ผู้ป่วย “มะเร็ง” มีแนวโน้มรอดชีวิตมากขึ้น หากไม่อยู่ลำพัง

ภาพจาก www.dailymail.co.uk

ผลการวิจัยล่าสุด พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่อยู่เพียงลำพังหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในช่วงที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือทำคีโม

โดยสถาบันวิจัย National Human Genome Research Institute ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ในการวิเคราะห์สถิติของผู้ป่วยมะเร็งเกือบ 5,000 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักสองแห่งที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษ ในช่วงระหว่างปี 2000-2009

จากผลวิจัยดังกล่าว พบว่าสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัดและมีการเข้าสังคมมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตภายใน 5 ปี อยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัดแต่อยู่ลำพัง ไม่สุงสิงกับใคร มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตอยู่ที่ 69.5 เปอร์เซ็นต์

เจฟฟ์ ไลเนิร์ต หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า แม้จะมีความแตกต่างกันไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูไม่มากนัก แต่จริงๆ แล้วถือว่ามีผลอย่างมาก เพราะหากดูจากจำนวนผู้ป่วยเกือบ 5,000 คน ในช่วงระยะเวลา 9 ปีแล้ว  2 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่รอดชีวิตมีมากถึง 100 คนเลยทีเดียว

แม้ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่า แต่ทีมวิจัยเชื่อว่าการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในช่วงที่ทำคีโมนั้น สามารถช่วยลดระดับความเครียดให้กับผู้ป่วยได้  ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อร่างกาย

เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอย่าง “อะดรีนาลีน” ออกมา ซึ่งจะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ หัวใจทำงานอย่างหนักและรวดเร็ว รวมถึงไปเพิ่มการเต้นของหัวใจและแรงดันเลือด ขยายหลอดลม และเพิ่มระดับน้ำตาลให้สูงขึ้นนั่นเอง

ที่มา : www.dailymail.co.uk