ในวันที่โควิด-19 อาจไม่มีวันหายไป ต้านไม่ไหวก็ต้องอยู่ร่วมกันแทน

อีกไม่กี่สิบวัน ก็จะเป็นเวลาครบ 2 ปีเต็ม ที่พวกเราชาวโลกต้องอยู่ร่วมและต่อสู้กับโรคระบาดที่ชื่อว่าโควิด-19 ซึ่งเมื่อดูจากสถานการณ์โดยรอบ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเราจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ไปด้วยกันอย่างแน่นอน ระยะเวลา 2 ปีเต็มจนจะเข้าปีที่ 3 มันเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรกับความพยายามที่จะต้านโรคโควิด-19 ด้วยความหวังว่าโรคนี้มันจะหายจากโลกนี้ไป แล้วเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติจริง ๆ เสียที

นั่นทำให้หลังจากนี้ เราคงต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าถ้าเราจะใช้วิธีต้านหรือต่อสู้ เราจะต้องสู้ไปอีกถึงเมื่อไรกัน ความหวังว่าโควิด-19 จะเป็นเพียงโรคที่อยู่ในความทรงจำอันเลวร้ายของมนุษย์นั้นพอจะมีอยู่หรือมองไม่เห็นทางที่เป็นไปได้เลย ในเมื่อเราก็เห็นกันอยู่ทุกวันว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวนผู้เสียชีวิต ความกังวลว่าจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงรายงานการติดเชื้อในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วยังมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก แค่นี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่ากลยุทธ์การต่อสู้กับโรคแบบฮาร์ดคอร์ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 (Zero-case) มันอาจไม่เวิร์ก ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่

ณ เวลานี้ มีหลายประเทศที่ประจักษ์แล้วเช่นกันว่ามาตรการกำจัดโควิด-19 เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 มันไม่ยั่งยืน เช่น สิงคโปร์ ที่ยอมพ่ายแพ้การต่อสู้ให้กับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แล้วเปลี่ยนมาเดินหน้าเปิดประเทศ ปรับมาใช้มาตรการอยู่กับโควิด-19 ดีกว่า โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็กำลังตามรอยสิงคโปร์ เปลี่ยนจากการต่อสู้มาเป็นการอยู่กับมันให้ได้ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ใช้นโยบายนี้แล้วก็อย่างเช่น เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ ชิลี และไทย ที่เพิ่งเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา

เพราะมาตรการที่เข้มงวดไม่ได้ทำให้ประเทศไม่มีผู้ติดเชื้อ

ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงว่าโควิด-19 เป็นโรคที่ไม่อาจควบคุมได้ในระยะยาว มาตรการที่พยายามควบคุมให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ให้ได้นั้น ไม่ได้มีอะไรมาการันตีว่าเชื้อได้หมดไปแล้วจริง ๆ หลังจากที่ “คิดว่า” กำจัดโควิด-19 ไปได้หมดแล้ว จึงทำการเปิดประเทศ คลายล็อกดาวน์ ให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตกันเกือบจะปกติ แล้วในวันที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับขึ้นมา แปลว่าจะต้องปิดประเทศ แล้วกลับมาล็อกดาวน์กันอย่างเข้มงวดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ให้ได้ วนไปแบบนี้น่ะหรือ?

การปิดประเทศหรือล็อกดาวน์เพื่อกำจัดโควิดให้เป็น 0 มันทำไม่ได้นานนักในทางปฏิบัติ เพราะการปิดประเทศหรือล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19 มันเท่ากับการสกัดการเดินหน้าของเศรษฐกิจไปด้วย นี่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าจริง ๆ แล้วเราควรจะปลงและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้มากกว่า ให้โควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปซะ เพราะมันยังดูมีความหวังมากกว่าที่มันจะหายไปเลย

สำหรับประเทศไทย ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลเลือกที่จะใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ แทนที่จะต่อสู้ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ด้วยตระหนักว่าไม่สามารถปิดประเทศ ปิดเศรษฐกิจของประเทศได้อีกต่อไป เพราะยุทธศาสตร์ในการจำกัดโควิด-19 ให้หมดไปนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ในเมื่อเชื้อโควิด-19 ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในเกมนี้ หากจะปิด ๆ เปิด ๆ ประเทศ หรือปิดแบบที่ไม่รู้ว่าจะเปิดเมื่อไร (เพราะไม่รู้ว่าจะคุมผู้ติดเชื้อให้เป็น 0 ได้ตอนไหน) มันคงไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนนัก อยู่ร่วมกับมันให้ได้จึงน่าจะง่ายกว่า

นอกจากนั้น โจทย์สำคัญก็คือ หากวัคซีนไม่ได้ทำให้โควิด-19 หมดไป เราจะทำอย่างไรถึงจะอยู่กับมันได้โดยที่ระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจสามารถไปต่อได้ทั้งคู่

แบบเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ประกาศให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่จะใช้มาตรการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ โดยไม่รอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 แม้ว่าการอยู่ร่วมกันกับโควิด-19 จะไม่ใช่หนทางที่ง่ายอย่างที่คิด แต่สิงคโปร์ขอเดินหน้าต่อด้วยยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับโควิด-19 แบบที่ยังเกรงแต่ไม่กลัว จนทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ให้ประชาชนใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้แนวทางปฏิบัติและการบังคับใช้ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุข ซึ่งถ้าหากไร้ทิศทางและจัดการไม่ดีพอ มาตรการนี้อาจล้มเหลว และผู้ติดเชื้อพุ่งสูงจนเกินควบคุมก็เป็นได้

