ทุกการทำร้ายเป็นความรุนแรง เกิดที่ “จิตใจ” ก็นับ

คนไทยเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศมากน้อยแค่ไหน? หลายคนอาจเคยตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะข่าวที่มีประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศนั้นมีมากมายเหลือเกิน ดังเช่นที่เราเห็นได้จากสื่อวันละหลายข่าว บางข่าวก็น่าหดหู่มากเพราะเหยื่อเป็นเพียงเด็กน้อยอายุไม่กี่ขวบ ผู้ก่อเหตุเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด และหลายข่าวที่เหยื่อต้องสังเวยชีวิต

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จึงร่วมกับ ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย” ขึ้น โดยสำรวจระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,311 หน่วยตัวอย่าง

จากผลโพลดังกล่าว เราจะได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย” ซึ่งผลออกมากลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งที่เห็นว่าพฤติกรรมความรุนแรงบางอย่างไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.83 ชี้ว่าการมีชู้หรือนอกใจไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ และร้อยละ 49.12 ระบุโรมานซ์สแกม (การลวงให้รัก) ก็ไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศเช่นกัน ทั้งที่ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมทั้งสองล้วนถูกทำร้ายจากประเด็นเรื่องเพศเหมือนกัน เพียงแต่อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจมากกว่า

เมื่อไรที่จะเป็นความรุนแรง

ความรุนแรง (violence) นิยามตามองค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง การใช้กำลังหรือพลังทางกายโดยเจตนาต่อตนเอง ผู้อื่น หรือต่อกลุ่มชุมชน มีการข่มขู่เพื่อให้ทำตามความต้องการของผู้กระทำ หรือมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต การทำร้ายจิตใจ การเจริญเติบโตผิดปกติหรือการริดรอน ซึ่งนิยามของความรุนแรงจะเกี่ยวข้องกับเจตนาของการก่อพฤติกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา เพราะฉะนั้น หากอ้างอิงตามนิยามดังกล่าว ก็จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจก็ตามแต่ ล้วนเป็นความรุนแรงได้ทั้งสิ้น

ส่วนความรุนแรงทางเพศนั้น ตามนิยามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า คือการกระทำใด ๆ ที่ขัดต่อความสมัครใจของบุคคล โดยใช้ประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในความสัมพันธ์ หรือบรรทัดฐานทางเพศของสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการบีบบังคับ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจ ต่อทั้งผู้หญิง เด็กผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กผู้ชาย และอาจส่งผลให้เกิดการปฏิเสธในการเข้าถึงความช่วยเหลือด้วย โดย ความรุนแรงทางเพศเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิทางมนุษยชน เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และส่งผลเสียต่อการพัฒนามนุษย์ ซึ่งความรุนแรงทางเพศสามารถปรากฏได้ทั้งทางกายและใจ

ความรุนแรงทางกาย เราอาจจะนึกภาพตามได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะผลกระทบเกิดขึ้นกับร่างกาย เห็นผลของการกระทำชัดเจนว่าเหยื่อได้รับบาดเจ็บ เป็นแผล พิการ เสียโฉม เช่น การทำร้ายร่างกาย ทุบ ตบ ตี เตะ กระทืบ การใช้กำลังข่มขืน การสาดน้ำกรด การราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น มันจึงชัดเจนในตัวเองว่าเป็นความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรุนแรงอีกประเภทที่เราเห็นได้ไม่ชัดเจนนักว่าเหยื่อได้รับผลกระทบ นั่นก็คือ ความรุนแรงทางจิตใจ เพราะมันไม่ได้เห็นชัดเจนว่ามีอาการบาดเจ็บ แต่เหยื่อก็จะแสดงออกให้เห็นผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผิดปกติไป

ส่วนใหญ่แล้วการเกิดความรุนแรงทางจิตใจนั้น อาจจะเกิดร่วมกับความรุนแรงทางกายก็ได้ คนที่เคยโดนทำร้ายร่างกายมาก็อาจจะรู้สึกอับอาย รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว บางคนกลายเป็นโรคหวาดระแวง กลัวสิ่งของที่เคยถูกนำมาใช้ทำร้ายตัวเองก็มี ส่วนอีกกลุ่ม อาจเป็นความรู้สึกไม่มีความสุขทางใจ เพราะเคยถูกพูดจาส่อเสียด ล้อเลียน พูดโดยใช้อารมณ์และคำหยาบในการด่าทอ ต่อว่าแรง ๆ ด้วยถ้อยคำที่ได้ยินแล้วมีผลในการทำร้ายจิตใจ เหยียดเพศ เหยียดศักดิ์ศรี ทำให้รู้สึกอาย ถูกหลอกให้เสียความรู้สึก มุกตลกเรื่องรูปลักษณ์ที่ส่อไปทางเพศ ที่ทำให้คนฟังได้ยินแล้วรู้สึกไม่ดี หรือการกระทำในเชิงคุกคามทางเพศ

