คนไทยป่วยด้วยมะเร็งอะไรบ้าง หากรู้เร็ว รักษาทัน ก็ป้องกันได้

หากพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ใคร ๆ ก็กลัว คงจะหนีไม่พ้น “โรคมะเร็ง” ซึ่งการที่มะเร็งเป็นโรคที่ทุกคนต่างหวาดกลัวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพราะมะเร็งถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดของประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มะเร็งจึงกลายโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี พรากสมาชิกในครอบครัวของใครหลาย ๆ คน ทำให้ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปก่อนวัยอันควร

ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่ามะเร็งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับแทบจะทุกอวัยวะในร่างกาย ต่อให้เราพยายามป้องกันความเสี่ยงจากมะเร็งที่พบบ่อย ๆ มันก็อาจจะไปพบในอวัยวะที่เราไม่ทันได้ระวังก็เป็นได้ แถมไม่ได้รู้ตัวได้ง่าย ๆ ด้วยว่าก้อนมะเร็งกำลังเติบโตในร่างกาย หลาย ๆ คนกว่าจะรู้ก็โรคก็ลามไปขั้นที่รุนแรงและเริ่มแสดงอาการให้เห็นหนักแล้ว เราจึงไม่ทันได้ระวัง ป้องกัน แม้แต่รักษายังอาจจะช้าเกินไปเลยด้วยซ้ำ พอรู้เข้าว่าป่วยสภาพจิตใจก็แย่ ร่างกายก็พลอยทรุดตาม พฤติกรรมเสี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมนานวันล้วนทำให้มะเร็งเข้าหาเราโดยที่เราเองก็ไม่ทันรู้ตัว

อันที่จริง ความน่ากลัวของโรคมะเร็งไม่ได้มีอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะสถานการณ์โรคมะเร็งของโลก ก็ระบุว่าโรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เกิดการประชุม World Summit Against Cancer ขึ้น และตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก มาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว ส่วนในไทย ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ”

สถานการณ์โรคมะเร็งของไทยข้อมูลล่าสุดจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปัจจุบัน คนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คนหรือ 139,206 คนต่อปี และสถิติสาธารณสุขปี พ.ศ.2562 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปีเลยทีเดียว และอุบัติการณ์โรคมะเร็งในไทย พบโรคมะเร็งในเพศหญิงวันละ 159 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (อันดับที่ 15 ของเอเชีย) และพบในเพศชายวันละ 173.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (อันดับที่ 16 ของเอเชีย)

ชายไทย-หญิงไทย เสี่ยงต่อมะเร็งอะไรบ้าง

ภาพจาก Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

มะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในปีพ.ศ.2563 สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้จัดทำทะเบียนมะเร็งในระดับโรงพยาบาล พบว่า 10 อันดับแรกในผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2563 เพศชาย มีจำนวน 1,036 คน ได้แก่

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 20.7% (258)
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี 19.0% (237)
  • มะเร็งหลอดลมและปอด 12.9% (159)
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก 7.1% (89)
  • มะเร็งหลอดอาหาร 6.9% (86)
  • มะเร็งช่องปาก 5.4% (67)
  • มะเร็งช่องจมูก 3.6% (45)
  • มะเร็งคอหอย 3.1% (38)
  • มะเร็งกล่องเสียง 2.6% (29)
  • มะเร็งตับอ่อน 2.2% (28)

มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ส่วนทะเบียนเล่มเดียวกันของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่ามะเร็งที่พบมาก 10 อันดับแรกในผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2563 เพศหญิง จำนวน 1,486 คน ได้แก่

  • มะเร็งเต้านม 39.8% (654)
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 12.3% (201)
  • มะเร็งปากมดลูก 11.1% (182)
  • มะเร็งหลอดลมและปอด 6.9% (115)
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี 5.3% (87)
  • มะเร็งมดลูก 5.1% (84)
  • มะเร็งรังไข่ 3.5% (58)
  • มะเร็งช่องปาก 2.4% (39)
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร 2.1% (35)
  • มะเร็งไทรอยด์ 1.9% (31)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลมะเร็งที่พบบ่อยของผู้ป่วยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 5 อันดับ คือ

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อแดง เนื้อแปรรูป การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่างอาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารไขมันสูงหรือมีกากใยน้อย การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน และการดื่มแอลกอฮอล์
  2. มะเร็งตับและท่อน้ำดี มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การได้รับสารอะฟลาทอกซิน (เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่มักพบในอาหารแห้ง) ความเป็นพิษของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด และการได้รับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง (พบผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศอันดับ 1)
  3. มะเร็งปอด มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่ การได้รับรับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งทางอากาศ
  4. มะเร็งเต้านม มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่างอาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน รวมถึงการสัมผัสเข้ากับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อาจปนเปื้อนมาในห่วงโซ่อาหาร เช่น ดีดีที ดีลดริน อัลดริน
  5. มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ Human Papillomavirus (HPV) และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

คนไทยตายเพราะมะเร็งไปเท่าไร

จากข้อมูลการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรงมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2561-2565 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในปีพ.ศ.2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 70,075 คน เป็นเพศชาย 40,161 คน เพศหญิง 29,914 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของชายไทยในปีพ.ศ.2557 ได้แก่

  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • มะเร็งช่องปากและคอหอย
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว

โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของหญิงไทยในปีเดียวกัน ได้แก่

  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็ง รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันได้

เพราะความน่ากลัวของโรคมะเร็ง ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลว่าตนเองหรือครอบครัวอาจจะโชคร้ายตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งเข้าสักวัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่สำคัญ คือต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกาย เพื่อจะรู้ตัวเร็วและพบแพทย์ได้ทันการ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดี ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ แนะนำให้สังเกตจากสัญญาณเตือน 7 ประการ ได้แก่

  • ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสียเรื้อรัง ปัสสาวะขัดเรื้อรัง มีก้องขรุขระในช่องท้อง อุจจาระลำเล็กลง
  • เป็นแผลเรื้อรังไม่รู้จักหาย เช่น แผลในปากเรื้อรัง แผลเรื้องรังที่กระเพาะอาหาร แผลเรื้องรังที่ผิวหนัง แผลเรื้อรังที่หัวนม แผลเรื้อรังที่หู คอ จมูก
  • ร่างกายมีก้อนตุ่ม เช่น ต่อมไทรอยด์โต มีตุ่ม ก้อนที่เต้านม ที่ผิวหนัง ที่รักแร้ หรือที่คอเรื้อรัง
  • กลืนกินอาหารลำบาก เช่น กลืนเจ็บ กลืนลำบาก จุกแน่นท้องเรื้อรัง น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้องเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนเรื้อรัง
  • ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล เช่น เลือดกำเดาออกเรื้อรัง เลือดออกทางหัวนม เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ่ายเป็นเลือด ประจำเดือน/ตกขาวผิดปกติ
  • ไฝหูดเปลี่ยนไป เช่น ไฝหูดโตเร็วผิดปกติ
  • ไอและเสียงแหบเรื้อรัง เช่น เสียงแหบเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
  • อาการอื่น ๆ เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอกร่วมกับเจ็บหัวไหล่ เหงื่อออกกลางคืน ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องเสียเรื้อรัง รักษาแล้วไม่ดีขึ้นใน 3 สัปดาห์ หูอื้อเรื้อรัง อ่อนเพลียร่วมกับตรวจพบโลหิตจาง ขาทั้ง 2 ข้างบวม เป็นต้น

ตรวจคัดกรอง ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลงได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างทันท่วงที เพราะยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะความเสี่ยงในการพบโรคต่าง ๆ นั้นถือว่ามากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว แล้วควรจะตรวจมะเร็งแต่ละชนิดเมื่อไรถึงจะป้องกันความเสี่ยงได้ แบ่งตามอันดับของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ดังนี้

มะเร็งตับ คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี และไม่แสดงอาการในระยะแรก แพทยจึงแนะนำให้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป

มะเร็งเต้านม ปกติแล้วมะเร็งเต้านมซึ่งพบเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ช่วงอายุเฉลี่ยที่พบได้มีตั้งแต่อายุ 35-55 ปี ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 30-39 ปี ควรตรวจคัดกรองทุก 3 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุกปี และคลำเต้านมแล้วพบความผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

มะเร็งปอด มะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในไทย ซึ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่ รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่สูบบุหรี่

มะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกมักพบมากในเพศหญิงอายุประะมาณ 40 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของปากมดลูก ซึ่งมีทั้งการตรวแพปสเมียร์ และตรวจหาเชื้อ HPV โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ หญิงที่มีคู่นอนตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือหลายคน, มีบุตรจำนวนมาก, สูบบุหรี่จัด, ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) รวมถึงผู้หญิงที่เคยตรวจภายในเลยด้วย

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักพบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของคนไทย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มักจะพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งอายุเฉลี่ยที่ตรวจพบในคนไทยอยู่ระหว่าง 60-65 ปี แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป