วิธีแจ้งความออนไลน์ ทำอย่างไรไม่ถูกหลอกในหลอก

กรณีหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าในปัจจุบันมิจฉาชีพมักจะแก้เกมได้อย่างเร็วเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ สรรหากลวิธีใหม่ ๆ มาหลอกลวงเหยื่อเพื่อให้ดูแนบเนียนและน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานที่ดูน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หน่วยงานของรัฐ หรือแม้แต่บริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจจากเหยื่อ จนทำให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ เริ่มรู้สึกว่าสังคมมันเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่เว้นแม้แต่ “การแจ้งความออนไลน์” ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มช่องทางนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายและเร็วขึ้นในวันที่ตนตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ก็ยังไม่วายมีกลุ่มมิจฉาชีพหัวใสที่อาศัยการสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม พร้อมลงโฆษณาแอบอ้างเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ ระบุข้อความว่าสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จนทำให้คนที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย ทั้งที่พยายามจะขอความช่วยเหลือ แต่ถูกซ้ำเติมด้วยการหลอกในหลอกจนได้รับความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการแจ้งความออนไลน์ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเรา ๆ ในการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา อำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน จะ “ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย” แต่อย่างใด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีช่องทางในการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านช่องทางออนไลน์ “เพียงช่องทางเดียว” คือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น Tonkit360 จึงจะพาไปดูวิธีการแจ้งความออนไลน์ที่ถูกต้องบนช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่เสียรู้โจร โดนหลอกในหลอกซ้ำซ้อนให้เสียทั้งทรัพย์สินและเจ็บใจ

3 ขั้นตอนก่อนเข้าใช้งานการแจ้งความออนไลน์

การรับแจ้งความทางออนไลน์ จะรับแจ้งเฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

1. เข้าเว็บไซต์ http://www.thaipoliceonline.go.th “ช่องทางเดียวเท่านั้น”

2. คลิกที่ “แจ้งความ” จะพบกับหน้าเข้าสู่ระบบ

  • กรณีที่เคยลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว สามารถพิมพ์อีเมล/เบอร์โทรศัพท์ และรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ
  • กรณีที่ไม่เคยลงทะเบียนผู้ใช้งาน ให้กดลงทะเบียนผู้ใช้งาน กรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน จากนั้นยืนยันตัวตนด้วย OTP ผ่านอีเมล/เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน การลงทะเบียนจะเสร็จสิ้น

3. เข้าสู่ระบบอีกครั้งด้วยอีเมล/เบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อเตรียมดำเนินการแจ้งความออนไลน์

9 ขั้นตอนแจ้งความออนไลน์

ขั้นตอนที่ 1 ข้อความยินยอม เป็นการรับรองข้อความที่จะทำการแจ้งในระบบและการให้ความยินยอม โปรดอ่านข้อตกลงให้ครบถ้วน แล้วกดยอมรับ

ขั้นตอนที่ 2 คำถามก่อนการแจ้งความ เพื่อแยก พรก. เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ครบถ้วนก่อนการแจ้งความ เป็นคำถามเกี่ยวกับความประสงค์ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และช่องทางการติดต่อกับคนร้าย โดยในขั้นตอนนี้  เราสามารถแจ้งธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีก่อนการแจ้งความได้ เมื่อแจ้งธนาคารเรียบร้อยแล้ว ให้กรอกเลขอ้างอิงที่ได้รับ จากนั้นกดปุ่มถัดไปเพื่อไปยังขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 ข้อมูลผู้เสียหาย เป็นข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับตัวเราซึ่งเป็นผู้แจ้งความ เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน และข้อมูลเกี่ยวกับการพบเจ้าพนักงาน และระบุหน่วยงานที่เราสะดวกไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อกรอกเสร็จแล้วให้กดปุ่มถัดไปเพื่อไปยังขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 4 ข้อมูลเรื่องที่เกิดขึ้น จะเป็นการกรอกรายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้น โปรดกรอกให้ครบถ้วนและถูกต้อง จากนั้นคลิกถัดไป

