หนึ่งเปอร์เซ็นต์ ที่เป็นปัญหา
เคยเรียกแท็กซี่ แล้วถูกปฏิเสธกันไหมคะ แหม..จั่วหัวมาแบบนี้หลายคนคงบอกว่า “ไม่เคยมั้ง” เพราะคนที่อยู่กรุงเทพฯ หรือ คนที่เดินทางมาทำธุระในกรุงเทพฯ แล้วไม่ถูกแท็กซี่ปฏิเสธในการให้บริการนี่ถือว่าทำบุญมาดี ได้เจอ 99 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือของแท็กซี่แสนดีตามที่ กรมขนส่งฯ รายงานไว้ว่าแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารมีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ทว่าไอ้เจ้าหนึ่งเปอร์เซ็นต์นี้ดันเป็นจำนวนที่คนเกือบทั่วทั้งมหานครเจอกันโดยถ้วนหน้า
เหตุผลที่แท็กซี่ปฏิเสธ ผู้โดยสารนั้นเหมือนเป็นบัญญัติที่ต้องท่องให้ได้สำหรับคนขับก่อนจะเอารถออกถนน อย่างข้อแรกที่เคยเจอกันเวลาถูกแท็กซี่ปฏิเสธ คือ รถติดไม่ไปหรอก ส่งกะไม่ทัน (นะ ขับแท็กซี่ในเมืองที่มีสถิติการจราจรติดขัดติดอันดับโลก) แก๊สหมด (ข้ออ้างสุดคลาสสิก ก็ไม่เข้าใจว่าคนขับไม่สามารถคำนวณได้หรือว่าแก๊สหนึ่งถังจะสามารถขับไปได้ไกลกี่กิโลเมตร) แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือแท็กซี่ ที่จอดต่อแถวกันตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือ ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง เพื่อรับผู้โดยสารที่เป็นต่างชาติเท่านั้น
อันที่จริงแล้วปัญหาแท็กซี่ ปฏิเสธผู้โดยสารมีมานานแล้ว เรียกว่ามีมาตั้งแต่สมัยที่แท็กซี่ ยังไม่ติดมิเตอร์ จนปัจจุบัน มิเตอร์แท็กซี่ จะถูกปรับราคาเป็นครั้งที่เท่าไรก็คร้านที่จะนับ แต่ที่น่าแปลกใจคือ จำนวนแท็กซี่ในปัจจุบันนั้นเพิ่มมากกว่าในอดีต หลังมีการเปิดเสรีแท็กซี่ แต่ทำไมผู้ใช้บริการยังต้องเจอกับเหตุการณ์ปฏิเสธผู้โดยสาร ชนิดรายวัน
ขอมองจากมุมผู้โดยสารก่อน เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการที่เคยถูกปฏิเสธ จนต้องถามคนขับว่า “แล้วตกลงจะไปไหน” ในอารมณ์ที่วัยรุ่นสมัยนี้ใช้คำว่า “หัวร้อน” กันเลยทีเดียว สำหรับผู้ใช้บริการนั้นมองว่าการใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะนั้นเป็นการให้บริการอย่างหนึ่ง ตามข้อตกลงที่รับทราบกันทางกฎหมายว่ามีราคาเริ่มต้นระยะทางที่เท่าไร และ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธตามบทบัญญัติตามกฎหมายกำหนด
แต่สำหรับ คนขับแท็กซี่ ในมุมมองของพวกเขานั้นมองว่าแม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ให้บริการแต่ก็มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะรับหรือไม่รับ แม้ว่าอาชีพที่ทำอยู่เป็นการขับรถรับจ้างสาธารณะซึ่งเป็นอาชีพบริการ ที่มีข้อตกลงในการประกอบอาชีพ การปฏิเสธผู้โดยสารถือว่ามีความผิดตามบทบัญญัติทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการมองในสิทธิของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคารพในหน้าที่หรืออาชีพที่ตนเองเลือก
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขับรถรับจ้าง ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นนั้นต้องมีการกำหนดใบอนุญาต หรือ สอบใบอนุญาตเพื่อให้คนขับ รู้ในสิทธิและหน้าที่ของตนเองมิใช่ อ้างแต่สิทธิส่วนตัวของตนเองจนกระทั่งลืมไปว่า อาชีพที่เลือกทำอยู่นั้นมีข้อปฏิบัติอย่างไร
ดังนั้นต้นทางของการแก้ไข ที่กรมขนส่งทางบกควรจะทำตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อแก้ไขปัญหาคือการ ออกมาตรการในการควบคุม และ จัดเกณฑ์มาตรฐานของผู้ที่จะมาประกอบอาชีพขับแท็กซี่ เพราะถ้าปล่อยให้ใครก็ได้ เดินเข้าอู่แท็กซี่แล้วเอารถออกมาขับ พอเกิดเรื่องทีก็แค่ให้โทรไปร้องเรียน และทำโทษปรับเพียงเล็กน้อย เรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมเมืองกรุง แบบไม่มีวันจบสิ้นแน่นอน