ผ่านทางด่วนด้วยระบบ M-Flow ไม่มีไม้กั้น ไม่ต้องจอด-ชะลอจ่ายเงิน

ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่นประเทศเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครรู้ดี ว่าการจราจรนั้นสาหัสขนาดไหน ปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อปัญหาความล่าช้าในการเดินทาง จึงมีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนไม่น้อยที่หนีการจราจรพื้นราบไปใช้ทางด่วน (ที่ไม่ด่วน) เพื่อหวังว่าการจราจรมันจะดีขึ้น

แต่ในเมื่อมีคนคิดแบบเดียวกัน ก็ขึ้นไปแออัดกันอยู่บนทางด่วน ทำให้การสัญจรบนทางด่วนไม่ด่วนอย่างที่คิด โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ที่มีการสะสมของรถปริมาณมาก ณ บริเวณนั้น กว่าจะจ่ายเงินเสร็จ กว่าจะผ่านไปได้แต่ละคัน ยิ่งรถติดขัดมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจได้มากเท่านั้น เพราะการขึ้นทางด่วนไม่ได้ขึ้นฟรี ในเมื่อเสียเงินแล้วก็ควรจะไปได้เร็วกว่าจราจรด้านล่าง

จากข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่าปัญหารถติดหน้าด่านนั้น หลัก ๆ มาจาก

  • ตู้เก็บเงินน้อย
  • ถามทาง
  • ทอนเงิน
  • เติม Easy Pass

โดยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ แบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เพิ่งเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสมัครสมาชิก และทดสอบเสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 น. ทดลองใช้งานจริง ทั้ง 4 ด่านนำร่อง ได้แก่ บนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 ซึ่งระบบจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเดือนมกราคม 2565

ไม่มีตู้ ไม่มีไม้กั้น ไม่มีคนคุม แนวคิดใหม่ลดปัญหาจราจร

จากปัญหา ทำให้เกิดระบบ M-flow ขึ้นมา การทำงานง่าย ๆ ของระบบนี้คือ จากที่มีตู้เก็บค่าผ่านทาง ตู้จะหายไปกลายเป็นช่องทางปกติ ไม่มีตู้ ไม่มีไม้กั้น (ไม่มีคนคุม) จะมีเพียงโครงเหล็กที่ติดตั้งระบบสร้างคร่อมไว้ เมื่อรถวิ่งผ่านก็จะตัดเงินค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (หรือบันทึกว่ารถคันนี้ผ่าน) ระบบนี้จะช่วยให้รถผ่านด่านได้มากขึ้น เพราะการวิ่งผ่าอย่างเดียวไม่ต้องชะลอหรือจอดรอจ่ายเงิน มันช่วยร่นระยะเวลาลงได้มาก ระบบนี้ใช้ในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกามานานแล้ว

บนโครงเหล็กจะมีกล้องที่สามารถจับภาพป้ายทะเบียนรถ คนขับสามารถขับผ่านทางได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์สำหรับตัดเงิน เพราะไปจ่ายเงินทีหลังได้ ด้วยเทคโนโลยี RFID คือ ค่าทางด่วน ที่ไม่ต้องจ่ายบนทางด่วน แต่ก็อาจจะทำให้ทางด่วนเสียรายได้ หากมีข้อผิดพลาดในการจับทะเบียนรถยนต์ การคำนวณที่ไม่ถูกต้อง หรือระบบขัดข้อง อีกทั้งการขับแบบไม่ต้องชะลอที่หน้าด่าน คนขับอาจทำความเร็วสูงกว่าเดิมเสี่ยงจะเพิ่มอุบัติเหตุได้มากขึ้น จึงมีคำถามว่าคนไทยพร้อมแค่ไหนที่จะใช้ระบบนี้ และอาจลดความน่าเชื่อถือของระบบด้วย

ระบบ M-FLOW หรือระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น เป็นระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (State Of The Art) มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ด้วยระบบ Video Tolling ตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition: ALPR) ร่วมกับระบบตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVC) เพื่อตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้ทาง พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ ทำให้รถสามารถวิ่งผ่านด่านฯ ได้อย่างสะดวก คล่องตัว ไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ รองรับความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. สามารถระบายรถเร็วขึ้น 5 เท่า

ที่สำคัญ คือ รองรับการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (postpaid) แถมยังเตรียมช่องทางชำระเงินที่สะดวก ไม่ว่าจะเป็นตัดบัตรเครดิต ตัดบัญชีธนาคาร ด้วยคิวอาร์โค้ด มีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ สามารถจ่ายค่าผ่านทางทั้งแบบรายครั้งและแบบรายเดือน โดยสามารถชำระเงินได้ทางช่องทางต่อไปนี้

  • ชำระเงินด้วยการตัดผ่านบัตรเครดิต/เดบิต
  • ชำระเงินด้วยการตัดผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย
  • ชำระเงินด้วยการตัดผ่านบัตร M-Pass/Easy Pass
  • ชำระเงินด้วยการนำไปชำระเองผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิซ ตู้ ATM และ Mobile Applicatioz

