ถามใจคนดู ดิจิตอลทีวีช่องไหนรอดช่องไหนร่วง

ภาพจาก pixabay.com

เงินจำนวน 4,215.15 ล้านบาทที่ถูกส่งเข้าสู่กระทรวงการคลังจาก กสทช. อันเป็นเงินค่าประมูล ดิจิตอลทีวีงวดที่ 4 น่าจะทำให้ตัวแทนจากภาครัฐยิ้มแย้มกันได้บ้าง แต่ในส่วนภาคเอกชนซึ่งประมูลช่องไปได้คงไม่ได้ยิ้มตามสักเท่าไร เพราะนับตั้งแต่วันที่เปิดให้ประมูลในเดือนธันวาคมปี 2556 จนถึงปัจจุบันการแพร่ภาพของดิจิตอล ทีวีในเมืองไทยก็ใกล้ครบ 4 ปีเต็มทีและช่องที่อยู่บนระบบอนาล็อกเดิมก็ได้มีการทยอยยุติการออกอากาศในระบบดังกล่าวแล้วตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา

ทำให้เวลานี้ทีวีดิจิตอลกำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันกันอย่างเต็มรูปแบบแม้ว่าช่องอนาล็อกเดิมที่มีแพลตฟอร์ม อยู่บนดิจิตอลทีวีจะได้เปรียบอยู่บ้างในแง่ของภาพจำเมื่อครั้งเสร็จสิ้นการประมูลช่องในช่วงแรกแต่เมื่อเดินทางเข้าสู่ปีที่สี่ ช่องที่เริ่มตีโจทย์แตกก็เริ่มที่จะสร้างภาพจำของตนเองให้ชัดเจนขึ้นก็กลายเป็น “ผู้รอด” ในการแข่งขันครั้งนี้และ “ผู้รอด” ที่ติดท้อป 10 นั้น กลับมีช่องอนาล็อกเดิมอยู่เพียงสามช่องเท่านั้น

เรตติ้งของ Nielsen ที่อันดับเริ่มนิ่งตั้งแต่ต้นปี 2560 และรายงานล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งวัดจากผู้ชมทั้งประเทศนั้นมีช่องอนาล็อกเดิมอย่าง ช่อง 7, 3 HD, 3SD ติดอยู่ในโผแต่ที่เหลือกลับกลายเป็นช่องน้องใหม่จากการประมูล อย่างอันดับที่สามช่อง 23 เวิร์คพอยท์ อันดับที่ 4 ช่อง 29 โมโน อันดับที่ 5 ช่อง 8 (อาร์เอส) และ อันดับที่ 8 ช่อง 34 อมรินทร์ อันดับที่ 9 ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงของการรับชมของคนไทยที่เห็นได้ชัดเจนยิ่ง

ชัดเจนที่ว่าคือการจำได้ของผู้ชมว่าตนเองต้องกดรีโมทไปที่ช่องอะไร หรือ เปิดแช่ช่องอะไร ชัดเจนที่ว่าคือการตอบรับต่อเนื้อหา หรือ Content ที่ตนเองต้องการ และเป็นการลบความเชื่อเดิมๆที่ว่าช่อง อนาล็อกแต่เดิมเท่านั้นที่จะรอด เพราะ เวิร์คพอยท์ โมโน ไทยรัฐ และ อมรินทร์ ทีวีทำให้เห็นแล้ว

เวิร์คพอยท์ ช่อง 23 อยู่ในอันดับที่ 3 ของทั้งประเทศห่างจากช่อง 3 HD เพียงไม่กี่จุด ความชัดเจนเรื่องเกมโชว์ ภาพที่คนจำคือถ้าอยากได้รับความบันเทิงจากเกมโชว์ ก็ต้องเปิดช่องเวิร์คพอยท์และที่เห็นได้ชัดเจนคือการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ข่าวแจก แต่เป็นการสร้างไวรัลให้กับรายการในช่องจากสื่อสังคมออนไลน์ นำพาให้ชื่อของเวิร์คพอยท์ ติดปากคนดู และมีสามารถนึกได้ทันทีว่าถ้าต้องการดูเกมส์โชว์ สนุกต้องกดไปที่ช่อง 23

