่งลูก หวังให้ลูกเลี้ยงหรือหยิบยื่นเงินมาให้ตนเองบ้าง ทั้งที่ในขณะเดียวกัน คนเป็นลูกก็อยู่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงาน กำลังตั้งตัว ไหนจะเรื่องสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ค่าแรงขั้นต่ำ ลูก ๆ หลายคนก็ไม่มีทุนมากพอที่จะมาสนับสนุนพ่อแม่ (และพี่น้องของตัวเอง) มากขนาดนั้น

ดังที่เรามักจะเห็นปรากฏการณ์แบบ “มีลูกเพื่อหวังให้ลูกมาเลี้ยงดู” หรือการที่ในครอบครัวหนึ่ง ๆ (ที่มีลูกมากกว่า 1 คน) แต่จะต้องมีลูกอยู่คนหนึ่งที่มีบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัวตั้งแต่ที่ตัวเองเริ่มมีงานทำ รับจบภาระทุกอย่างในบ้าน หรือเป็น “เดอะแบก” ให้กับคนทั้งบ้าน ส่งเงินให้พ่อ ส่งเงินให้แม่ หาเงินค่าเทอมให้น้องได้เรียน หรือบางทีมีเรื่องฉุกเฉินเดือดร้อนขึ้นมา ก็เดอะแบกคนเดิมที่ต้องรับผิดชอบ บางทีพี่หรือน้องก็เรียนจบแล้ว แต่ยังไม่มีงานทำ หรือไปทำอะไรที่ล้มเหลวมา เดอะแบกคนนี้ก็ยังต้องคอยแบกทุกคนในบ้านไว้ โดยที่ไม่มีใครสนใจเลยว่าเดอะแบกผู้นี้ต้องแบกรับอะไรต่อมิอะไรไว้มากแค่ไหน และไม่มีใครถามเลยว่าเดอะแบก “ยังไหว” อยู่หรือเปล่า และถ้าไม่มีเดอะแบกคนนี้สักคน เรื่องการเงินในบ้านจะหยุดชะงักทันที

ซึ่งนี่ถือเป็นความล้มเหลวในเรื่องการวางการเงินส่วนบุคคลก่อนที่จะตัดสินใจมีครอบครัว มีลูก ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ถ้าไม่วางแผนให้ดี ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวนี้จะมีผลผูกพันระยะยาว และถูกส่งต่อไปยังลูกของตัวเอง ที่ต้องมาแบกรับทุกชีวิตไว้บนบ่าเล็ก ๆ ของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่จริง ๆ แค่มีชีวิตคนเดียวในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ก็เอาตัวเองแทบไม่รอดแล้ว

นอกจากนี้ ยังทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้จ่ายอย่างถูกต้อง ซึ่งหากลดภาระหนี้สินลงได้จากการปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และหารายได้เพิ่มมากกว่ารับรายได้ทางเดียวจากงานประจำ ก็จะเริ่มมีเงินเก็บออมมากขึ้น แต่จะได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่จำเป็นต้องมีวินัยเป็นสำคัญ เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือมากพอสำหรับการลงทุนเพื่อดอกผลที่งอกเงยในอนาคตนั่นเอง

ดังนั้น การวางแผนและจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน มีชีวิตที่มั่นคง และอิสรภาพทางการเงิน ช่วยให้มีชีวิตที่มั่นคงและสุขสบายในทุกช่วงวัย และก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุและวัยชราอย่างมีคุณภาพได้โดยไม่ต้องลำบากให้ลูกหลานมาคอยดูแล

อ้างอิงข้อมูล : กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย