E-Sports (Electronic Sports) หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวีดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวีดีโอเกม เช่น League of Legends (LoL), Arena of Valor (AoV) ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า Garena Thailand (RoV), Hearthstone, Pro Evolution Soccer 2018, Clash Royale, DotA, FIFA Online เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันนั้นจะแบ่งออกเป็น ระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงยังมีรายการแข่งขันและลีกต่างๆ เช่นเดียวกันกับกีฬาทั่วไป
ทั้งนี้อีสปอร์ตยังได้รับการบรรจุให้เป็น การแข่งขันกีฬาชิงเหรียญอย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ 2022 โดยเมื่อเอเชียนเกมส์ 2018 ที่ผ่านมา อีสปอร์ตได้ถูกจัดขึ้นในฐานะกีฬาสาธิตอีกด้วย และสำหรับประเทศไทยที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาฯ ได้เห็นชอบให้อีสปอร์ตเป็นชนิดกีฬา ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ซึ่งสามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาในประเทศไทยได้ และได้รับการลงนามอนุมัติอย่างเป็นทางการ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในวันที่ 17 ตุลาคม 2560
ทำให้ไทยสามารถส่งผู้เข้าแข่งขันอีสปอร์ตในนามทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการได้ ในรายการแข่งขันอีสปอร์ตระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีการคัดค้านการรับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬา โดยเห็นว่าอีสปอร์ตยังไม่เหมาะสมกับสังคมไทยที่มีปัญหาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุดนิด้าโพลได้เปิดเผยความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “E-sport กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ในมุมมองของคนไทย” ซึ่งสามารถสรุปเป็น 4 เหตุผลที่คนไทยคิดว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาได้ ดังนี้
1. เพราะไม่เคยได้ยินคำว่า E-Sports มาก่อน
มีคนไทยถึง 75.26% ที่ไม่เคยได้ยินคำว่ากีฬาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Sports มาก่อน และไม่ทราบด้วยว่าทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รับรองให้เป็นกีฬา และได้รับการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์ 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 24.74% เท่านั้นที่ระบุว่าเคยได้ยินคำว่า E-Sports มาบ้าง แต่ก็ยังมีประชาชนไทยถึง 29.68% ที่ตอบว่าไม่ทราบเลยว่ากีฬาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Sports นี้คือกีฬาที่แข่งขันเกี่ยวกับอะไร
2. E-Sports เป็นแค่เกมเท่านั้นไม่ใช่กีฬา
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 55.63% ยังระบุอีกว่า E-Sports ไม่ถือว่าเป็นกีฬาเป็นเพียงแค่เกมเท่านั้น เพราะยังไม่ได้รับการบรรจุในคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซี เนื่องจากยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานเข้าไปดูแลในการกำหนดมาตรฐานและการจัดระเบียบที่ชัดเจน และประชาชนไทยยังมองว่า E-Sports อาจยิ่งทำให้เยาวชนเอาเวลาไปเล่นเกมมากกว่าเรียนหนังสือ และหากจะเรียกว่าเป็นกีฬาจริงๆ กีฬาต้องมีการออกแรงและใช้กำลังในการเล่น มีการใช้ทุกสัดส่วนของร่างกายด้วย
3. ควบคุมยาก ส่งผลทำให้เด็กติดเกมมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการพนัน
ด้วยปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกมในประเทศไทยยังมีอยู่มาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ 46.45% มองว่าหาก E-Sports คือกีฬาชนิดหนึ่งแต่เป็นการแข่งขันเกม จะยิ่งส่งผลให้มีเด็กติดเกมมากขึ้น ทั้งนี้หากมีการสนับสนุนให้การแข่งขันเกม E-Sports เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ประชาชนกว่า 63.37% ยังมีความคิดเห็นว่า อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะพื้นฐานสังคมไทยไม่เหมือนกับต่างประเทศที่จะสามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เยาวชนไม่ทำอะไรนอกเหนือจากการเล่นเกม จนทำให้เกิดภาวะเด็กติดเกม และก่อให้เกิดการพนันได้ในที่สุด
4. สังคมไทยยังไม่มีความพร้อม เพราะขาดคนเล่นที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ
ประชาชนส่วนใหญ่ 53.95% ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการให้ E-Sports เป็นกีฬา เพราะคนเล่นยังไม่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และแบ่งเวลาในการเล่นหรือฝึกซ้อมไม่เหมาะสมหรือดีพอ ซึ่งหากประเทศไทยจะทำให้ E-Sports เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ถูกยอมรับได้นั้น อาจจะต้องมีการกำกับดูแลโดยกำหนดมาตรฐานต่างๆ อย่างเข้มงวด เช่น ผู้เข้าแข่งขัน E-Sports จะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หรือกรณีที่มีผู้เล่นอายุ 13-18 ปี ต้องมีผู้ปกครองลงชื่ออนุญาตภายในการแข่งขันเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ห้ามแข่งขันโดยเด็ดขาด เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกมเพิ่มขึ้น