รับมือภาวะ Burnout ของพนักงาน ปลดล็อกความเครียด ทำงานสุขใจ


จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พบว่าในแต่ละองค์กรมีการแข่งขันเรื่องงานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ ที่ยังคงไม่สงบนิ่ง อาทิ โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่หมดไป หรือสภาพเศรษฐกิจของทั่วโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และบางองค์กรที่ต้องเร่งสร้างผลงาน เพื่อให้พนักงานขององค์กรอยู่รอดและมั่นคง

จึงทำให้พนักงานในองค์กรต้องคอยผลักดันตนเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้มากขึ้น และกลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ในที่สุด ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงาน มาจากความเครียดสะสมในการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งบางรายอาจกลายเป็นคนมีทัศนคติค่อนข้างเป็นเชิงลบต่อการทำงานของตนเอง หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเองไปในที่สุด ส่งผลต่อประสิทธิภาพของพนักงานของแต่ละองค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากภาวะ Burnout ที่มีทิศทางสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ทาง JobsDB by SEEK แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK (ซีค) จึงเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนที่ทุกองค์กรต้องหันมาสนใจในสุขภาพของพนักงานและป้องกันก่อนที่จะเกิดภาวะหมดไฟแก่พนักงานในองค์กร จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ seekTALKS “ช่วยองค์กรรับมือกับภาวะ Burnout ของพนักงาน”

โดยในงานสัมมนาออนไลน์ ที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นสิ่งที่พนักงานหลายคนในยุคนี้ต้องเผชิญแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และขาดแรงจูงใจในการทำงาน แม้ว่าอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้าหากปล่อยไว้สะสมนานจนเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรละเลย และต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกับระบบการทำงานที่อาจทำให้พนักงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสมจนเกิดเป็นภาวะหมดไฟที่กระทบกับสภาพจิตใจของคนทำงาน”

ในส่วนของความเครียด สามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ

  1. ความเครียดในระดับน้อยหรือปานกลาง ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวในการทำงาน ความเครียดแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้ทุกคนตื่นตัว หรือมีไฟในการทำงาน
  2. ความเครียดในระดับที่มากขึ้น เกิดขึ้นนานในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อพนักงานมีความเครียดแบบนี้ ทุกคนต้องมองหาการสนับสนุน
  3. ความเครียดในระดับที่มากเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งความเครียดในระดับนี้จะทำให้ทุกคนเข้าสู่ภาวะหมดไฟนั่นเอง

ทั้งนี้ องค์ประกอบและปัจจัยที่สามารถให้องค์กรสามารถช่วยปลดล็อกให้กับพนักงานในภาวะหมดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพนักงานเข้าสู่ภาวะหมดไฟ การช่วยเหลือพนักงานควรมีโปรแกรมการลดภาวะหมดไฟอย่างต่อเนื่อง

ได้แก่ โปรแกรม CBT บำบัดผ่านการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมโดยนักจิตบำบัด ต้องทำต่อเนื่อง 2 เดือน โดยให้พนักงานลองไปฝึกได้ใช้จนกลายเป็นนิสัย, โปรแกรมการฝึกสติ อาจจะใช้เวลา 3 เดือนเป็นต้นไป, โปรแกรมการรับมือกับความเครียด จะต้องมีการเช็กอัปว่าสามารถนำไปใช้ได้บ้าง เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ, โปรแกรมการออกกำลังกาย ใช้ให้การบัตรกำนัล หรือทำกิจกรรม เล่นฟุตบอลหลังเลิกงาน ตีแบตมินตัน อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทำจนชินเป็นนิสัย, โปรแกรมซาบซึ้ง เช่น ในทุกกิจกรรมที่พบเจอ ใช้เวลา 5 นาที แลกเปลี่ยนว่ามีเรื่องดี ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือการขอบคุณคนในทีมทุก ๆ ครั้งที่มีกิจกรรม และโปรแกรม EAP (Employee assistance program) การช่วยเหลือพนักงาน โดยให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาครอบคลุมทุกปัญหา เช่น เรื่องส่วนตัว สุขภาพ รูปแบบ in-house หรือภายใน

นอกจากการช่วยเหลือพนักงานหมดไฟแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้พนักงานยังมั่นคงอยู่และยังดึงดูดพนักงานใหม่ สามารถทำได้ดังนี้

  1. มีนโยบายไม่ต้องตอบงานนอกเวลา การกำหนดอย่างชัดเจนว่าหลังเวลางาน พนักงานไม่จำเป็นต้องตอบเรื่องงาน และจะไม่มีผลต่อการประเมิน ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานหลายที่ต้องการ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องเป็นเรื่องการตกลงภายในบริษัท
  2. คำนึงถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน ด้านเวลา พนักงานสามารถเลือกเวลาเข้าออกได้เอง, ด้านสถานที่ พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้
  3. สนับสนุนให้พนักงานได้พักผ่อน บริษัทสามารถสร้างนวัตกรรมในการใช้วันลา ‘อย่างสบายใจ’ โดยทุกคนสามารถออกแบบเวลาพักเบรกได้ และบริษัทฯ ยังคงให้สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพกายและจิตใจได้
  4. สร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพจิต คือการสร้างพื้นที่ที่ทำงานสำหรับทุกคนให้สามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น นโยบาย DE&I ที่สามารถพาลูกมาที่ทำงานได้ เป็นต้น
  5. สร้างความเคารพ และมีส่วนร่วม สถานที่ทำงานควรเป็นที่ปลอดภัยทางจิตใจ สามารถแสดงความเห็นได้ พร้อมยังส่งเสริมให้คนทำงานมีความสุข สุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน
  6. พนักงานมีความต้องการและจำเป็นหลากหลาย การออกแบบการทำงาน การสื่อสาร สวัสดิการ การอบรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือตัวตนของพนักงาน ความหลากหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ HR ต้องคำนึง และสิ่งสำคัญคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บจากพนักงาน สำรวจความรู้จัก ความต้องการเป็นประจำ

ทั้งนี้ องค์กรควรจะใส่ใจพนักงาน พร้อมหมั่นสังเกตว่า หากพบพนักงานมีแนวโน้มที่จะรู้สึกหมดไฟในการทำงาน ทั้งหมดใจหรือหมดไฟ การเข้าไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทันที ตามแนวทางที่เหมาะสม หรือการที่พนักงานจะเข้าไปพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจและเข้าใจจะช่วยบรรเทาอาการของภาวะ Burnout Syndrome ได้

และสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเมื่อต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน การหยุดพักผ่อน ให้เวลาตัวเองได้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ เพื่อปรับสมดุลชีวิตให้กลับสู่ภาวะปกติ และหา Work Life Balance ในการทำงาน ก็จะเป็นการผ่อนคลายและช่วยป้องกันภาวะ Burnout Syndrome ไม่ให้กลับมากวนใจในชีวิตได้อีก เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความสุขได้

สำหรับกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ seekTALKS ภายใต้แนวคิด “ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” จัดเป็นประจำทุกเดือน โดยหัวข้อก็จะสลับเปลี่ยนไปตามประเด็นที่น่าสนใจในช่วงนั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ พาร์ตเนอร์และองค์กร ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาองค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ หากบริษัทไหนที่สนใจ ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ หรือสามารถติดต่อได้ที่ https://th.jobsdb.com/