ขั้นตอนที่ 5 ข้อมูลความเสียหาย เป็นการขอรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เสียหายอย่างไร มูลค่าเท่าไร มีการทำธุรกรรมจากบัญชีไหนไปยังบัญชีไหน โปรดกรอกให้ครบถ้วนและถูกต้อง รู้อะไรบ้างเพิ่มรายการลงไปให้หมด จากนั้นคลิกถัดไป

ขั้นตอนที่ 6 ข้อมูลคนร้าย ต้องตอบคำถามถึงสถานการณ์ที่ได้พบหรือติดต่อกับคนร้าย โปรดกรอกทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับตัวคนร้ายให้ครบถ้วนและถูกต้อง จากนั้นคลิกถัดไป

ขั้นตอนที่ 7 แนบไฟล์เพิ่มเติม เป็นขั้นตอนการแนบไฟล์หลักฐานทั้งหมดที่ฝั่งเรามี โดยขนาดไฟล์ทั้งหมดต้องไม่เกิน 5MB จากนั้นคลิกถัดไป

ขั้นตอนที่ 8 การกระทำความผิด เป็นสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เรารู้ตัวว่าโดนหลอกอะไรบ้างก็ให้เลือกให้ถูกต้อง จากนั้นคลิกถัดไป

ขั้นตอนที่ 9 ยืนยันความถูกต้อง โปรดตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน สอบสวน ติดตามคนร้าย และติดตามทรัพย์สิน จากนั้นกดปุ่มยืนยันการแจ้งเรื่องเข้าสู่ระบบ หลังจากที่แจ้งเรื่องสำเร็จ กรุณารอเรื่องเข้าสู่ระบบ 1-3 นาที โดยเราสามารถติดตามสถานะของคดีที่แจ้งได้ในเมนู “ติดตามสถานะ”

ย้ำอีกครั้ง! รับแจ้งความออนไลน์ “ไม่มี” การรับแจ้งผ่านเฟซบุ๊ก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่าการ “แจ้งความออนไลน์” มีที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ช่องทางเดียวเท่านั้น และไม่มีการรับแจ้งความผ่านทางเฟซบุ๊ก ไม่มีการรับแจ้งความผ่านแชตไลน์ ไม่มีการรับแจ้งความผ่านข้อความของโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น ดังนั้น หากพบเห็นบัญชีเฟซบุ๊กที่ระบุข้อความว่าสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่บัญชีดังกล่าว โปรดจงรู้ไว้ว่า “ไม่เป็นความจริง” เป็นเพียงมิจฉาชีพที่แอบอ้างตัวเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ เท่านั้น

หากเราหลงกลติดต่อบัญชีเฟซบุ๊กนั้น ๆ ไปเพื่อจะดำเนินการแจ้งความออนไลน์ บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจะพยายามหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากเราโดยการอ้างว่าเป็นค่าดำเนินการ ค่าเร่งรัดคดีเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นวิธีการที่จะทำให้ได้เงินคืนจากคนร้าย โดยหลอกให้เข้าลงทุนในเว็บไซต์หลอกลงทุน หรือหลอกให้เข้าเล่นเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้มีเหยื่อที่หลงเชื่อได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก นี่เป็นกลวิธีหากินอย่างหนึ่งของมิจฉาชีพ

ข้อสังเกตของบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่กลุ่มมิจฉาชีพสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกในหลอกคนที่ต้องการพึ่งพาตำรวจในการตามจับคนร้ายมาดำเนินคดี หลัก ๆ คือมักจะมีการนำเอาภาพของตำรวจผู้บังคับบัญชา หรือตำรวจหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ มาใช้ ประกอบกับการพิมพ์ข้อความเป็นจำนวนผู้ติดตามปลอมในช่องข้อมูลของเพจ แล้วทำการโพสต์โฆษณาว่ารับแจ้งความออนไลน์ (มีข้อความว่า “ได้รับการสนับสนุน” ใต้ชื่อเพจ) พร้อมกับอ้างว่ามีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาแล้วเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง

ดังนั้น หากพบเห็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด ๆ ที่ไม่เฉพาะในเฟซบุ๊ก ลงโฆษณาว่ารับแจ้งความออนไลน์ได้ที่บัญชีดังกล่าว อย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด และให้ฉุกคิดไว้ก่อนเลยว่านั่นเป็นมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อหลอกลวง

ข้อมูลจาก ศูนย์ปราบรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