Zero Tolerance Policy ไปอเมริกาไม่ง่าย

นโยบาย Zero Tolerance Policy (ไม่ยอมประนีประนอม) กลายเป็นจุดบอดของทรัมป์ที่ถูกโจมตีมาโดยตลอดนับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเพราะกฎหมายที่เข้มงวดกับผู้อพยพหรือผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองจนลืมเรื่องมนุษยธรรม ทำให้ทรัมป์ถูกโจมตีอย่างหนัก แม้แต่ในทวิตเตอร์ที่เจ้าตัวโพสต์ข้อความแสดงความห่วงใหญ่ทีมเยาวชนฟุตบอลไทยที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ก็ยังถูกแซะว่าไปดูแลเด็กที่ถูกกักกันในศูนย์ผู้อพยพจะดีกว่า

เมื่อทรัมป์ถูกแซะมาขนาดนี้ เราก็มาทำความรู้จักกับนโยบาย Zero Tolerance Policy ของทรัมป์นั้นส่งผลอะไรบ้างต่อคนที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา และ ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายบริเวณชายแดนระหว่าง สหรัฐฯและเม็กซิโก

– ก้าวแรกของ Zero Tolerance Policy เริ่มด้วย นโยบาย Travel Ban

หนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์ที่เรียกได้ว่าถูกใจฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอเมริกายิ่งนักคือนโยบายห้ามคนจากประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกา หรือ มีการเข้มงวดในการขออพยพเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาจากกลุ่มประเทศดังกล่าว เพราะคนอเมริกันบางกลุ่มเชื่อว่าด้วยนโยบายที่เปิดรับผู้อพยพของสหรัฐฯ ในรัฐบาลก่อนๆส่งผลให้ อเมริกันชนต้องเผชิญหน้ากับเหตุก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง และ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 911 ที่ตึกเวิลด์เทรดถูกโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย ความรู้สึกของคนอมริกันบางส่วนกับชาวมุสลิมก็เปลี่ยนไป

ทั้งนี้นโยบาย Travel ban ของทรัมป์นั้น ถูกโจมตีเป็นอย่างยิ่งในช่วงแรกที่เขาเข้ามารับตำแหน่งและมีคำสั่งห้ามจากศาลสหรัฐฯ แต่ล่าสุดได้มีคำวินิจฉัยใหม่ ที่ระบุว่าคำสั่งแบนชาติมุสลิมของทรัมป์นั้นอยู่ในขอบเขตที่ประธานาธิบดีจะทำได้ ซึ่งผลการวินิจฉัยดังกล่าวจะทำให้พลเมืองจาก 7 ประเทศ อันได้แก่ อิหร่าน ลีเบีย เกาหลีเหนือ โซมาเลีย ซีเรีย เวเนซูเอล่า และ เยเมน จะถูกพิจารณาอย่างเข้มงวดในการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา (ในจำนวนนี้แม้ว่าเกาหลีเหนือจะไม่ได้เป็นชาติมุสลิม แต่ ความสัมพันธ์ที่เพิ่งจะเริ่มพัฒนาของผู้นำสองประเทศทำให้เกาหลีเหนือยังไม่หลุดออกจากรายชื่อของประเทศที่ต้องเฝ้าระวังและจับตามองของสหรัฐฯ)

– Zero tolerance ชัดเจนที่ชายเแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก

จำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสหรัฐฯนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนระหว่างสหรัฐฯและ เม็กซิโก เนื่องจากเป็นจุดที่อ่อนไหวและสามารถลักลอบเข้ามาได้ง่ายที่สุด จนทำให้ทรัมป์เสนอไอเดียสร้างกำแพงกั้นเขตชายแดนระหว่างสหรัฐฯ กับ เม็กซิโก แต่ไอเดียดังกล่าวไม่มีใครเอาด้วยกับทรัมป์เท่าไรนัก และท้ายที่สุดเรื่องดังกล่าวก็เงียบไป

แต่ทางการสหรัฐฯในเวลานี้ เข้มงวดขึ้นกับการกีดกัน และ ผลักดันผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย กับนโยบาย Zero tolerance policy ที่ถูกนำมาใช้ เพราะทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้นมีแนวโน้ม จะเข้ามาก่ออาชญากรรมในสหรัฐฯ

และด้วยนโยบาย Zero tolerance ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับบรรดาผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ ตรวจคนเข้าเมืองบริเวณตะเข็บชายแดนสหรัฐฯและเม็กซิโก ทำในสิ่งที่คนทั่วโลกรับไม่ได้คือการจับเด็กที่เป็นลูกผู้ลักลอบเข้าเมืองแยกจากครอบครัว ในระหว่างดำเนินคดี ซึ่งมีรายงานว่ามีเด็กกว่าสองพันรายที่ถูกจับแยกจากพ่อแม่ และ ถูกกักตัวอยู่รวมกันในสภาพที่ไม่ค่อยจะมีสุขอนามัยเท่าไรนัก ซึ่งภาพของเด็กที่ถูกกระทำด้วยวิธีการดังกล่าวกดดันให้ทรัมป์เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี ยกเลิกนโยบายแยกลูกผู้อพยพออกจากพ่อแม่ที่ถูกดำเนินคดีโทษฐานลักลอบเข้าสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมาย

– อพยพไปสหรัฐฯไม่ง่าย เป็นโรบินฮู้ด ยิ่งยากใหญ่

ในช่วงปี 1970 – 1980 นั้นมีการอพยพครั้งใหญ่ของคนจากเอเชีย ไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีผู้คนเดินทางไปตั้งรกรากที่อเมริกาเป็นจำนวนมาก เพราะหนีภัยสงครามและเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ มีบางส่วนทำเรื่องขอลี้ภัยโดยถูกกฎหมาย ขณะที่บางส่วนใช้วีซ่านักท่องเที่ยวและหลบหนีเข้าไปทำงาน อย่างผิดกฎหมาย (ถูกเรียกว่า โรบินฮู้ด)

แต่ในปัจจุบัน พลเมืองจากเอเชียที่จะอพยพไปอยู่อเมริกานั้นมีจำนวนน้อยลงแล้ว แต่ที่มากขึ้นคือประชากรจากตะวันออกกลาง ที่หนีภัยสงครามกลางเมือง และทำให้สหรัฐฯต้องเข้มงวดมากขึ้นเพราะบางครั้ง ผู้ก่อการร้ายก็แฝงตัวเข้ามากับกลุ่มผู้ลี้ภัย ขณะที่บริเวณชายแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯนั้นเรียกได้ว่าเป็นจุดเปราะบาง และมีผู้แอบลักลอบเข้าเมืองจากทวีปอเมริกาใต้และ แอฟริกาเป็นจำนวนมากในทุกปี ซึ่งผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองเหล่านี้ เป็นที่มาของปัญหาอาชญากรรม และ ยาเสพติดในรัฐที่ติดกับชายแดนเป็นอย่างยิ่ง

และจากปัญหาทั้งหมดทำให้ สหรัฐฯ ต้องใช้นโยบาย Zero tolerance policy อันหมายถึงการไม่ประนีประนอมกับการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และ ผู้ลี้ภัยที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