ส่วนใหญแล้ว ความรุนแรงทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศหญิง เพศชาย และเพศทางเลือก แต่ที่พบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่า และผู้กระทำมักเป็นเพศชาย มีผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในปี 2564 พบว่ามี หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน และมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด 1 ใน 10 ของโลกเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงต่อเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คือการที่ความคิดของคนในสังคมยังคงติดอยู่ในกรอบขนบเดิม ๆ อย่างความคิดที่ว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่ว่าด้วยเพศชายคือเพศที่แข็งแรงจึงต้องเป็นผู้นำ ฝ่ายหญิงต้องยำเกรงและเคารพทำหน้าที่เป็นเบี้ยล่างเสมอ ๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเท่าเทียมจะถูกสนับสนุนยกชูขึ้นมาเป็นแกนหลักของสังคม แต่คราบของการกดขี่ทางเพศก็ยังทิ้งเขม่าให้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้

ด้วยความคิดแบบนี้จึงส่งผลให้ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางเพศ จนเกิดเหตุการณ์การลวนลามหรือบังคับขู่เข็ญร่วมเพศ อย่างที่เราได้เห็นกันตามหน้าข่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เราได้รับรู้ โลกภายนอกของสังคมที่กว้างใหญ่นี้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้กี่ครั้งและมีเหยื่อกี่คนเราไม่อาจทราบ เพราะเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่กล้าส่งเสียงหรือเรียกร้องด้วยเหตุผลบางประการ จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน

อย่างไรก็ดี มีพฤติกรรมบางอย่างที่คนในสังคมหลายคนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่ายความรุนแรงทางเพศ ความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัวและน่ากังวล เพราะมันอาจหมายความการที่ไม่คิดว่าพฤติกรรมบางอย่างเป็นความรุนแรงทางเพศ เป็นเพราะคุ้นชินกับเหตุการณ์เหล่านั้นจนเป็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในอีกนัยหนึ่ง คือการที่ไม่ตระหนักว่ามีเหยื่อจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ รวมถึงชุดความคิดที่มองว่าเหยื่อมีส่วนต้องรับผิดชอบ

ตรงนี้นี่เองที่เป็นปัญหา เพราะถ้าใครคนใดคนหนึ่งมองว่าบางพฤติกรรมไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ ก็จะเมินเฉยกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ตรงหน้าว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยที่ไม่คิดที่จะช่วยเหลือ นั่นจะทำให้มีเหยื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเหยื่อก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นเหยื่อด้วย

หากมีใครสักคนที่ได้รับ “ความทุกข์ทรมาน” จัดเป็นความรุนแรงได้ทั้งหมด

ภาพจาก FB: NIDA Poll – นิด้าโพล

สิ่งที่น่าตกใจจากผลสำรวจดังกล่าวมีด้วยกันหลายประเด็น ทั้งประเด็น “การที่สามีหรือภรรยามีชู้หรือนอกใจ จนกระทั่งอีกฝ่ายเกิดความเศร้าโศกเสียใจ” มีกลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 47.83 มองว่า “ไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ” และประเด็น “การชักชวนให้หยื่ออนไลน์หลงรัก และหลอกให้โอนเงินให้” กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.12 ระบุว่า “ไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ” เช่นกัน ทั้งที่ทั้ง 2 กรณีมีฝ่ายหนึ่งที่ต้องทนอยู่กับ “ความทุกข์ทรมานใจ” แต่มีคนจำนวนเกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง (จาก 1,311 หน่วยตัวอย่าง) มองว่าไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศ

นอกจากนี้ ในผลการสำรวจยังมีประเด็นอื่น ๆ อีก ทั้งเรื่องของการข่มขืน, การที่สามีบังคับให้ภรรยาค้าบริการทางเพศ, การข่มขู่เรื่องภาพเปลือย, การถูกฆ่าตายเนื่องจากความหึงหวง, การถูกแอบถ่ายเพราะแต่งตัวโป๊แล้วนำไปวิพากษ์วิจารณ์, การต้องอดทนอึดอัดกับมุกตลกทางเพศ, การที่สามีบังคับให้ภรรยามีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยไม่เต็มใจ และการที่เด็กหญิงไม่พอใจที่ถูกญาติสนิทผู้ชายกอดหรือหอมแก้ม ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่คิดว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ความรุนแรงทางเพศเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นภาพชัดเจนว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดในเรื่องของความรุนแรงทางเพศ เพราะโดยทั่วไปแล้ว สังคมไทยจะเข้าใจว่าความรุนแรงทางเพศ เป็นการใช้ความรุนแรงทางกาย หรือมีการบังคับข่มขู่โดยที่เหยื่อไม่ยินยอมพร้อมใจเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังมีมิติอื่น ๆ อีกที่จัดว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย การล่วงละเมิดด้วยท่าทาง กิริยา วาจา สายตาแทะโลม จนทำให้เหยื่อรู้สึกอับอาย เจ็บช้ำน้ำใจ หรือรู้สึกว่าถูกด้อยคุณค่าและไม่ให้เกียรติ ทำลายและบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง พฤติกรรมเหล่านี้ก็จัดเป็นความรุนแรงทางเพศได้เช่นกัน

เพราะขอบข่ายของความรุนแรง ไม่ว่าจะพฤติกรรมใดก็ตาม หากแต่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตใจ ก็ล้วนเป็นความรุนแรงได้ทั้งสิ้น การที่เหยื่อถูกกระทำทั้งกายและใจ สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกลงไปในจิตใจ ความรุนแรงทางกายวันหนึ่งอาจจะรักษาหาย (บางคนก็ไม่หาย เช่น เหยื่อสาดน้ำกรด เหยื่อถูกจุดไฟเผาทั้งเป็น) แต่ก็คงไม่ลืมว่าเคยถูกทำร้ายร่างกายมา เกิดเป็นความหวาดกลัวในใจ ตรงนี้เองที่จะกลายเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันรักษาหาย ทำได้แค่เยียวยาเท่านั้น แบบที่บางคนบอกว่า “จำไปจนวันตาย”

การที่คนคนหนึ่งต้องอยู่กับความทรงจำที่เลวร้ายแบบนั้นไม่มีวันลืม และไหนจะถูกประณาม ถูกชี้หน้ากล่าวโทษซ้ำ ๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องอดทนเจ็บปวดอยู่กับมันมากขนาดไหน บางคนเป็นเหยื่อไม่พอ ยังโดนซ้ำเติมด้วยการชี้หน้าด่าว่าเป็นคนผิด รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรมทางคดีความด้วย เหตุการณ์ลักษณะนี้นำไปสู่ “การฆ่าตัวตาย” ตั้งไม่รู้กี่ครั้ง และขนาดว่าบางคนตายไปแล้ว ก็ยังจะมีคนด่าและซ้ำเติมทับลงไปบนศพของพวกเขาอีก นั่นเท่ากับว่าพวกเขาเป็นเหยื่อความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น แม้ว่าจะไร้ลมหายใจแล้วก็ตาม

การกล่าวโทษเหยื่อ ไม่เคยหายไปจากสังคม

การที่สังคมไทยเป็นสังคมที่เกิดเหตุอาชญากรรมบ่อยจนมีคนที่กลายเป็น “เหยื่อ” เยอะแยะมากมาย และบ่อยครั้งมาก ๆ ที่เหยื่อเหล่านี้ถูกคนในสังคมซ้ำเติมความบอบช้ำจากการถูกกระทำเรื่องเลวร้ายเข้าไปอีก ราวกับลากเหยื่อออกมารุมสกรัมซ้ำทั้งที่สิ่งที่เหยื่อเหล่านี้เจอมาก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว ซึ่งมันคือพฤติกรรมที่เรียกว่า “การกล่าวโทษเหยื่อ” หรือ Victim Blaming นั่นเอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการชี้หน้าต่อว่าผู้เสียหายว่าที่เรื่องราวเลวร้ายเกิดขึ้นกับเหยื่อ ต้นเหตุมาจากพฤติกรรมบางอย่างของเหยื่อเอง ซึ่งในสังคมไทย การกล่าวโทษเหยื่อเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและหลายกรณี แม้แต่เหยื่อที่ต้องสังเวยด้วยชีวิตก็ไม่ละเว้นเช่นกัน