นี่คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้สิงคโปร์ประกาศว่าจะเป็นประเทศที่จะ “อยู่ร่วมกับโควิด-19” ให้ได้ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ประเมินแล้วว่าโอกาสที่โควิด-19 จะไม่มีวันหมดไปมีอยู่สูง อีกทั้งสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการลงทุนจากชาวต่างชาติ เศรษฐกิจสิงคโปร์ไม่มีทางเดินหน้าต่อได้ ถ้าจะรอคอยให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็น 0 แล้วค่อยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าศักยภาพของรัฐบาลไทยจะทำได้แค่ไหน หากจะใช้โมเดลเดียวกันกับสิงคโปร์

ชีวิตวิถีใหม่ก็จะกลายเป็นชีวิตวิถีปกติ

ในวันที่เลือกแล้วว่าคงต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้เราถึงจะอยู่รอด นั่นทำให้เราต้องหันมาพยายามใช้ชีวิตให้ชินกับ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ “New Normal” ให้ได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที บางทีอาจถึงขั้นที่ต้องลืมเรื่องการออกจากบ้านโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยไปเลยก็ได้ เพราะนั่นอาจกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันในอนาคต สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ในเมื่อเราควบคุมโรคระบาดและเชื้อไวรัสไม่ได้ ก็ต้องหันมาควบคุมที่พฤติกรรมของเราแทน

นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน จะเป็นสิ่งที่เราต้องทำมันจนเป็นปกติวิสัย แบบที่เลิกคิดไปได้เลยว่าจะต้องสวมมันติดหน้าไปอีกนานแค่ไหน ในกระเป๋าเรายังจำเป็นต้องพกสเปรย์/เจลแอลกอฮอล์ไว้ตลอด จนกลายเป็นของติดกระเป๋าที่จำเป็นต้องพกเหมือนโทรศัพท์มือถือ (ทุกวันนี้กระเป๋าสตางค์ยังไม่จำเป็นต้องพกเลย) การกินดื่มในร้านอาหารก็ต้องมีคอกกั้นแบบที่ใครที่มัน และจากนี้ไปก็คงต้องเว้นระยะห่างกับทุกคนไว้ก่อน อย่างน้อย ๆ 1 เมตร

เราอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันกันทุกปี

เพราะเชื้อไวรัสจะมี “ภารกิจ” ในการแพร่เชื้อไปสู่คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องอยู่รอดเมื่อมนุษย์พยายามจะทำลายมัน มันจึงมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์พยายามจะเอาชนะ จะเห็นว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้วัคซีนที่เรามีอยู่ต้านไม่ได้ ในวันที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ร้ายกาจกว่านี้ ไม่แน่ว่าวัคซีนที่โลกมีอยู่ในเวลานี้อาจจะหมดประโยชน์ไปเลยก็ได้ เรื่องนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าจากเดิมที่เคยวิจัยว่าการฉีดวัคซีนครบโดส 2 เข็มแล้วจะจบ แต่เมื่อมีไวรัสกลายพันธุ์ เรากลับต้องฉีดบูสต์เข็ม 3 (อาจมี 4) กันอีกเลย เพราะ 2 เข็มมันไม่พอ

อย่างกรณีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 วัคซีนที่เราใช้กันทุกวันนี้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป และก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน หากระยะเวลาผ่านไป ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นเกิดลดลงจนหมดไป มันก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องฉีดวัคซีนกันใหม่เพื่อป้องกันโรค และถ้าหากว่าโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่มีวันหายไป เราก็อาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกันทุกปี แบบที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้น ถ้าโรคนี้ยังมีอยู่ต่อไป เราอาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิกันไปตลอดชีวิตก็เป็นได้

ทุกวันนี้ การมีวัคซีนทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น แต่ก็อย่างที่ทราบว่าถึงจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติด เพียงแต่ความรุนแรงจะไม่มาก แนวคิดในการกำจัดโควิด-19 ให้หมดไปเคยสำคัญ ตรงที่เรายังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องกำจัดให้โควิด-19 หมดไปก็ได้ ถ้าเราป้องกันมันได้ด้วยวัคซีน (แม้ว่าจะต้องเจ็บตัวฉีดตลอดไป)

ในวันหนึ่ง โควิด-19 จะกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น

นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไปโดยไม่มีวันหายไปจากโลกนี้ เพราะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ในอนาคต ซึ่งจะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของโลกต่อไป โดยจะกลายเป็นโรคระบาดที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางฤดูกาลหรือตลอดไปก็ได้นั่นเอง

อย่างที่ ศ.เดวิด เฮย์แมนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน ชี้แจงว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันมันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 มันแค่ช่วยลดการติดเชื้อ และทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง คนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นได้อยู่ดี เขาก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ คน ที่เชื่อว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายความว่ามันจะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของโลกต่อไป นั่นแปลว่าวัคซีนทำได้เพียงชะลอและลดความรุนแรง ไม่ใช่ทำให้โรคหายไป

ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยนายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขฉุกเฉิน ก็ยังออกเตือนว่า “โควิด-19 อาจอยู่คู่สังคมมนุษย์ตลอดไป มันจะไม่หายไปจากโลก แม้ว่าจะมีวัคซีนแล้ว แต่การจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคก็ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมาก มนุษย์จึงควรต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันให้ได้” มันอาจจะคล้ายกับโรคเอชไอวี (HIV) ที่ทุกวันนี้มีวิธีรักษา และเรารู้วิธีการป้องกัน แต่โรคมันก็ไม่ได้หายไปไหนเช่นกัน รอวันและเวลาที่จะมีใครสักคนป่วย แล้วรักษาไปตามสภาพ