เมื่อ Grab ปฏิเสธลูกค้าพวกเขาก็ไม่ต่างจาก แท็กซี่ ?

ถ้ามีการเปรียบเทียบว่า Grab คือ แอปพลิเคชันที่ถูกคิดขึ้นมา จนทำให้ Grab กลายเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไม่ต้องมีแท็กซี่ เป็นของตนเอง แต่มีระบบจัดการที่ดีจนทำให้ผู้โดยสารคนไทยที่เอือมกับแท็กซี่ไทยที่ชอบปฏิเสธผู้โดยสารจนกลายเป็นข่าวไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง  รู้สึกว่า Grab เป็นทางเลือกใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายมากขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าความดีของ Grab Taxi ในเมืองไทย อาจจะคงอยู่ได้ไม่นานแล้ว พิสูจน์ได้ง่าย ๆ เพียงแค่พิมพ์คำว่า “Grab ปฏิเสธผู้โดยสาร” ลงไปใน Google เมื่อผลปรากฎจะเห็นว่า ปัญหาเรื่อง Grab ปฏิเสธผู้โดยสารนั้น เริ่มเกิดขึ้นมาได้สองสามปีแล้ว และเกิดในช่วงเวลาที่ Grab ไม่มีคู่แข่งอย่าง Uber ที่ถอดใจในเมืองไทยไปแล้ว

เมื่อ Grab กลายเป็นผู้ให้บริการเจ้าเดียว ผู้ใช้บริการก็ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าสมาชิกคนขับ Grab จะทิ้งงาน ผู้โดยสารก็ไม่มีทางเลือกอื่น ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาใช้บริการอยู่ดี ทีนี้มาดูกันว่า Grab จะเข้าสู่โหมดเดียวกับแท็กซี่มิเตอร์ ที่คนไทยเอือมระอากันอย่างไร

มีแต่ Grab ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะรถติดจริงหรือ ?

ลักษณะการปฏิเสธผู้โดยสารของ Grab นั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากแท็กซี่ทั่วไป เพียงแต่แท็กซี่ทั่วไปนั้น เมื่อปฏิเสธผู้โดยสาร จะมีกรมการขนส่งทางบกคอยกำหนดบทลงโทษ ขณะที่คนขับ Grab จะถูกทางบริษัทลงโทษ โดยมีข้อกำหนดว่า หากคนขับยกเลิก 11-20 งาน จะถูกระงับ 5 วัน ถ้าทำเป็นครั้งที่สองมากกว่า 11 งาน จะถูกระงับให้บริการถาวร

นั่นจึงเป็นที่มาที่ทางคนขับมักจะส่งข้อความให้ลูกค้าเป็นฝ่ายยกเลิกงาน โดยให้เหตุผลที่ไม่ไปรับว่าเป็นเพราะ “รถติด” คล้าย ๆ กับการปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่ทั่วไปที่มักจะบอกว่า “ส่งกะรถ”

แต่จะบอกว่า มีแต่คนขับ Grab ที่ปฏิเสธผู้โดยสารเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่ ที่ผ่านมา มีหลายครั้งเช่นกันที่ผู้โดยสารที่กดยืนยันใช้บริการ Grab เลือกที่จะกดยกเลิกงาน ทั้ง ๆ ที่รถใกล้ถึงจุดหมายแล้ว ซึ่งกรณีอาจเรียกว่า ผู้โดยสารปฏิเสธ Grab ก็ได้ 

การจราจรทำให้คนขับแท็กซี่ หรือ Grab ต้องเจอกับข้อจำกัดที่เหมือนกัน 

จำนวนรถที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยที่ภาครัฐไม่ได้มีความพยายามจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้การจราจรในเมืองไทย ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่กับในเมืองใหญ่ของทุกภาคที่ใคร ๆ ก็มีรถ เลยทำให้จิ้มลงไปบนพื้นที่ไหน ก็มีปัญหารถติด ซึ่งในกรุงเทพฯ นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีวันไหนที่รถไม่ติด และไม่มีวันไหนที่ปลอดอุบัติเหตุ

