
2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถ้าย้อนกลับไปในปี 2540 ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น และ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมประกาศใช้นโยบายเพื่อสู้กับวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในเวลานั้นด้วยการลดค่าเงินบาท และ ขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)
พลันที่สิ้นสัญญาณการถ่ายทอดสด ค่าเงินบาทจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็อ่อนตัวลงชนิดที่หาทางหยุดไม่เจอถึงกับไปแตะระดับที่ 52 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างชาติกลายเป็นหนี้แบบดับเบิ้ลเพียงข้ามคืน (และแน่นอนว่า มีบางกลุ่มที่รู้ข่าวก่อนฉกฉวยโอกาสร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีจากวิกฤตการณ์นี้)
จากปี 2540 มาจนถึง 2560 เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้ว 20 ปีและเพื่อไม่ให้ลืมอดีตที่เราเคยสูญเสียอิสรภาพทางการเงินกัน Tonkit360 เชิญคุณผู้อ่านมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศด้วย “คำศัพท์” ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นกัน
เสือเศรษฐกิจ : จุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นเริ่มมาจากการไหลบ่าเข้ามาของเงินทุนจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุน และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ถึงขนาดที่สมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียก้าวพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
พอล ครุกแมน : นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล และ ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล บิล คลินตัน ได้เตือนถึงความผิดปกติที่เงินทุนทั่วโลกไหลบ่าเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า เป็นปรากฎการณ์ที่ผิดปกติ เพราะเป็นการไหลผ่านของเงินเพื่อทำผลกำไรระยะสั้นไม่ใช่การลงทุนเพื่อให้เกิดผลผลิตเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง แต่คำเตือนของ พอล ครุกแมน ในเวลานั้นดูเหมือนจะไม่สามารถฉุดรั้งผู้คนที่กำลังหลงใหลอยู่กับทรัพย์สินและเงินตราได้
วิกฤตต้มยำกุ้ง : ชื่ออย่างไม่เป็นทางการของการเรียก Asian financial crisis หรือ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย เนื่องจากต้นตอของวิกฤตนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทยหลังจากรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแบบกู่ไม่กลับ จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐกลายเป็น 52 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์ สหรัฐ ทำให้บรรดานักลงทุนที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างชาติล้มกันระนาว
ไอเอ็มเอฟ : ไอเอ็มเอฟคือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับยาแรงเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ โดย
ไอเอ็มเอฟ ที่สั่งให้ไทยเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยได้อย่างเสรี สามารถซื้อกิจการของไทยได้ ระบบเศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบจนต้องมีการลดจำนวนพนักงานลง ธุรกิจต้องล้มละลายไปเป็นจำนวนมาก เพราะไทยไม่มีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน
56 ไฟแนนซ์ : สืบเนื่องจากการขอความช่วยเหลือ ไอเอ็มเอฟ ทำให้รัฐบาลต้องปิดสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เบื้องต้นนั้นรวมแล้ว 58 สถาบันการเงิน ภาพของพนักงานที่ขนของออกจากออฟฟิศ และ เปิดท้ายขายของกลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา และจาก 58 สถาบันการเงินที่ถูกปิดมีเพียงสองแห่งที่รอดมาได้ คือ ธนาคารเกียรตินาคิน ในปัจจุบันและ บางกอกอินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือ บมจ. อยุธยา โทเทิล โซลูชั่น เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา
จอร์จ โซรอส : นักลงทุนที่ เห็นความอ่อนไหวของค่าเงินบาท และ เฝ้าดูการต่อสู้ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายอื่น จอร์จ โซรอส เห็นจุดอ่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้มงวดในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงตัว หากค่าเงินบาทอ่อนจะเข้าไปแทรกแซงทันที กองทุนของโซรอส จึงปรากฏขึ้นในตลาดการเงิน และเข้าโจมตีค่าเงินบาทแบบไม่ยั้ง จนท้ายที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพ่ายแพ้ด้วยเงินทุนสำรองที่น้อยกว่า แน่นอนว่าความสำเร็จของโซรอสสร้างผลกำไรให้กับกองทุนของเขาได้หลายพันล้านดอลล่าร์
ธนาคารแห่งประเทศไทย : ขณะที่โซรอส คือผู้ร้ายใส่สูท ในฐานะนักลงทุนที่เข้ามาทุบค่าเงินบาทจนร่วงติดฟลอร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ในเวลานั้นดูเหมือนจะเสียเครดิตไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกลุ่มการเมืองเข้าไปแทรกแซง ความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพยุงค่าเงินบาทไว้ให้เสถียรที่สุดส่งผลให้ ผู้ว่าการในเวลานั้น นายเริงชัย มะระกานนท์ ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ก่อนที่จะถูกศาลแพ่งสั่งให้พ้นข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นี่เอง
มาเลเซีย และ ดร.มหาเธร์ : มาเลเซียต่างจาก ไทย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้ที่ไม่ขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ดร.มหาเธร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเวลานั้นได้ใช้นโยบายควบคุมค่าเงินริงกิต อัตราแลกเปลี่ยน และการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ นอกจากนี้ยังลดการนำเข้าสินค้าประเภทอุตสาหกรรม พร้อมกับอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการผลิตให้มากขึ้น และได้ออกนโยบายควบคุมเงินทุน โดยกำหนดดอกเบี้ยให้อยู่ในอัตราต่ำ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและประคับประคองธุรกิจมิให้เผชิญกับภาวะล้มละลาย ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้มาเลเซีย ฟื้นตัวจากวิกฤตทางการเงินได้เร็วที่สุด