สงครามทีวีดิจิตอลจากนี้คือของจริง

หลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในเมืองไทยจะเหลืออยู่เพียง 15 ช่องอันเป็นผลมาจากการของคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบการทั้ง 7 ช่องซึ่งทำช่องที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ช่องเด็กและเยาวชนนั้นหายไปทั้งหมด (ช่อง 13,14 และ 15)  ส่วนช่องข่าวจะเหลือเพียงสามช่องคือ TNN16, New18 และ Nation 22 ขณะที่ช่องบันเทิงความคมชัดแบบ SD จะหายไปสองช่องคือ 3SD และ Now26 ขณะที่ช่องบริการสาธารณะอย่าง ททบ.5 NBT และ ThaiPBS แม้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่การต่อสู้ในธุรกิจทีวีดิจิตอล ต่อจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เพราะเท่าที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทีวีดิจิตอลแต่ละช่องต้องปรับตัว เหล่าเอเจนซี่ ทั้งน้อยใหญ่ก็ต้องปรับตามเพราะสปอนเซอร์ในปัจจุบัน ให้ความสนใจโฆษณาผ่านแพลทฟอร์มอื่นมากขึ้น กลายเป็นว่าเรตติ้งทีวีที่เคยเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย บางครั้งก็ยังเป็นรองเทรนด์แฮชแทคในทวิตเตอร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทีวีดิจิตอล ซึ่งยังต้องลุ้นให้ผู้ชมยังจำเลขช่อง จะต้องมาเจอการเว้นของช่องที่คืนใบอนุญาต เพราะ กสทช แจ้งแล้วว่าจะไม่เรียงช่องใหม่ ความยากลำบากเหล่านี้อาจเป็นเพียงแค่บทเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต สำหรับดิจิตอลทีวี 15 ช่องที่เหลือก็เป็นได้

ช่องข่าวที่เหลือเจอกับโจทย์ที่ยากขึ้นเพื่อเอาตัวรอด 

ช่องข่าว กับผลกระทบของการไม่เรียงช่องใหม่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยช่องข่าวจะเริ่มที่ TNN16 แม้ว่าช่องนี้ จะมีแฟนประจำอยู่บ้างจากที่ชื่อเสียงเดิมที่เคยทำข่าวเสนอให้ผ่านทางช่องเคเบิลอย่าง ทรูวิชั่น และเป็นทางเลือกในอดีตของคนที่ชอบข่าวที่มีเนื้อหาสาระชัดเจน แต่การเปลี่ยนกองบรรณาธิการ บรรณาธิการข่าว รวมไปถึง ผู้ประกาศ ทำให้ TNN16 มีเนื้อหาไม่แตกต่างไปจากรายการข่าวที่มีอยู่ในตลาด แม้พยายามจะบอกว่าเป็นช่องข่าวธุรกิจ แต่จนถึงเวลานี้ คาแรคเตอร์ดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน และเหนืออื่นใดข่าวธุรกิจนั้นไม่ค่อยจะถูกจริตผู้ชมคนไทยสักเท่าไรนัก

ส่วน New18 แม้ว่าพื้นจะมาจากหนังสือพิมพ์หัวใหญ่แต่การปรับหลายครั้ง และ เนื้อหาที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรแตกต่างจากสื่อหัวเขียวที่ ยึดเอาคาแรคเตอร์ข่าวแบบหนังสือพิมพ์หัวสีมาใช้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงผู้ประกาศที่ยังไม่สามารถหาคนที่เป็นจุดขายจริงๆมาได้ สถานะของ New18 ต่อจากนี้จึงน่าสนใจยิ่งว่าจัดทัพอย่างไร เพราะถ้าให้เป็นสารคดีสลับกับข่าวอาจจะยากกับการต่อสู้เพื่อขึ้นมาอยู่ในท้อป 10 ของทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน

ถ้าพิจารณาจากสถานะของ TNN16 และ New18 จะเห็นว่า Nation22 ที่ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นระบอกเสียงแก้ต่างของรัฐบาล กลายช่องข่าวที่มีโอกาสรอดมากที่สุดเพราะ Nation22 มีรายการที่เป็นธงนำอย่างชัดเจนในช่วงเย็น และน่ากลัวเป็นอย่างยิ่งว่า การกดรีโมท ของผู้ชมทางบ้านจะเริ่มที่ Nation 22 แล้วกดขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่หันกลับมาที่ช่องก่อนหน้านี้ถ้าไม่ใช่แฟนประจำจริงๆ

ช่องวาไรตี้ ความคมชัดมาตรฐานกับการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

ส่วนช่องวาไรตี้ ความคมชัดมาตรฐานหรือที่เรียกว่า เอสดี นั้นแม้จะมีการคืนใบอนุญาตไปสองช่องคือ ช่อง Now26 และ ช่อง 3 เอสดี 28 แต่การต่อสู้นั้นยังคงดุเดือดเพื่อแย่งฐานคนดูให้ได้มากที่สุด