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ขับ Grab ก็ต้องเจอกับปัญหาเดียวกันกับคนขับแท็กซี่ แม้จะไม่ต้องวิ่งรถเพื่อหาผู้โดยสาร แต่เมื่อมีผู้ใช้บริการเรียกมา แล้วเห็นว่า จุดหมายที่ให้ไปรับนั้นรถติดขนาดไหน คนขับ Grab บางรายก็พร้อมจะปฏิเสธงานทันที  เพราะการที่คนขับ Grab เจอปัญหาที่ไม่ได้ต่างจากคนที่ขับแท็กซี่ การปฏิเสธงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั่นแหละ

คนขับ Grab บางราย สร้างความลำบากใจให้ผู้โดยสาร 

มีหลายเสียงที่บอกว่า ทำไมบอกไปในรายละเอียดของการเรียก Grab แล้ว แต่คนขับยังคงโทรศัพท์มาสอบถามเส้นทางอยู่ดี  มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คนขับ Grab ที่มีปัญหานั้น ไม่ได้ใช้ Google Map หรืออย่างไร ซึ่งการโทรศัพท์มาถามทางนั้น ได้สร้างความรู้สึกไม่มั่นใจให้กับผู้โดยสารที่เรียกรถ และถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว ลักษณะนี้ก็คล้ายกับแท็กซี่ทั่วไปบางรายที่ชอบบอกว่า “พี่บอกทางผมด้วยนะ ผมไปไม่ถูก”

หรือแม้กระทั่ง นิสัยของผู้ที่ขับ Grab บางรายที่ไม่มีความรับผิดชอบ ตอบรับที่จะมารับผู้โดยสารแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังเทผู้โดยสาร และบอกให้ผู้โดยสารเป็นฝ่ายยกเลิกงานเอง ซึ่งลักษณะแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่คนขับจะหลีกเลี่ยงบทลงโทษจากทางบริษัท

จากทั้งสามประการในข้างต้นนั้น พอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า Grab ที่หลายคนคิดว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้รถบริการสาธารณะโดยไม่ต้องง้อแท็กซี่อีกต่อไป อาจเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้ทุกคนสมหวัง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ด้วยสภาพการจราจร ลักษณะนิสัยของคนขับที่ไม่ต่างกัน จนถึงการผูกขาดการให้บริการไว้เพียงเจ้าเดียว อาจทำให้ Grab จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะในเวลานี้ แท็กซี่บางรายที่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยก็เริ่มที่จะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และทำอาชีพคนขับรถรับส่งสาธารณะด้วยความเคารพในอาชีพของตนเอง

อย่างไรก็ดี หลังเรื่อง “เมื่อ Grab ปฏิเสธลูกค้าพวกเขาก็ไม่ต่างจาก แท็กซี่” ได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้เกิด Feedback จากผู้อ่านเข้ามาจำนวนมาก และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง ทางทีมงานได้ขอสัมภาษณ์คุณศรัณย์ พนักงานออฟฟิค ที่เลือกขับ Grab เพื่อหารายได้เสริมช่วงหลังเลิกงาน

ระบบการจัดการของแอปฯ Grab เป็นแบบไหน

คุณศรัณย์ : หลัก ๆ เมื่อผู้โดยสารปักหมุด (จุดหมายปลายทาง) เรียบร้อยแล้ว จะมีข้อมูลขึ้นโชว์ตรงแอปฯ ว่า ตรงจุดที่ผู้โดยสารอยู่มี Grab กี่คัน อยู่ตรงจุดไหนบ้าง หรือบางทีก็ไม่มีข้อมูลขึ้น เนื่องจากว่า ไม่มี Grab อยู่บริเวณดังกล่าวก็มี จากนั้น ระบบจะรันข้อมูลของ Grab ที่ใกล้ที่สุด พร้อมราคาให้ ตรงจุดนี้ ผู้โดยสารจะกดเลือกเพิ่มได้นะครับ ว่านอกจากคันที่ระบบเลือกให้แล้ว มีรถคันไหนอีก และราคาเท่าไหร่ พอผู้โดยสารกดเลือก ขั้นตอนสุดท้าย ก็อยู่ที่การตัดสินใจของคนขับ Grab ว่าจะตอบรับงานไหม

อาการโดนเท เคยเกิดกับคนขับ Grab ไหม

คุณศรัณย์ : เคยโดนผู้โดยสารเทเหมือนกันครับ แต่ไม่บ่อยนะ อาจเพราะหลังกดรับงาน ผมจะรีบดูเวลาเลยว่า จุดที่ผมอยู่กับผู้โดยสารอยู่ใช้เวลาเดินทางนานหรือไม่ เอาง่าย ๆ ถ้าใช้เวลาเดินทาง 10 นาที ผมจะรีบส่งข้อความไปถามผู้โดยสารเลยว่า ผู้โดยสารสะดวกรอผมไหม ถ้าสะดวกรอ ก็คุยกันต่อว่า ผู้โดยสารยืนรอจุดไหน หรือเสื้อผ้าที่ใส่สีอะไร เพื่อเวลาไปถึงจะได้มองหากันง่ายขึ้น

ถ้าผู้โดยสารไม่สะดวกรอเราจริง ๆ อาจรีบหรือเหตุผลอื่น ๆ ผมก็จะขอให้ผู้โดยสารเป็นคนกดยกเลิกงาน เพราะผมยินดีขับรถไปรับจริง ๆ ไม่ได้ต้องการปฏิเสธผู้โดยสาร การยกเลิกบริการจึงไม่ใช่ความผิดของผมโดยตรง ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ผู้โดยสารไม่สะดวกรอ แต่ก็ไม่ยอมกดยกเลิกเหมือนกันครับ เรียกว่า ผมรู้ตัวว่า โดนผู้โดยสารเทก็ตอนไปถึงจุดหมายแล้ว

Google Map กับความชำนาญเส้นทาง

คุณศรัณย์ : ยอมรับว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีถนนหนทางซับซ้อนมาก การใช้ Google Map เพื่อปักหมุดเป้าหมายในการเดินทางถือว่า มีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปยังเส้นทางที่คนขับไม่คุ้นเคยด้วยแล้ว ทำให้ Google Map เป็นผู้ช่วยนำทางที่สำคัญมาก

ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหา Google Map ไม่อัพเดทหรือบอกเส้นทางล่าช้าก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันครับ พอเป็นแบบนี้เลย ทำให้ความชำนาญเส้นทาง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การขับรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ได้อย่างราบรื่น

แอปฯ Grab มีโปรฯ สำหรับคนขับบ้างไหม

คุณศรัณย์ : เรื่องโปรฯ จูงใจคนขับ Grab ก็มีเหมือน ๆ กับของผู้โดยสารแหล่ะครับ เพียงแต่โปรฯ ของคนขับ จะคล้าย ๆ กับ “ค่าคอมมิชชั่น” ที่ยิ่งคุณทำยอดได้เยอะ ก็ยิ่งได้เปอร์เซ็นต์เยอะตามไปด้วย แต่เจ้าค่าคอมมิชชั่นที่ว่า มีหลายแบบนะครับ แบบทำยอดรายวันหรือรายเดือน ก็เลือกกันตามที่คนขับสะดวก อย่างผมขับไม่บ่อย ยอดไม่ถึง ก็ไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นตรงส่วนนี้อยู่แล้ว

นอกจากค่าคอมมิชชั่น ก็มีโปรฯ แบบบัตรเติมน้ำมันฟรี หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีโปรฯ ผ่อนโทรศัพท์มือถือกับ Grab นะครับ แต่โปรฯ ที่ว่า ก็ขึ้นอยู่กับยอด (รายได้ของคุณ) หรือระยะเวลาที่ขับ Grab ว่าเข้าตามเงื่อนไขหรือไม่ด้วย ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็อดกันไป

*** แก้ไขและอัพเดทข้อมูล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 19.36 น.