“ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้” จงเชิดหน้ายอมรับความจริง

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ สิ่งที่คุณจะได้นอกจากบทเรียนในการทำธุรกิจแล้ว คุณยังจะได้เรียนรู้ว่า อีกหนทางในการก้าวสู่ความสำเร็จนั้น คือ เรียนรู้และยอมรับจากความผิดพลาดในอดีต แม้ว่าจะต้องแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายเราก็จะมีวันที่ชนะอยู่บ้าง และถึงจะชนะได้ ก็ใช่ว่าเราจะชนะไปตลอด เพราะเราก็สามารถกลับมาเป็นผู้เแพ้ได้อีกเช่นกัน

ก่อนที่จะเอาหนังสือเล่มนี้มาแนะนำคุณผู้อ่าน คนเขียนเองก็ชั่งใจอยู่พักใหญ่ เพราะชื่อของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล นั้นมีทั้งคนชื่นชมและชิงชัง แต่งานเขียนเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ สีเสื้อ หากแต่เป็นงานเขียนจากประสบการณ์ของ คนที่ชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่วัยหนุ่มที่สร้างอาณาจักรสิ่งพิมพ์ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ บทเรียนจากการทำงานในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ ก่อนจะก้าวมาเป็นเจ้าของกิจการด้วยตนเอง

ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงคำปรารภของ คุณไพบูลย์ สำราญภูติ ที่ปรึกษาหนังสือผู้จัดการ ที่มีถึงหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “จะมีคนอยู่สามประเภทที่จะอ่านบันทึกนี้พวกแรก คือ เพื่อนฝูงที่เห็นใจ พวกที่สอง คือ อยากเรียนรู้ และพวกที่สาม คือ พวกที่เกลียดขี้หน้าคนเขียนจะได้เอามาซ้ำเติม” ซึ่งก็ดูจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

แน่นอนว่า บันทึกชีวิตที่เรียกว่าขึ้นสู่จุดสูงสุด แล้วก็ถูกมรสุมกระหน่ำจนต้องหลบไปรักษาแผลพักใหญ่ถูกเปิดเผยหมดในหนังสือเล่มนี้ และถึงแม้ผู้เขียนจะเขียนถึงตนเอง ก็ไม่ได้มีการยกยอตัวเองจนเลิศลอย แต่กลับจะมีบางช่วงบางตอนได้สอนให้คนอ่านได้รู้ว่า ความทะนงตนจนมากเกินไปนั้น เมื่อถึงเวลาที่เจ็บปวดแล้ว จะเจ็บมากกว่าคนปกติหลายเท่านัก

ดังเช่นเมื่อช่วงชีวิตหนึ่งของ สนธิ ลิ้มทองกุล คือ ผู้ที่อยู่วงในของยุคสมัยที่ PSA รุ่งเรืองจนถึงกาลล่มสลาย การเป็นผู้บริหารที่อยู่ระหว่าง พร สิทธิอำนวย และ สุธี นพคุณ ผู้ที่สร้างอาณาจักร PSA และมีความสัมพันธ์อันแนบแน่น กับบุญชู โรจนเสถียร ประสบการณ์จากการทำงานให้กับ พร สิทธิอำนวย เหมือนประสบการณ์ที่โบยตีให้ สนธิ ลิ้มทองกุล ก่อตั้งกลุ่ม M Group จนทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็น Media Mogul ของเอเชียในยุคสมัยหนึ่ง

คุณสนธิ พูดถึงการทำงานในวัยหนุ่มที่ยังไฟแรง เมื่อมีเรื่องไม่เห็นด้วยกับ พร สิทธิอำนวย เขาเลือกที่จะคัดค้านอย่างหัวชนฝา เมื่อไม่สำเร็จ วิธีการของพร สิทธิอำนวย ในการทำให้คนหนุ่มได้รู้จักสถานะตนเองก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพร ปล่อยให้สุธี นพคุณ เป็นคนดำเนินการ โดยที่พร รู้ดีว่าสุธี นั้นไม่ชอบวิธีการทำงานของสนธิ และสนธิ เองก็ไม่เคยให้ความเคารพสุธี เพราะคิดว่าตนเอง คือ คนของพร มาโดยตลอด จนกระทั่งสนธิ ถูกสุธี นพคุณ ปลดจากตำแหน่งต่อหน้าพนักงานบริษัท แอ็ดวานซ์ มีเดีย

สนธิ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและวิธีการจัดการเขาของพร สิทธิอำนวย ไว้อย่างน่าสนใจว่า “นี่คือจิตวิทยาที่สูงมาก มันเริ่มจากว่า พรพูดให้ผมฟังเสมอว่า If you do as I told you, you can’t go wrong. ฉะนั้น การที่ผมขัดคำสั่งพร โดยไม่ทำตามเขา ในกรณี Business Times มันก็เท่ากับผมตบหน้าเขาโดยตรง ผมจึงต้องรับบทเรียนที่เจ็บปวด และพร ต้องการให้สั่งสอนให้ผมรู้สำนึกว่า ถ้าไม่มีเขาเป็นเกราะป้องกันแล้วอะไรจะเกิดขึ้น และให้ผมรู้สำนึกว่า นี่คือ การลงโทษ”

นี่คือ บางช่วงบางตอนของการยอมรับความผิดพลาดในอดีตของตนเองด้วยการเชิดหน้าแบบสนธิ ลิ้มทองกุล ที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนชีวิตให้กับคนได้ทุกยุค ทุกสมัย และขึ้นอยู่กับว่า เราจะเชิดหน้ายอมรับความผิดพลาดในอดีตได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะแอบซ่อนมันเอาไว้ เพราะต้องการรักษาโปรไฟล์ของตนเองให้ดูดีตลอดเวลา ถ้าคุณเลือกแบบนั้น แต่ยังคงอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณคงเป็นบุคคลจำพวกที่สามตามที่ คุณไพบูลย์ สำราญภูติ ได้ปรารภเอาไว้ เพราะบางคนนอกจากจะแพ้ไม่เป็นแล้ว ก็ยังไม่เคยชนะด้วยตัวเองสักครั้ง อาศัยแต่ปลอกคอขององค์กรให้นั่งชูคออยู่ได้ไปวัน ๆ