ป้องกันอาหารทะเลจากเชื้อจุลชีพ ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนด


ความเชื่อที่ว่าหากจะรับประทาน “อาหารทะเล” ให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด ต้องรับประทานทันทีที่จับขึ้นมาจากทะเลจะเปลี่ยนไป เมื่อได้รู้ถึงจำนวนผู้ที่ต้องแอดมิทในโรงพยาบาลด้วยอาการโรคท้องร่วง ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารทะเลที่ไม่สะอาด ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพก่อโรคที่มากับน้ำทะเล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Pornchai Matangkasombut Center for Microbial Genomics: CENMIG) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความห่วงใยถึงผู้ที่ชื่นชอบรับประทานอาหารทะเลโดยได้แนะนำถึงวิธีการพิจารณาเลือกรับประทานอาหารทะเลให้ปลอดภัย ว่าให้ดูที่การบริหารจัดการฟาร์ม โดยในส่วนของ “หอยนางรม” ที่นิยมรับประทานสด หากไม่ได้มีการทำความสะอาดที่ถูกหลัก อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพจำพวกแบคทีเรีย “วิบริโอ”

ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดอาการท้องร่วงแล้ว หากสัมผัสบาดแผลอาจทำให้เกิดเนื้อเน่า และจะยิ่งทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคในกลุ่ม NCDs อยู่แล้ว จะยิ่งทำให้อาการทรุดลงได้ ทันทีที่เชื้อจุลชีพก่อโรคดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือด

อย่างไรก็ดี แม้แบคทีเรีย “วิบริโอ” จะถูกทำลายได้ที่ความร้อนประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส แต่หากผู้บริโภคต้องการรับประทานหอยนางรมแบบสด ๆ ควรเลือกฟาร์มที่มีระบบการตรวจน้ำที่เลี้ยงหอยว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อวิบริโอหรือไม่ หรือมีการทำความสะอาดหอยนางรมที่ได้มาตรฐาน เช่น หลังจากการเก็บเกี่ยว ควรมีการนำมาพักไว้ในแทงก์ที่มีน้ำทะเลไหลผ่านก่อนประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้หอยนางรมคายสิ่งสกปรกที่นำมาซึ่งเชื้อจุลชีพก่อโรค ก่อนขึ้นโต๊ะอาหาร

นอกจากนี้ ตามความเชื่อที่ว่าก่อนรับประทานหอยนางรม หากได้บีบด้วยน้ำมะนาว หรือรับประทานพร้อมกระถินแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายต้องป่วยด้วยเชื้อจุลชีพนั้นไม่เป็นความจริง จากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงตั้งแต่ช่วงวิกฤติ COVID-19 แล้ว ว่ายังไม่มีรายงานว่าน้ำมะนาวสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ และแม้ในกระถินจะมีสารสำคัญที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แต่จะต้องรับประทานในสัดส่วนที่มากพอ

และเพื่อความยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้แนะนำทิ้งท้ายให้ผู้ผลิตใส่ใจเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก โดยอาหารทะเลบางอย่างไม่อาจแช่แข็งก่อนเสิร์ฟ เนื่องจากจะทำให้ได้รสสัมผัสที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ได้ทั้งคุณภาพและปลอดภัยจากเชื้อจุลชีพก่อโรค ควรแช่เย็นโดยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไม่สูงกว่า 4 องศาเซลเซียส

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]