ศิลปะบำบัดจิตใจ เปลี่ยนความว้าวุ่นกลุ้มใจเป็นความสุขสงบ

ทุกคนต่างก็มีนิสัยโกหกเป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวดทางจิตใจ เรามักจะโกหกเพื่อปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงบางอย่าง โดยคำพูดที่คนเราโกหกบ่อยที่สุดคือ “ไม่เป็นไร” ทั้งที่ลึก ๆ แล้วเราเป็น! แต่หลายคนก็เลือกที่จะเก็บมันไว้ในให้ลึกที่สุด ไม่รับฟัง ไม่รับรู้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังเผชิญกับเรื่องแย่ ๆ พยายามจะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ เก็บไว้ กดไว้ อัดกันอยู่ในใจจนแน่นไปหมด เหมือนจะดีนะ แต่จริง ๆ มันคือระเบิดเวลาที่รอวันทำลายทุกอย่างเท่านั้น พอถึงจุดหนึ่งที่เราไม่ไหว อัดอะไรลงไปเก็บไว้ไม่ได้อีกแล้ว มันก็จะระเบิดออก ถ้ายังไม่หาวิธีบำบัดหรือจัดการกับสภาวะอารมณ์แย่ ๆ อาจเกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

ปกติแล้วเวลาที่เรามีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ การปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุด เพราะเราไม่อาจวินิจฉัยได้ด้วยตัวเองว่าความรู้สึกทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข เป็นเพียงความเครียดชั่วครั้งชั่วคราวที่เกิดขึ้น หรือเรามีความผิดปกติ มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจอื่น ๆ ในกรณีนั้นก็ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องกินยาตามแพทย์สั่งจนกว่าจะหาย แต่ถ้าเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงจะพัฒนาไปเป็นอาการเจ็บป่วย เราอาจจะยังบำบัดให้ทุเลาลงได้ทันเวลา หนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมคือการบำบัดด้วยสิ่งที่ให้ความสุนทรียภาพอย่าง “ศิลปะ”

ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางศิลปะในหลากหลายรูปแบบ อาจจะเป็นการวาดภาพ การระบายสี การปั้น การแกะสลัก การย้อม การประดิษฐ์ งานฝีมือต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้แสดงออกความรู้สึกนึกคิดที่อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดหรือภาษาผ่านสื่อศิลปะอย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้สำรวจภายในจิตใจของตนเอง สามารถเปิดเผยตัวตนและสื่อสารผ่านงานศิลปะอย่างเป็นอิสระ โดยผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นยังนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัยอาการเจ็บปวดทางใจได้ด้วย ดูจากการแสดงออกทางผลงาน

นอกจากนี้ กระบวนการบำบัดยังช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้ผ่อนคลายจากความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวดเกิดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การเติบโตทางความคิด ทำให้เกิดกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาจิตใจด้วยตนเอง โดยกิจกรรมทางศิลปะจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนักบำบัดที่เชี่ยวชาญ เพราะต้องมีการให้คำแนะนำและการประเมินจิตใจด้วย

แต่สำหรับใครที่เพียงแค่มองหาวิธีระบายออกซึ่งความทุกข์หรือความเครียดในใจ ก็อาจจะใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกันกับศิลปะบำบัดได้ เพื่อให้ตนเองได้ปลดปล่อยจินตนาการ ฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ และมีอารมณ์เบิกบาน เพราะหัวใจของ “ศิลปะบำบัด” คือ การที่เราได้ปลดปล่อย รู้สึกสบายใจ สงบ มีสมาธิ มีความสุข และมีการพัฒนาทางอารมณ์ที่ดีขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร สวยไม่สวยเป็นเรื่องของทักษะและการเรียนรู้ที่ต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องไม่เกี่ยวกับการเยียวยาบำบัด แค่ปล่อยให้ศิลปะได้ซึมซาบเข้าไปจรรโลงจิตใจ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ บำบัดจิตใจที่ว้าวุ่นและแข็งกระด้างให้สงบและอ่อนโยนลง