โมโน ช่องที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นกับการให้ผู้ชมอิ่มไปกับหนัง และ ซีรี่ย์ ทั้งไทยและเทศ แถมจัดระบบหนังให้เข้ากับช่วงเวลา ได้ทีมพากย์ดีไม่รำคาญหูคนดู แม้ในช่วงแรกช่องอื่นจะแข่งกันด้วยซีรี่ย์เกาหลี แต่โมโน ยังยึดมั่นในคุณภาพของภาพยนตร์ต่างประเทศ และ ซีรี่ย์ที่น่าสนใจ ท้ายที่สุดช่องบันเทิงเต็มรูปแบบ ช่องนี้ทำให้คนสามารถเปิดโมโน แช่ทิ้งไว้ทั้งวัน เพราะแม้จะมีโฆษณามาคั่นบ้าง แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับรับชมความ บันเทิงจากช่อง HBO หรือ FOX ที่ทำให้คนที่ใช้ระบบบอกรับสมาชิกหลายรายรู้สึกเสียดายค่าสมาชิกมิใช่น้อย

มาที่อีกหนึ่งช่องซึ่งติดในท้อป 10 แบบไม่หลุดโผไปไหนตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบันอย่าง ไทยรัฐทีวีช่อง 32 ไทยรัฐ เน้นเป็นช่องข่าวที่สามารถเข้าถึง ผู้ชมได้ทุกระดับความชัดเจนของไทยรัฐที่มาจากฐานหนังสือพิมพ์เดิม ทำให้มีข่าวที่เข้มแข็งมากกว่าช่องอื่นๆ และทำให้ช่วงหลังเมื่อมีข่าวสำคัญ คนดูจะนึกถึงไทยรัฐทีวี เป็นช่องแรก ขณะที่การถ่ายทอดสดกีฬาก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายของไทยรัฐทีวี การถ่ายทอดสดของไทยรัฐไม่ใช่การถ่ายทอดสดแบบพร่ำเพรื่อ แต่เลือกเอาแบบหมัดเดียวจอดโดยเฉพาะฟุตบอลทีมชาติ ทำให้ไทยรัฐทีวี ตีโจทย์แตกและกลายเป็นทีวีที่ชาวบ้านจำได้ ไม่ได้ต่างจากช่องอนาล็อกเดิมแม้แต่น้อย

มากันที่ม้ามืดมาแรงอย่าง อมรินทร์ทีวีช่อง 34 ที่เมื่อปลายปี 2559 มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหลังจากโดยกลุ่มบริษัท วัฒนภักดี ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ปัจจุบันแนวทางของอมรินทร์ทีวี มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ที่เด่น และทำให้หลายช่องต้องพยายามทำตามคือ รายการวิเคราะห์ข่าวอย่างรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” รายการที่เริ่มต้นด้วยความพยายามของพิธีกรที่มีลักษณะคล้ายกับนักเล่าข่าวชื่อดัง จากจุดเริ่มต้นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลียนแบบ แต่ท้ายที่สุด ผู้ดำเนินรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” หาจุดลงตัวของตนเองเจอ และทำให้รายการของตนเอง กลายเป็นภาพจำของช่องอมรินทร์ทีวี และทุบทุกความเชื่อในการทำผังรายการทีวี เพราะถ้าจะให้บอกว่า “ทุบโต๊ะข่าว” ทำให้อมรินทร์ทีวี ติด 1 ใน 10 ของการจัดอันดับก็ไม่ผิดนัก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงช่วงแรกของดิจิตอล ทีวี ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะหลังจากการรับชมทีวีผ่านเข้าสู่ระบบ ดิจิตอลแบบเต็มรูปแบบคงต้องมาดูกันอีกทีว่า ช่องที่มีกำลังและสายป่านยาวๆ จะปรับตัวกันอย่างไร เพราะปัจจุบันสื่อโทรทัศน์ไม่ใช่สื่อร้อนเหมือนในอดีตแล้ว การรับชมความบันเทิงของผู้ชมในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปแพลทฟอร์มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Youtube หรือ Line TV เหล่านี้ล้วนทำให้ความสำคัญของโทรทัศน์ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และท้ายที่สุด ดิจิตอล ทีวีในอนาคตจะเหลือแค่ 10 ช่องอย่างที่นักวิชาการหลายคนทำนายเอาไว้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เราคงได้เห็นในช่วงเวลาต่อจากนี้อีกไม่เกิน 10 ปี