เมื่อโพล และ นักวิชาการไม่ใช่ตัวแปรในการเลือกตั้งอีกต่อไป

ผลการเลือกตั้งในอังกฤษ ดูเหมือนจะเป็นไปตามกระแสโลกยุคใหม่ ที่ผลโพล หรือ การคาดเดาของเซียนการเมืองไม่สามารถจูงใจผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ จากที่สื่อในอังกฤษต่างฟันธงว่า การเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษครั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยม จะเป็นฝ่ายได้คะแนนเสียงข้างมากแบบถล่มทลาย แต่กลับกลายเป็นว่าพรรคแรงงาน (Labour) กับมีคะแนนในแบบสูสี และ พรรคอนุรักษ์นิยม ต้องเสียที่นั่งสำคัญไปและไม่ได้เสียงข้างมาก โดยพรรคอนุรักษ์นิยมนั้นได้ที่นั่งในสภาไป 318 เสียง ส่วนพรรคแรงงานได้ 261 เสียง

แน่นอนว่าผู้นำพรรคอย่างนางเทเรซ่า เมย์ อาจต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภา และการเลือกตั้งครั้งนี้จะกลายเป็นการทำเข้าประตูตัวเอง หรือ เป็นหายนะครั้งใหญ่ของพรรคอนุรักษ์นิยมเลยทีเดีย เพราะนั่นหมายถึงการเจรจาเพื่อออกจากกลุ่มอียู หรือ Brexit จะยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า ซึ่งทำให้นางเทเรซ่า เมย์ ต้องยินยอมที่จะจับมือกับพรรค DUP (Democratic Unionist Party) เพื่อจะได้ครองเสียงข้างมากในสภา

ส่วนพรรคแรงงาน หรือ Labour ที่แม้จะไม่ได้ชนะ แต่ก็ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากเดิม และ ที่สำคัญคะแนนเสียงที่ลงให้กับ พรรคแรงงาน และ เจเรมี่ คอร์เบน นั้นเป็นคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ และคนที่เพิ่งมาลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก แน่นอนว่าคะแนนในส่วนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนอังกฤษนั้นต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลการเลือกตั้งดังกล่าว เจเรมี่ย์ คอร์เบน นั้นถึงกับเรียกร้องให้เทเรซ่า เมย์ ลาออก

จะเห็นได้ว่าผลการเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศที่มีขึ้นในปี 2016 – 2017 นั้นแสดงให้เห็นถึงค่านิยม และ ความเชื่อที่เปลี่ยนไป ดังเช่นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แบบไม่มีใครคาดคิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใช้วิธีการแบบถึงลูกถึงคน พร้อมกับวลีแนวการตลาดที่ว่า “Make America Great Again” ทำให้เกิดกระแสความคลั่งชาติของคนอเมริกัน ส่งโดนัลด์ ทรัมป์เข้าไปอยู่ในห้องทำงานรูปไข่ได้สำเร็จ

ส่วนอีกหนึ่งผลการเลือกตั้งที่ทำให้คนทั่วโลกรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเป็นที่สุดคือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2016 ซึ่งนายโรดิโกร ดูเตอร์เต้ ได้รับคะแนนเสียงแบบท่วมท้น พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ฟิลิปปินส์ ปลอดจากอาชญากรรม ด้วยนโยบาย แบบถึงลูกถึงคน

ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศส คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งก่อนการเลือกตั้งที่อังกฤษอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง นั้นคว้าชัยชนะเหนือนางเรีย เลอ เปน แบบที่ใครก็คาดไม่ถึงเพราะบรรดาโพลหรือ เหล่านักวิชาการต่างคาดการณ์ว่า นางมาเรีย เลอ เปน จะเป็นผู้กำชัยชนะ แต่เมื่อผลออกมาก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าคนฝรั่งเศสต้องการผู้นำแบบไหน

ด้วยผลการเลือกตั้งในลักษณะนี้ ทำให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักไม่ได้เป็นผู้ชี้นำทิศทางของผู้ลงคะแนนในสมัยนี้อีกต่อไป หากแต่บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงต่างลงคะแนนตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก ดังนั้นการที่ผลเลือกตั้งจะออกมาแบบ ค้านการทำโพล หรือ ค้านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะยุคสมัยนี้ เสียงของประชาชนคือเสียงของความต้องการอย่างแท้จริง