ศิลปะช่วยให้ยอมรับและปลดปล่อยสภาวะอารมณ์ของตัวเอง

หากไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร จะเลือกใช้ศิลปะในการบำบัดจิตใจก็ได้ ให้ศิลปะเป็นสื่อกลางแทนคำพูดและภาษาในการอธิบายถึงสภาวะหรือห้วงความรู้สึกนึกคิด การสร้างสรรค์งานศิลปะในบรรยากาศที่ปลอดภัย จะสนับสนุนให้เราได้เข้าใจจิตใจของตัวเอง สามารถเชื่อมโยงถึงความคิดและความรู้สึกในประสบการณ์ที่ยากลำบาก มุ่งพัฒนาคุณภาพจิตใจให้มีอิสระมากขึ้น เกิดความตระหนักรู้ ยอมรับ เติบโต และปลดปล่อยสิ่งที่ต้องแบกรับไว้มาตลอดออกมาผ่านผลงานศิลปะ ที่ไม่ได้ประเมินค่าว่าสวยหรือไม่สวย แต่หัวใจอยู่ที่ทำให้เราสงบ ปลดปล่อยสภาวะทางอารมณ์ออกมา

ศิลปะระบายความเครียด

ปกติแล้วคนเรามีวิธีระบายความเครียดแตกต่างกัน สำหรับบางคน ความเครียดจะกลายเป็นพลังงานมหาศาลที่ต้องปล่อยออกมาไม่งั้นอึดอัดแย่ อยากใช้กำลัง ใช้แรงกับอะไรสักอย่าง จึงหาทางระบายความเครียดด้วยการออกกำลังกายหนัก ๆ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่ได้เป็นสายบู๊ แค่อยากจัดระเบียบความคิดให้เข้าที่เข้าทาง อยากเอาสิ่งที่รบกวนจิตใจออกไป ฉะนั้น ขอเพียงแค่ได้ขีด ๆ เขียน ๆ ระบาย ละเลงสีตามใจชอบ หรืออาจจะใช้กำลังบางส่วนในการนวดดินปั้นดิน แม้แต่การเขียนด่าทอหรือสบถใส่กระดาษแล้วทำลายทิ้ง อารมณ์ที่เครียด ๆ อยู่ก็จะดีขึ้นมา

ศิลปะปรับปรุงและพัฒนาสภาวะทางจิตใจ

ประโยชน์ของการใช้ศิลปะบำบัดจิตใจ ไม่ใช่แค่ได้ปลดปล่อยสภาวะทางอารมณ์และระบายความเครียดออกไป แต่ระหว่างที่เรากำลังสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมานั้น เรายังสัมผัสได้ถึงสติและสมาธิ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนาสภาวะทางจิตใจ คำกล่าวที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย “สติ” คือการที่เราสามารถรู้สึกตัว ระลึกได้ ส่วน “สมาธิ” เป็นการตั้งมั่นแห่งจิต ความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าเราพัฒนาตนเองให้รู้ตัวได้อยู่เสมอว่ากำลังทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร มันจะช่วยให้เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น เพื่อหาหนทางไปสู่ความสงบทางใจ

ศิลปะช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง

บางทีคนเราก็มัวแต่สนใจที่จะมอบความรักความปรารถนาดีให้กับผู้อื่น แต่ลืมให้ความรักกับอีกคนหนึ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือตัวเราเอง หลาย ๆ คนไม่สามารถรู้สึกรักตัวเองได้เพราะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ศิลปะบำบัดจะช่วยให้เราเปลี่ยนรูปแบบการคิด พฤติกรรมได้ เพราะการแสดงความคิดสร้างสรรค์ การมอง และตีความศิลปะ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ ใช้ศิลปะเป็นกุญแจไขเข้าไปค้นหาตัวเอง เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง การสร้างงานศิลปะสำเร็จออกมาทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองก็มีคุณค่า ได้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงมีทัศนคติต่อตัวเองดีขึ้น

ศิลปะสร้างความรื่นรมย์ ชาร์จพลังชีวิต

ศิลปะมีขึ้นเพื่อจรรโลงใจอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การเสพศิลปะเท่านั้นถึงจะรู้สึกรื่นรมย์ แต่การสร้างผลงานขึ้นมาเองก็ช่วยให้ได้สัมผัสถึงความรื่นรมย์เช่นกัน อย่างศิลปะบำบัดนี้เป็นรูปแบบของการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ที่ช่วยให้คนทุกเพศทุกวัยได้สำรวจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง จัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต หลีกหนีเรื่องวุ่นวายในชีวิตประจำวันไปนั่งท่ามกลางธรรมชาติ มองอะไรที่มันสวย ๆ งาม ๆ ทำงานศิลปะเพลิน ๆ เปิดเพลงคลอเบา ๆ ชาร์จพลังชีวิตได้ดีทีเดียว