พอกันที! “พี่ไม่อยู่หนูทำไม่ได้” ทริกทำงานคนเดียวอย่างมีคุณภาพ

ฉันเหนื่อย! อาการหมดไฟหรือ Burnout เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในที่ทำงาน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่คนเข้าใจกันนั้นคือมาจากความเหนื่อยล้าเป็นหลัก ซึ่งก็มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าในการทำงาน เช่น งานที่หนักเกินไป

แต่อีกหนึ่งสาเหตุของความเหนื่อยล้าที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป และมีผลเป็นอย่างมากนั่นก็คือ “ความรู้สึกโดดเดี่ยว” ในที่ทำงาน หรืออาจเกิดจากในช่วงที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานทยอยลาออกไปทีละคน ๆ จนรู้ตัวอีกทีก็เหลือเราคนเดียวที่ยังทำงานอยู่! ยิ่งคนรู้สึกโดดเดี่ยวมากเท่าไร ก็จะยิ่งเหนื่อยล้ามากขึ้นเท่านั้น ทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของความเหนื่อยล้า และนำไปสู่อาการหมดไฟในที่สุด บวกกับภาระที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องงาน ประหนึ่งว่าอะไร ๆ ก็ฉัน จนทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า อยากเกิดสภาวะทิ้งตัว แบบไม่เอาอะไรแล้ว อยากพัก อยากลาออก ออกไปให้พ้นจากจุดที่เป็นอยู่

ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับงานที่ทำได้ไม่มากก็น้อย หากคุณมีสภาวะนี้อาจต้องกลับมาทบทวนตัวเองกันสักหน่อย เพื่อนร่วมงานของคุณที่ทยอยลาออกกันไปนั้น เขาไม่ต้องมาร่วมรับผิดชอบเรื่องงานกับคุณแล้ว มีเพียงแค่คุณเท่านั้นที่ยังต้องเผชิญหน้ากับงานกองโตตรงหน้า หากคุณยังมีสภาวะหมดไฟอยู่ คุณเองนั่นแหละอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณนั้นลดลง และผลกระทบที่ได้รับคือ เพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือแม้แต่เจ้านายของคุณเอง อาจมองว่าที่ผ่านมา ผลงานที่ดีอาจไม่ได้มาจากตัวคุณเลย

เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งหมดนี้ ได้ชี้ไปที่ข้อเท็จจริงว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวในที่ทำงานนั้น มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานจริง โดยจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นอาการหมดไฟในที่สุด ดังนั้นเรามาปฏิวัติความรู้สึกนี้ ให้คุณสามารถทำงานคนเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพกันเถอะ

ให้เวลาตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงที่เร็วจนไม่ทันได้ตั้งตัว แอบทำให้เรารู้สึกอยากลาออกตามเพื่อนเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่ใจเย็นก่อน! ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นเพราะความวิตกกังวลทางสังคมอย่าง “FOMO” (Fear of Missing Out) อยู่ก็เป็นได้ สิ่งที่เราควรทำเมื่อสังคมและสภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนไป คือ ให้เวลาตัวเอง ระหว่างนี้เราอาจตั้งคำถามและย้อนมองดูว่า สิ่งใดบ้างที่ “สำคัญ” กับชีวิตการทำงานของเรา ทั้งในตอนนี้และในอนาคต “เป้าหมายด้านอาชีพ” ของเราคืออะไร และงานที่ทำอยู่นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของเราในอนาคตหรือไม่

เราอาจยังต้องสำรวจด้วยว่าทักษะและความสามารถของเราในตอนนี้มีอะไรบ้าง ยังมีทักษะไหนบ้างที่เรายังต้องพัฒนาและงานที่ทำอยู่สามารถช่วยพัฒนาทักษะนี้ได้หรือเปล่า บางทีเราอาจพบว่า เรากับบริษัทยังมีเป้าหมายเดียวกันและให้ความสำคัญในสิ่งเดียวกันอยู่ ไม่แน่ การมีเวลาได้นั่งไตร่ตรองอาจทำให้ไฟในการทำงานของคุณลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งก็ได้

วางแผนงานสำหรับตัวเองใหม่

การวางแผนเป็นบันไดขั้นแรกสู่ความสำเร็จเสมอ หากงานหลายงานมากองรวมอยู่ที่คุณเพียงคนเดียว คุณเองต้องแบกความรับผิดชอบนี้ไว้มากมาย การวางแผนงานและจัดลำดับความสำคัญของงาน อาจเป็นตัวช่วยชั้นดีให้คุณได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร หรือขอความช่วยเหลือจากใครเลย

การวางแผนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณเห็นภาพของงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจนแต่ละระดับงาน อาจไล่ตั้งแต่งานสำคัญมากที่ต้องทำให้เสร็จก่อนอื่นอื่น ๆ เป็นโปรเจ็กต์งานใหญ่ จนไปถึงงานเล็ก ๆ ที่อาจไม่ต้องใช้ความสามารถในการทำงานสักเท่าไรก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและมีการประสานงานที่ดีขึ้น

ในเวลาเดียวกันก็ช่วยให้มองเห็นว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่จะไม่ช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมาย ก็เป็นการช่วยลดความสิ้นเปลือง ประหยัดเวลาและใช้ร่างกายน้อย ไม่โหมงานหนักเกินไป อีกทั้งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ดีได้อีกด้วย

ตัดสินใจอย่างถูกต้อง

“การตัดสินใจ” อาจเป็นหนึ่งในข้อดีข้อเดียวของการทำงานคนเดียวเลยก็ว่าได้ เพราะจะช่วยให้ตัดสินใจได้ทันที ไม่ต้องรอใครมาออกเสียงข้างมาก แต่กลับกัน การตัดสินใจนั้นจะผิดหรือถูกก็ต้องลุ้นกันต่อไป เพราะเราไม่มีใครคอยช่วยวิเคราะห์และมองได้ไม่ครบทุกมุม แต่การทำงานเป็นทีมถึงแม้จะเสียเวลาในการถกเถียงกันไปบ้าง แต่ก็ช่วยให้เราเลือกทางที่ดีที่สุดได้เช่นกัน ทั้งนี้หากคุณต้องตัดสินใจคนเดียวต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วน ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจก่อนตัดสินใจเสมอ

ลงมือทำอย่างตั้งใจ

เมื่อคุณวางแผนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือทำอย่างตั้งใจ ด้วยความปรารถนาที่คุณมี โดยไม่หยุดหรือล้มเลิกกลางคัน อย่าให้ความสงสัยหรือความไม่แน่นอนมาเป็นอุปสรรค ก้าวไปข้างหน้าตามแผนการที่คุณวางไว้ คุณจะเข้าใกล้เป้าหมายทีละน้อย เมื่อสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน ควรทบทวนว่า คุณได้ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง เพื่อให้กำลังใจตัวเองในการเดินหน้าเพื่อความสำเร็จต่อไป

เป็นทั้งครูและนักเรียน

แน่นอนว่าหากเพื่อนร่วมงานทยอยกันลาออกจนเกือบหมดแบบนี้ บริษัทเองก็ต้องมีการรับพนักงานใหม่เข้ามา ในฐานะพนักงานเก่าที่มีประสบการณ์ เราต้องสอนงานบางอย่างให้พนักงานที่เข้ามาใหม่ แม้จะฟังดูน่าเบื่อบ้าง แต่เราก็ได้ประโยชน์จากหน้าที่นี้หลายอย่าง เช่น การทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ และการได้ทวนขั้นตอนการทำงานให้ละเอียดอีกครั้ง ระหว่างนี้เราอาจค้นพบโดยบังเอิญว่าขั้นตอนบางอย่างเป็นปัญหา ต้องการการแก้ไข หรือบางขั้นตอนมีวิธีการทำงานที่ดีกว่านี้

แต่นั่นหมายความว่าเราต้องรับหน้าที่เป็น “ครู” สอนงานและถ่ายทอดงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เราสามารถเป็น “นักเรียน” และใช้โอกาสนี้เรียนรู้แง่มุมใหม่ ๆ จากพนักงานใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้ บางทีคนหน้าใหม่เหล่านี้อาจมีไอเดียเด็ด ๆ ที่เรามองไม่เห็นเพราะถูกแนวคิดแบบ “ก็ทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว” บังตาอยู่

มีทัศนคติเชิงบวกเสมอ

ทัศนคติเชิงบวกถือเป็นกุญแจดอกแรกที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ เพราะทัศนคติที่ดีจะช่วยให้คุณหาทางเดินไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ คนที่คิดบวกจะมีพลังบวกในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งพลังนี้จะช่วยป้องกันคุณจากความรู้สึกแย่ ๆ เวลาที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่หวัง