สำหรับช่องเอสดีที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่ม และยังมีอันดับเรตติ้งช่องแซงหน้าช่อง HD ได้คือช่อง เวิร์คพอยท์ 23 และ ช่อง โมโน 29 ตามมาด้วยช่อง GMM25 ที่เน้นซีรี่ย์เฉพาะทางจนทำให้คนจดจำคาแรคเตอร์ของช่อง GMM25 ในลักษณะดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ ส่วนช่อง 8 ของอาร์เอสหรือช่อง 27 นั้นแม้ความแรงจะไม่เท่าระยะแรกแต่ก็เป็นผู้สร้างกระแสซีรี่ย์อินเดีย และ ละครไทยที่มีเนื้อหาแซ่บๆ จนทำให้เรียกแฟนประจำไปได้พอสมควร

ที่เหลืออยู่และน่าเป็นห่วงคือช่อง True4U ช่อง 24 ที่พยายามจะสร้างคาแรคเตอร์ให้เป็นช่องกีฬา แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจะไม่สามารถจดจำได้มากนัก เพราะแม้แต่รายการข่าว หรือรายการประกอบในช่อง ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางที่สะเปะสะปะ เรตติ้งช่องในช่วงแรกที่อยู่ในระดับท้อป 10 ได้บ้างแต่สุดท้ายร่วงลงไปไล่เรื่อยๆ อันดับล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายนอันดับของ ทรู4ยู นั้นอยู่ในอันดับที่ 15 และถึงแม้ผู้สันทัดกรณีหลายคนจะบอกว่าช่องนี้เงินหนา และ กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของต้องการให้เป็นกระบอกเสียงของตนเอง แต่ถ้าในระยะยาวหากยังเป็นช่องที่ไม่สามารถสร้างความสนใจให้กับคนดูได้ ก็น่าสนใจว่านายทุนควรพิจารณากระบอกเสียงของตนเองสักทีดีหรือไม่

ช่อง HD โอกาสไปต่อสูงและน่าจะสู้กันระยะยาว 

เสียงกระซิบ กระซาบจากเหล่าเอเจนซี่ทั้งหลายต่างบอกต่อกันว่า จากนี้การกดรีโมทเพื่อจดจำของคนดูทีวีดิจิตอลจะเริ่มจากช่อง HD และการต่อสู้น่าจะดุเดือดเพื่อแย่งพื้นที่ หนึ่งในห้า เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คนทำทีวีทุกคนรู้ดีว่า จะขายโฆษณาให้ได้ ต้องมีอันดับเรตติ้งติดอยู่ในท้อป 5 ถึงจะการันตีว่าโฆษณาเข้าแน่

เป็นความจริงที่ทำให้ช่อง 7 HD ที่แม้จะครองอันดับหนึ่งเรตติ้ง ต้องปรับทัพครั้งใหญ่ทางด้านละคร และ วาไรตี้  ส่วนช่อง 3 HD ในฐานะอันดับสองก็ต้องหาละคร หรือ รายการวาไรตี้ มาสู้ให้ได้เพราะถึงวันนี้หมดยุคของการเล่าข่าวไปแล้ว จะว่าไปช่อง 7 HD นั้นวางแผนมาดีตั้งแต่แรกด้วยการประมูลช่อง HD เพียงช่องเดียว และ สร้าง Bugabootv ขึ้นมาบนแพลทฟอร์มออนไลน์ โดยนำเอาละครและการถ่ายทอดสดที่น่าสนใจของช่อง เป็นตัวดึงดูด ทำให้ปัจจุบันนั้น Bugabootv กลายเป็นแอพลิเคชั่นดูละครออนไลน์ที่น่าจับตา และอยู่ในสถานะดีกว่า Mellow ของช่อง 3

ส่วนช่อง 3 นั้นการเปลี่ยนผู้บริหารที่ดึงเอาตัว อริยะ พนมยงค์อดีตผู้บริหาร Line ประเทศไทยมานั่งเก้าอี้ ซีอีโอ ก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่าทางช่องต้องการผสานสองแพลทฟอร์มระหว่าง โทรทัศน์ กับออนไลน์ ให้ได้มากที่สุด แต่เวลานี้รายการของช่อง 3 ในทุกประเภทเริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ ประกอบกับละคร ที่ในอดีตยึดตลาดในกทม กลับมามีคู่แข่งสำคัญอย่างช่อง One 31 ที่คอยมาดึงเรตติ้ง รวมไปถึง PPTV ที่หลังจากได้ผู้บริหารฝีมือดีอย่างสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ เหล่าผู้จัดละคร และ ผู้จัดรายการเหมือนจะวิ่งตามคุณสุรินทร์มาด้วย และทำให้เวลานี้คู่แข่งของช่อง 3 HD อาจไม่ใช่ช่อง 7 HD อีกต่อไปแต่เป็น One31 และ PPTV ที่มาแรงด้วยทุนและคุณภาพเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราในฐานะผู้บริโภคจะได้พบกับการแข่งขันทางด้านเนื้อหาอย่างเข้มข้นของทีวีดิจิตอล 15 ช่องที่เหลือรอดมา และน่าจะเป็นการต่อสู้ทั้งเรื่อง Contents และ แพลตฟอร์ม เป็นการต่อสู้ที่คนทำสื่อต้องเดาใจผู้ชมให้ได้ล่วงหน้า เพราะจากนี้ ผู้ชมกำลังจะกลายเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาอยากดูรายการแบบไหน ไม่ใช่เอเจนซี่เป็นผู้กำหนดดังเช่นในอดีต  และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางเราคงได้เห็นกันว่า ทีวีดิจิตอล จะเหลือแค่ 10 ช่องตามคำทำนายหรือไม่