การกล่าวโทษเหยื่อ กลายเป็นอีกหนึ่งระบบความคิดที่มีเป้าหมายเพื่อหวังลดทอนความร้ายแรงของความผิดของผู้ก่อเหตุ โดยการยกอ้างถึงต้นเหตุของการกระทำความผิดเกิดจากการกระทำของเหยื่อเอง ที่พบเห็นบ่อยมากในประเด็นความรุนแรงทางเพศ คือเรื่องของการแต่งตัวของเหยื่อ โดยกล่าวอ้าวว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่แต่งตัวล่อแหลมเองจึงทำให้ถูกลวนลามและคุกคาม หรือแม้กระทั่งกิจวัตรที่เหยื่อทำเป็นประจำก็สามารถถูกยกมากล่าวอ้างได้ เช่น ไปเดินผ่านซอยเปลี่ยว ๆ กลางค่ำกลางคืนเองถึงได้โดนฉุดไปข่มขืน หรือในกรณีของคนที่ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam (การลวงให้รัก) ก็จะถูกกล่าวโทษว่าก็โง่เองนี่ถึงได้ถูกหลอก แค่นี้ดูไม่ออกหรือไงกัน

ชุดความคิดดังกล่าวถือเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง ทว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับความคิดนี้อยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ถูกเรียกว่า “เหยื่อ” ไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่เลวร้าย ไม่มีใครอยากเปลี่ยนชีวิตจากสดใสเป็นดับมืดเพราะเรื่องบ้า ๆ ที่เกิดขึ้นในคืนเดียว และในขณะที่เหยื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์สารพัดว่าไปทำเหตุอะไรมาถึงเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น แต่คนทำผิดจริง ๆ กลับถูกเมิน แม้ว่าในสังคมจะมีคนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มักจะกล่าวโทษเหยื่อมากกว่าผู้ที่กระทำผิด แต่ก็มีคนแบบนั้นมากอยู่ดี

การกล่าวโทษเหยื่อไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ไม่ว่าเหยื่อจะประสบพบเจอกับเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม และชุดความคิดเหล่านั้นก็มาปรากฏในโพลดังกล่าวด้วย สิ่งที่น่าสนใจจากโพลก็คือ มีกลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 47.52 ที่ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางเพศ คือการที่ผู้หญิงแต่งตัวไม่ดี ให้ท่าผู้ชาย

ทั้งที่ในความจริงแล้ว ร่างกายของใครก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งตัวในแบบที่เขาพึงพอใจ เพียงแค่ไม่ผิดกฎหมายและไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเป็นพอ ดังนั้น หญิงสาวจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตามที่เธอพอใจ ซึ่งแม้ว่าจะดูโป๊ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงคนนั้นอยากจะมีเซ็กซ์ ไม่ได้หมายความว่าเธอจะเต็มใจให้ใครก็ได้มารุกล้ำร่างกายของเธอ เพราะฉะนั้น การแต่งตัวไม่ได้บ่งชี้ว่าใครง่ายหรือไม่ง่าย ในทางกลับกัน ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ตัวผู้กระทำผิดเองต่างหากที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจอารมณ์ของตัวเอง หรือไม่ไปหาวิธีปลดปล่อยที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น เพราะผู้กระทำผิด “ไม่มีสิทธิ์” ที่จะไปรุกล้ำร่างกายของคนอื่น ดังนั้น หากจะบอกให้เหยื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนการแต่งตัวมันก็ไม่ใช่แล้ว

กรณีที่จะมองว่าเพราะการแต่งตัวของเหยื่อล่อแหลมเองถึงได้โดนข่มขืนนั้น มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่า การแต่งตัวของเหยื่อไม่ใช่สาเหตุของการถูกกระทำชำเรา ในปี 2013 มีนิทรรศการที่ชื่อว่า What Were You Wearing? หรือวันนั้นคุณใส่ชุดอะไร ซึ่งจัดโดย Jen Brockman ผู้อำนวยการศูนย์การป้องกันและการศึกษาการข่มขืนทางเพศ ของมหาวิทยาลัยแคนซัส มีการนำชุดของเหยื่อที่ถูกข่มขืนมาจัดแสดงในงาน ซึ่งพบว่าชุดส่วนใหญ่ไม่ใช่ชุดที่ใส่แล้วดูล่อแหลมเลยแม้แต่น้อย พวกเสื้อยืด กางเกงขายาว เสื้อกีฬา รวมถึงเสื้อผ้าหลายชั้นก็มีเป็นส่วนมาก