“เกมของสื่อ” ที่ยังไม่มีใครกินรวบได้ทั้งกระดาน

คุณผู้อ่านเคยเล่นหมากกระดานที่ชื่อว่า “โอเธลโล่” ไหมคะ การเล่นโอเธลโล่ ถือว่าเป็นการฝึกการวางแผนแบบหนึ่ง เพื่อให้สามารถกินรวบได้ทั้งกระดานด้วยการปิดหัวปิดท้ายคู่ต่อสู้ที่เผลอเผยจุดอ่อน เป็นหมากกระดานที่เล่นง่ายกว่าหมากล้อม แต่ก็ให้ความสนุกสนานไม่น้อย เป็นเกมที่ผู้เขียนเล่นกันในหมู่พี่น้อง และทุกครั้งที่สามารถกินรวบได้ทั้งกระดาน ก็ใช่ว่าจะใช้วิธีเดิมกับคู่แข่งได้ ความสนุกอยู่ตรงนี้ล่ะค่ะ ที่เราต้องคอยมองหาจุดอ่อนของคู่แข่ง

พอนึกถึงเกม “โอเธลโล่” ก็ทำให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับวงการสื่อในทุกวันนี้ ที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 8-9 ปีในยุคที่ดิจิทัลทีวีเพิ่งเริ่มต้น และแอปฯ สตรีมมิ่งเจ้าดังอย่าง Netflix ยังไม่ได้ทำตลาดในเมืองไทย มีการคาดการณ์ถึงการถูก Disruption ของสื่อในวงการสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ว่าจะถูกทำลายล้างครั้งใหญ่จากพฤติกรรมของผู้บริโภคดิจิทัลมีเดีย มีโอกาสที่ดิจิทัลคอนเทนต์จะกินรวบทั้งกระดาน

แต่พอถึงเวลานี้มันกลับไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์กันเอาไว้น่ะสิคะ! เริ่มจากสื่อสิ่งพิมพ์ ที่หลายคนบอกว่าหนังสือพิมพ์ได้ตายไปแล้ว แต่เอาเข้าจริงหนังสือพิมพ์แบบบรอดชีตก็ยังมีอยู่ ขณะที่แบบรายสัปดาห์หรือนิตยสารรายเดือน อาจลดจำนวนหัวลงไปบ้าง หากเอาเข้าจริง ตลาดสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยเข้าสู่ตลาดของการทำหนังสือแบบพ็อกเกตบุ๊กมากขึ้น เหมือนครั้งหนึ่งที่คุณธนิต ธรรมสุคติ นักเขียน นักข่าว และผู้บริหารงานประชาสัมพันธ์ เคยกล่าวกับผู้เขียนเอาไว้ว่า “หนังสือยังคงอยู่ต่อไป แต่จะเป็นของมีราคา”

ทิศทางของสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิทัล เหมือนจะเป็นเส้นทางที่เกื้อหนุนกันมาโดยตลอด หนังสือพิมพ์ทุกหัวมีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของตนเอง นอกเหนือจากข่าวรายวันที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว ความที่เป็น “วรรณกรรมรายวัน” คนทำหนังสือพิมพ์จึงมีเซนต์ในการทำข่าวที่ถูกจริตกับสื่อดิจิทัล ที่ต้องการทันกระแสในทุก “ดราม่า”

ส่วนแพลตฟอร์มของสื่อโทรทัศน์ ที่เคยเป็นแพลตฟอร์มร้อนแรง ค่าโฆษณาหลักแสนตอนนี้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องปรับตัวอย่างหนักในส่วนของคอนเทนต์ หลายเจ้าที่ปรับตัวได้ สร้าง Identity ของสถานีได้ชัดเจนก็ยังคงอยู่ต่อ เพียงแต่ส่วนแบ่งเค้กไม่ใช่ก้อนโตอีกต่อไป หากต้องแบ่งเค้กกับสื่อดิจิทัล ทั้ง YouTube Facebook และ TikTok

เท่าที่เห็น เจ้าที่ปรับตัวทันก็สู้ด้วยเนื้อหาที่มีคุณภาพผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเองที่มาพร้อมกับความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงส่ง Original Content ของตนเองเป็นสินค้าส่งออกไปยังแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ขณะที่ Youtuber TikToker หรือ Influencer ซึ่งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หลายครั้งที่นักผลิตคอนเทนต์ สร้างความแปลก “จนเกินไป” ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้ตลาด “อินฟูลฯ” ที่ครั้งหนึ่งเหล่าเอเยนซี คิดว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค กลับกลายเป็นเครื่องมือที่นักการตลาดต้องใช้อย่างพิจารณา

ส่วนสื่อใหม่อย่างแอปพลิเคลชันสตรีมมิ่งที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน หากแต่หลายคนมีไว้ติดบ้านเหมือนมีปลากระป๋องเอาไว้ในตู้กับข้าว แม้ไม่ได้กิน แม้ไม่ได้ชมแต่รู้สึกอุ่นใจ จนกระทั่งคลื่นของโรคระบาดที่พัดพาให้เศรษฐกิจทั่วโลกยับเยินตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเสียค่าบริการรายเดือนในการบอกรับสมาชิกสตรีมมิ่ง กลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยต่อการใช้ชีวิต ส่งผลให้วงการสตรีมมิ่งต้องเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง

สำหรับเจ้าใหญ่ที่ยังมีภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือรายการต่างประเทศที่ยังพอขายได้ หรือเป็นเจ้าของคอนเทนต์เองอย่างค่ายหนังในต่างประเทศ ยังคงเรียกเก็บค่าสมาชิกได้แต่ในระดับราคาที่ไม่สูงมาก ขณะที่เจ้าเล็ก ๆ ต้องใช้พื้นที่ทั้งดูฟรี และเสียค่ารับชมผสมกันไป หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการเป็นเจ้าของกล่องสัญญาณเสียเอง ซึ่งระบบนี้โอเปอเรเตอร์ อินเทอร์เน็ตเจ้าใหญ่ในประเทศเราก็ทำกันอยู่

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วว่ายังไม่มีใครกินรวบพื้นที่ของมีเดียได้ทั้งกระดาน และผู้เขียนเองก็มองว่าจะเป็นการอยู่รวมกันแต่มีตัวแบ่งเค้กมากขึ้น ไม่มีใครได้เค้กชิ้นใหญ่รายเดียว ไม่มีอีกแล้วพื้นที่ “สื่อร้อน” มีแต่พื้นที่ให้กับสื่อที่มี “ความน่าเชื่อถือ”

สำหรับนักการตลาดแล้วนี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะ “สื่อ” หรือ “มีเดีย” มีเครื่องมือให้คุณใช้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการมองเห็นของผู้บริโภค ถึงตรงนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือและรสนิยมกันแล้ว ว่าใครจะเลือกได้ถูกใจตลาดได้มากกว่ากัน

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