สรุปแล้ว ข้อดีของระบบ M-Flow มีดังนี้

  • ทางด่วนรับรถ รับการจราจรได้มากขึ้น รถวิ่งผ่านด่าน ได้เลย สะดวก รวดเร็ว
  • ใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง เนื่องจากรถไม่ติดหน้าด่าน
  • เปลืองน้ำมันน้อยลง เพราะไม่มีรถติดที่หน้าด่าน
  • ลดมลภาวะ
  • วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง ชำระเงินผ่านหลากหลายช่องทาง
  • ระบายรถเร็วกว่าระบบเดิมถึง 5 เท่า สามารถรับได้ 2,000-2,500 คัน/ชม./ช่องทาง
  • ปลอดภัยลดใช้เงินสด ลดการสัมผัส ลดเสี่ยงโควิด-19
  • ทางด่วนมีรายได้มากขึ้น เพราะรับรถได้ในปริมาณมากขึ้น
  • ต้นทุนในการบริหารทางด่วนน้อยลง ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนคน
  • ถ้าต้นทุนถูกลง ประชาชนควรจะจ่ายค่าทางด่วนถูกลงด้วย

ข้อจำกัดของการใช้งาน

M-Flow ต่างจาก M-PASS/Easy Pass อย่างไร

  • ไม่มีไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน
  • ไม่ต้องชะลอความเร็ว ขับได้ตามปกติ
  • ใช้เทคโนโลยี Video Tolling ระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ
  • ใช้ได้กับรถทุกประเภทบนมอเตอร์เวย์
  • มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย วิ่งก่อน จ่ายที่หลัง

ระบบ M-Flow ในบ้านเรายังอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่ได้มีการใช้งานอย่างเป็นทางการ ดังนั้น พอได้ทดลองใช้งานก็พบปัญหา เพราะการที่ไม่ตู้ ไม่มีไม้กั้น และไม่มีคนคุม รถทุกคันสามารถวิ่งผ่านได้อย่างอิสระ ถ้าหากว่ารถคันนั้นไม่มีบัตร หรือในบัตรไม่มีเงิน ก็เท่ากับรถคันนั้นวิ่งผ่านไปฟรี ๆ

จากการทดสอบที่ผ่านมา โดยเอาไม้กั้นบริเวณช่องจ่ายเงินบนทางด่วนออก ก็พบว่ามีคนขับรถวิ่งผ่านโดยไม่ยอมจ่ายค่าทางด่วนอยู่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทางการพิเศษแห่งประเทศไทยสูญเสียรายได้ราว ๆ 1.4 ล้านบาทต่อวัน จนต้องยกเลิกการนำไม้กั้นออก แล้วหาวิธีอุดช่องโหว่นี้

ซึ่งระบบ M-Flow ที่อยู่ในขั้นทดลอง จะใช้ระบบตรวจจับทะเบียนรถ ร่วมกับ RFID ภายในรถยนต์เพื่อระบุตัวตนของเจ้าของรถ ระบบนี้ถูกวางให้สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบ Post Paid ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (ค่าทางด่วน ที่ไม่ต้องจ่ายบนทางด่วน) หรือจะจ่ายทันทีเป็นครั้ง ๆ ด้วยการตัดเงินโดยอัตโนมัติ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

RFID (Radio Frequency Identification) เป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะรูปแบบหนึ่ง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนเฉพาะเจาะจง หรือเป็นหมายเลขประจำตัว โดยใช้ติดกับวัตถุต่าง ๆ อาศัยคลื่นวิทยุในการทำงาน มีส่วนประกอบสำคัญคือ เครื่องอ่านกับแท็ก แท็กส่งข้อมูลเฉพาะหรือหมายเลขประจำตัวออกมาเป็นคลื่นวิทยุ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเครื่องอ่าน เครื่องอ่านจะรับสัญญาณคลื่นวิทยุไปถอดรหัสข้อมูลที่ส่งเข้ามา

ในเมื่อสามารถใช้ก่อนจ่ายทีหลังได้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานติดตามทวงหนี้ เพราะแม้จะมีระบบบันทึกภาพรถที่ผ่านทางในขณะนั้นทุกคัน แต่การทางพิเศษไม่ได้มีอำนาจในการออกใบสั่ง จึงต้องมีการแก้กฎหมายบางส่วนเพื่อรองรับการใช้งานระบบให้รัดกุมที่สุด โดย RFID ที่ว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ยอมชำระค่าผ่านทางได้ ทั้งชื่อ ที่อยู่ เพื่อให้สามารถติดตามมาจ่ายค่าผ่านทางและดำเนินการตามกฎหมาย

ที่สำคัญอีกอย่าง ถึงเทคโนโลยีจะทันสมัย แต่ความอัตโนมัติมันมีข้อเสีย ว่าหากระบบเกิดขัดข้องขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงระบบ AI ที่ใช้จัดการกับป้ายทะเบียนรถ จะจัดการได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะบ้านเรามีทั้งรถป้ายแดงที่ไม่ยอมจดทะเบียนเป็นป้ายขาวอยู่เยอะพอสมควร หรือหากเป็นรถที่ถูกขโมยมา ถูกสวมทะเบียน AI จะรู้หรือไม่ และจะจัดการอย่างไร ก็ต้องเตรียมแผนรองรับต่อไป

สำหรับการลงทะเบียนสมัครสมาชิก สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ mflowthai.com