“วันที่ถอดหมวก” เมื่อนักปฏิวัติพูดถึงอิสรภาพแห่งตัวตน

“ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้หากรักจะมีชีวิตอยู่ ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญมากกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ความกล้าแบบเดิม ๆ”

“วันที่ถอดหมวก” การรวมเอาความเรียงว่าด้วยอิสรภาพแห่งตัวตน ที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ “คนกับคน” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร ค.คน และเวียง-วชิระ บัวสนธิ์ ในฐานะบรรณาธิการของ ค.คน และบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ “สามัญชน” ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า

“ยิ่งเมื่อเทียบกับ “ผ่านพบไม่ผูกพัน” อันเป็นผลงานเล่มก่อนหน้านี้ ซึ่งผมเห็นว่ามีลักษณะนามธรรมค่อนข้างสูง แม้จะงามแต่ไม่ง่าย โดยเฉพาะในแง่ของการแปรสารไปสู่การปฏิบัติจิตใจในชีวิตจริงด้วยแล้ว ผมจึงดีใจแทนผู้อ่าน เพราะงานชุดนี้มีกรณีตัวอย่าง ‘รูปธรรม’ ชัดเจน”

และเป็นดังที่ “ดอนเวียง” หรือพี่เวียง ของน้อง ๆ ได้กล่าวไว้ในข้างต้น จริง ๆ เพราะงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นั้นถ้าใครไม่เคยเสพ อาจจะเบือนหน้าหนีเหมือนเจอยาขม แต่ถ้าได้ลองพลิกอ่านไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางความเงียบรอบด้าน คุณจะรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงของคนเขียน และในบางตัวอักษรจากหนังสือสร้างความรู้สึกกระทบใจอย่างแรงในทุกเล่ม และนั่นคือลายเซ็นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“วันที่ถอดหมวก” น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่ง กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ เมื่อนักปฏิวัติในอดีตพูดถึงอิสรภาพแห่งตัวตน ในโลกที่เขาเองต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

17 บทในหนังสือเล่มนี้ เหมือนได้เห็นการเดินทางผ่านสายตาของคนที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แล้วในวันหนึ่งเมื่อการต่อสู้นั้นจบลงด้วยความจำนน การต่อสู้ภายในจิตใจก็เริ่มต้นขึ้น ซึ่งมันยืดเยื้อและยาวนานกว่า จนกระทั่งเขารู้จักที่จะปล่อยวาง “พลันโลกกลายเป็นสดใส ชีวิตโล่งเบา โดยผมเกือบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม”