นิทานพื้นบ้าน สร้างคอนเทนต์ – สร้างเศรษฐกิจชาติ


ในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลบนหน้ากระดาษได้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัล แม้นิทานพื้นบ้านที่อยู่ในความทรงจำ ด้วยสมองและสองมือก็สามารถนำมาสร้างคอนเทนต์ – สร้างเศรษฐกิจชาติต่อไปได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณมน ปุษปาพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้หนึ่งที่สอนรายวิชา “คติชนวิทยา” คือความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ให้รู้จักและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือน “มรดกสำคัญของชาติ” ไม่ให้สูญสลาย

เมื่อเข้าสู่โลกแห่งดิจิทัล “คติชนวิทยา” คือความหวังเดียวที่จะทำให้เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ไม่ลืม “รากเหง้า” ในวันที่รุ่งเรือง และพร้อมทำให้งดงามอยู่ในความทรงจำของทุกคนบนโลกที่ต้องการรู้จักและสัมผัสวัฒนธรรมไทยผ่านนิทานพื้นบ้าน

ไม่ว่าจะเป็น “ดาวลูกไก่” นิทานพื้นบ้านที่สอนใจให้รู้จักความกตัญญู “ตำนานผาแดง นางไอ่” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาของชาวอีสาน การค้นพบพื้นที่สำคัญทางภูมิศาสตร์ “ตาม่องล่าย” ที่ทำให้ได้รู้จักเกาะต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือน “สายโลหิต” ของการท่องเที่ยวทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออก มาถึง “ไกรทอง” และ “ขุนช้างขุนแผน” ของภาคกลาง ที่ให้ความสำคัญต่อการครองเรือน ฯลฯ ล้วนมีความหมาย แสดงถึง “วิถีไทย” ให้ทั่วโลกได้รู้จักและประทับใจไม่รู้ลืม

สิ่งสำคัญที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณมน ปุษปาพันธุ์ พยายามสอดแทรกในชั้นเรียน “คติชนวิทยา” สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2-4 ในบทเรียนแห่งการรังสรรค์นิทานพื้นบ้านไทยเสมอมา คือ “ความใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม” ที่กลายเป็นโจทย์ท้าทายนักศึกษาผู้สร้างว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ชมไม่เพียงได้ความบันเทิง แต่จะต้องได้สาระ หรือแง่คิดที่จรรโลงใจ และรู้จักหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ขัดต่อศีลธรรม สันติภาพ หรือความขัดแย้งในสังคมต่อไป

สิ่งที่คนไทยรุ่นเก่าบอกเล่าผ่านนิทานพื้นบ้านล้วนกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตที่ล้ำค่า แต่จะส่งต่อสู่เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ได้ยาวนานและยั่งยืน ตลอดจนแปรเปลี่ยนสู่การสร้างเศรษฐกิจชาติ – ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้มากเพียงใด ขึ้นอยู่กับเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ว่า พร้อมที่จะเรียนรู้รากเหง้าเพื่อแสดงให้โลกได้รู้ว่าเรารู้จักและเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้พร้อมที่จะรู้จักและเรียนรู้ผู้อื่นได้เพียงใด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]