ทำไมคนไทยดูทีวีน้อยลง? : หลายสาเหตุที่ทำให้เราไปทำอย่างอื่นมากกว่าดูทีวี

อย่างที่เห็นว่าวงการโทรทัศน์บ้านเรา ถึงจะมีช่องฟรีทีวีให้ดูมากขึ้น การวัดความนิยมยังคงเป็นการวัดเรตติ้งทางโทรทัศน์ แต่คนกลับดูทีวีน้อยลงซะงั้น จะด้วยความรุ่งเรืองของ Social Media หรือความเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยรึเปล่า? นั่นก็น่าจะเป็นอีกประเด็น เพราะฉะนั้นเราลองมาคิดเล่นๆ กันดีกว่าว่าทำไมทุกวันนี้เราถึงดูทีวีน้อยลง?

ภาพจาก Pixabay

รายการซ้ำๆ เดิมๆ

เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายมากๆ สำหรับคนที่อยากดูทีวี แต่พอเปิดไปช่องไหนก็เจอแต่อะไรซ้ำๆ กัน อย่างพวกรายการประกวดร้องเพลง (ที่มีทุกช่อง ทุกแบบจริงๆ ต้องลองไปเปิดดู) หรือรายการหาคู่ ไม่ว่าจะผู้ชายมาหาผู้หญิง ผู้หญิงหาผู้ชาย  พอรายการทำอาหารเริ่มบูมคนให้ความสนใจ ก็กลายเป็นว่ามีรายการทำอาหารฉายสองช่องพร้อมกัน และผุดขึ้นมาอีกหลายช่อง รายการประกวดหา Rapper ก็ดันมาวันต่อกันซะอย่างงั้น เหมือนกับว่าไม่เว้นช่วงให้คนดูได้โหยหา เนื้อหารูปแบบรายการก็ไม่ได้แตกต่างกันมากขนาดนั้น

ละครพล็อตเดิม

เรื่องละครนี่เป็นประเด็นที่แปลก ส่วนใหญ่คนจะอยากดูอะไรใหม่ๆ บ่นกันว่าละครไทยที่มีนั้นมีแต่พล็อตเดิมๆ ไม่พัฒนา แต่พอมีละครหรือซีรีส์ล้ำๆ แหวกๆ กระแสมาหน่อยกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรซะงั้น คงเป็นอีกสาเหตุที่ผู้จัดหรือทางช่องก็หันกลับไปซบอกละครพล็อตเดิมที่เพลย์เซฟ ทำยังไงก็ดึงเรตติ้งได้ล่ะมั้ง

เราเลยเห็นละครพล็อตเดิมๆ เกลื่อนทุกช่องไปหมด เมียหลวง เมียน้อย ตบตี แย่งมรดก หรือละครรีเมคที่ทำไปแล้วไม่รู้กี่รอบ บทไม่ทันสมัย ไม่น่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป คงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนหันเหไปดูซีรีส์เกาหลีหรือฝรั่งที่มีให้เลือกทุกแบบกันซะหมด (แต่ก็ยังแอบหวังว่าจะได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ จากละครไทยอยู่นะ)

มีทางเลือกอื่นให้ดูในออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องดูสดก็ได้

เราไม่ต้องกระตือรือร้นกลับบ้านเพราะจะรีบกลับไปดูละครเรื่องไหนอีกแล้ว (ถ้าไม่ได้ติดขนาดนั้น) เพราะสมัยนี้มีแอปพลิเคชั่นสำหรับดูละคร รายการออนไลน์ให้เลือกจนดูไม่หมด ไม่ว่าจะเป็น Line TV , Youtube , Mello ที่ลงละครให้ดูหลังจากฉายในทีวีไม่ถึงชั่วโมง หรือแอปฯ สำหรับคอหนังคอซีรีส์ต่างประเทศอย่าง Netflix ก็ทำให้เราลืมที่จะเปิดทีวีไปเลย

บางทีในทีวีก็ฉายอะไรที่ไม่อยากดู ทำให้เราหันไปหาแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นเพื่อหาอะไรที่อยากดูจริงๆ ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอตามตารางฉาย

อีกประเด็นคือ รายการย้อนหลังที่ลงในแอปพลิเคชั่นต่างๆ นี้ มีความคมชัดกว่าฉายในทีวี (เพราะบางช่องยังไม่ได้แพร่เป็นภาพ HD) ได้อรรถรสกว่าดูในทีวีเป็นไหนๆ

มีไลฟ์สดใน Youtube และ Facebook ไปพร้อมกับฉายในทีวี

ยุคเทคโนโลยีรุ่งเรืองขนาดนี้ ถึงเราจะติดละครมากๆ แต่ถ้าอยู่ในภาวะจำเป็น ก็ไม่ต้องรีบบึ่งกลับบ้านเพราะกลัวพลาดตอนใดตอนหนึ่งอีกแล้ว เพราะส่วนใหญ่ช่องออฟฟิเชียลจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ชมทุกช่องทาง ให้เราสามารถดูทีวีได้แม้จะอยู่บนรถไฟฟ้า บนรถเมล์ หรือขับรถอยู่ก็ตาม

ในที่นี้สามารถโยงเข้าสู่รายการวิทยุได้ด้วย น้อยคนแล้วที่จะเปิดวิทยุเพื่อฟังเพลงหรือรายการ (ยกเว้นระหว่างขับรถ) เพราะในเพจต่างๆ ของช่องหรือรายการก็จัดไลฟ์สดผ่าน Facebook หรือ Youtube ให้เราดูแบบเห็นภาพได้ด้วย

ดูในโทรศัพท์มีสมาธิกว่าดูในทีวี

สมัยนี้จะหาคนที่นั่งจ้องทีวีตลอดเวลาตั้งใจดูอะไรซักอย่างคงยาก เรามักจะทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย หนักสุดคงเป็นไถโทรศัพท์ไปด้วยขณะดูละคร รายการ หรือข่าว เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะดูอะไรจริงๆ จังๆ ก็ใช้มือถือดูซะเลย จะได้ไม่ต้องวอกแวกไปทำอย่างอื่น

เนื้อหาในรายการทีวีสามารถเจอได้ในโลกออนไลน์

ที่ชัดสุดคงเป็นรายการข่าว ในตอนนี้ทีวีไม่ใช่ช่องทางที่เร็วที่สุดและเชื่อถือได้ที่สุดอีกต่อไป แต่กลับเป็นช่องทางจากโซเชียล เช่น ทวิตเตอร์ หรือเฟสบุ๊ค ที่เราสามารถติดตามข่าวสารได้ตลอดเวลา รวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง (แต่ต้องหาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้) หรือเนื้อหาในรายการส่วนใหญ่ก็ไปเอาเรื่องราวในโซเชียลมาทำ ไอจีดาราบ้างล่ะ คลิปดังในเฟสบุ๊คบ้างล่ะ การที่เราเปิดรายการข่าวและเจอเนื้อหาเดิมๆ ก็ทำให้เราเบื่อที่จะดูรายการทีวีไปเอง

ข้อจำกัดของเนื้อหาที่ฉายในทีวี มากกว่าออนไลน์

ข้อนี้อยู่ที่อรรถรสในการดูล้วนๆ อย่างเช่น การเซ็นเซอร์เนื้อหาบางอย่าง คำพูดที่ไม่สุภาพบางคำ ที่ส่งผลให้ความสนุกและความเรียลในการเสพย์สื่อหายไปเยอะ ทำให้คนเลือกที่จะไปหาช่องทางอื่นดูแทน ที่สามารถลงเนื้อหาได้กว้างและเรียลกว่า ลองสังเกตดูซีรีส์หรือรายการที่ฉายในทีวี กับลงเฉพาะออนไลน์เท่านั้น เนื้อหาจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

จะยังไงก็ตาม ไม่ว่าเราจะดูรายการ ข่าว ละครจากช่องทางไหนก็ตาม แต่ก็ขอให้เป็นช่องทางที่ถูกต้อง ของออฟฟิเชียล งดสนับสนุนของเถื่อนที่ดูดของจริงมาลงอีกที เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ผลิต และการวัดความนิยมสิ่งนั้นๆ ได้เที่ยงตรงมากขึ้นกันดีกว่า