ถึงอ้วนก็มีข้อดี (เหรอ?) ได้ฉีดวัคซีน COVID-19 ก่อนใคร

ความหวังใหม่ของคนไทยคือการที่รัฐบาลไทยอนุมัติการสั่งซื้อวัคซีน COVID-19 เข้ามาเพื่อฉีดให้กับคนไทย แน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีโอกาสจะได้รับวัคซีนก่อนคือ “บุคคลกลุ่มเสี่ยง” เพราะคนกลุ่มนี้หากติดเชื้อขึ้นมาจะส่งผลเสียหลายประการ หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราจะเสียกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ถ้าหากเป็นประชาชนทั่วไป ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอันตรายมากจนถึงขั้นเสียชีวิต

ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้มีการจัดลำดับกลุ่มเสี่ยงที่จะได้ฉีดวัคซีนก่อน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตเรื้อรังระยะสุดท้ายขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่ให้เคมีบำบัด รังสีรักษาหรือภูมิคุ้มกันบำบัด เบาหวาน และโรคอ้วน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และบุคลากรด่านหน้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค เช่น ตำรวจ ทหาร อสม. คนที่ทำงานในโรงพยาบาล โดยพิจารณาให้กับพื้นที่เสี่ยงก่อน

จะเห็นว่า โรคอ้วน กลายเป็นโรคประจำตัวที่อยู่ในภาวะ “เสี่ยง” จนจัดอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน การที่เพิ่มกลุ่มคนอ้วนเข้าไปนั้น เพราะในระยะหลัง ๆ คนที่มีอาการรุนแรงในต่างประเทศพบว่าเป็นคนอ้วนมากขึ้น โดยปกติคนอ้วนจะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว จึงได้จัดให้คนอ้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย

หลักเกณฑ์การจัดคนอ้วนให้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 ก่อนนั้น คือ คนอ้วนที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม หรือคนที่มีดัชนีมวลกาย 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI 35)

เมื่อความอ้วนกลายเป็นข้อดี (เหรอ?)

จริง ๆ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาวะอ้วน (Obesity) เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากผิดปกติ หรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไปหมด

ซึ่งภาวะอ้วนนั้นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา คนอ้วนจะเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก นอนกรน ปวดข้อ ปวดหลัง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบาก ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง หอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สำคัญที่สุด คือ ภาวะทางจิตใจ

เพราะฉะนั้น การที่คนอ้วนถูกจัดเป็นคนกลุ่มเสี่ยงนั้นไม่ได้หมายความว่านี่เป็นเรื่องที่ดีเลย ซึ่งต้องเอามาย้ำกันอีกครั้ง และหลาย ๆ ครั้ง ด้วยปัญหาสุขภาพที่จะตามมาหากเป็นโรคอ้วนนั้น ทำให้คนอ้วนที่เกิดติดเชื้อ COVID-19 เสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นและอาจถึงตายได้

วิธีการเช็กค่า BMI

หลักเกณฑ์การวัดว่าคนกลุ่มใดเป็นคนอ้วนที่ต้องจัดเข้ากลุ่มบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนนั้น คือ คนอ้วนที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม หรือคนที่มีดัชนีมวลกาย 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI.35) ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วสิ่งที่เรียกว่า BMI มันคืออะไร แล้วเลขนั้นมันมาจากไหนกัน

BMI : Body Mass Index เป็นการหาค่าดัชนีมวลกาย เป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถหาค่าได้โดยการชั่งน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูง หน่วยเป็นเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยใช้สูตร

ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2

ค่าดัชนีมวลกายนี้ถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ค่าที่ได้จะถูกนำมาอ่านได้ ดังนี้

  • ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 >>>> ผอมเกินไป
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 >>>> อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (น้ำหนักตัวปกติ)
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 >>>> น้ำหนักเกิน (ท้วม)
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 30-34.9 >>>> อ้วน (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1)
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 35-39.9 >>>> อ้วน (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 2)
  • ค่าที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 40 >>>> อ้วนเกินไป (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 3 ระดับอันตราย)

อย่างไรก็ดี เกณฑ์ข้างต้นเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับเมืองหนาว จะมีการปรับเปลี่ยนค่าเล็กน้อยเมื่อนำมาเป็นเกณฑ์วัด คนเอเชีย ซึ่งเป็นเมืองร้อน (เมืองร้อนไม่จำเป็นต้องมีไขมันไว้ปกป้องร่างกายจากอากาศหนาว) ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมสำหรับชาวเอเชียจะถูกปรับค่า ดังนี้

  • ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 >>>> ผอมเกินไป
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 >>>> อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (น้ำหนักตัวปกติ)
  • ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 23-24.9 >>>> น้ำหนักเกิน (ท้วม)
  • ค่าที่ได้มากกว่า 25-29.9 >>>> อ้วน (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1)
  • ค่าที่ได้มากกว่า 30 >>>> อ้วนเกินไป (จัดเป็นความอ้วนระดับอันตราย เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ)

เช่น ถ้าเรามีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 70 กิโลกรัม และสูง 165 เซนติเมตร (1.65 เมตร)

การคำนวณจะเป็น ดัชนีมวลกาย (BMI) = 70 / (1.65)²

= 25.71 >>>> อ้วน (จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1)

หากไม่สะดวกจะคิดคำนวณด้วยตัวเอง สามารถเข้าไปคำนวณค่า BMI ของตนเองได้ที่ lovefitt

ย้ำอีกครั้ง “อ้วน” ไม่ได้มีข้อดีอะไรเลย

ในช่วงที่คนทั้งโลกกำลังวุ่นวายกับโรคระบาด คนอ้วนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนใคร อาจมีคนพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่าเป็นผู้โชคดีที่จะมีภูมิคุ้มกัน COVID-19 ก่อนคนทั่วไป แต่อยากให้พิจารณาดูอีกครั้งดี ๆ ว่าจะนับว่านี่เป็นข้อดีได้จริง ๆ เหรอ เพราะมันแลกมากับความเสี่ยงที่เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง ดังนั้น คุ้มค่ามากแค่ไหนกับความเสี่ยงจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ไปตลอดชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อต้องเผชิญกับภาวะอ้วน เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ แน่นอนว่ามีโรคร้ายแรงด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก หอบหืด ปวดตามกระดูกข้อต่อ ปวดหลัง ข้อเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และสารพัดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างการขาดความมั่นใจในตนเอง การถูกล้อเลียน กลั้นแกล้งจากคนรอบข้าง มีความรู้สึกโดดเดี่ยว ปัญหาแยกตัว เก็บตัวไม่พบปะผู้คน นำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การเข้าสังคม การเรียน การทำงาน รวมถึงอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ไม่จบเพียงเท่านั้น แม้ว่าคนอ้วนจะได้รับวัคซีน COVID-19 ก่อนคนอื่น แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา (University of North Carolina; UNC) ได้ปิดเผยว่า คนที่มีภาวะโรคอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป และประเด็นสำคัญคือ ต่อให้ได้รับวัคซีน COVID-19 แล้ว ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันอาจน้อยลง เนื่องจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ

นักวิทยาศาสตร์จาก UNC ได้ตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษากว่า 75 ชิ้น ที่ศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2020 ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 400,000 คน พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงในการติด COVID-19 มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคอ้วนถึง 46 เปอร์เซ็นต์ และยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (มีอาการ) เพิ่มขึ้น 113 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้โอกาสที่ต้องส่งตัวเข้าห้องผู้ป่วยหนัก ยังสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคอ้วนถึง 74 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นถึง 48 เปอร์เซ็นต์!

นี่จึงไม่สามารถมองโลกในแง่ดีได้เลยว่าความอ้วนมีข้อดีเพราะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนใคร แต่โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการรุนแรงขึ้นต่างหาก!

ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเอง คือวัคซีนที่ดีที่สุด

จริง ๆ แล้วทุกคนทราบดีว่าการดูแลตนเองนี่แหละที่เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด และทุกภาคส่วนก็ย้ำกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว เพราะจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องรอหวังพึ่งวัคซีนผลิตใด ๆ เลย และปลอดภัยกว่าด้วย

การใช้ชีวิตปกติ เพียงแค่ดูแลโภชนาการ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะทุกหมู่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย เท่านี้เอง เท่านี้จริง ๆ

ส่วนช่วงที่มีโรคระบาดเช่นนี้ การใช้ชีวิตที่เพิ่มเติมเข้ามาคือชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal อาทิ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชน ที่สาธารณะ ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี เว้นระยะห่างระหว่างกัน พยายามไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน ซึ่งมาจนถึงขณะนี้ นี่อาจไม่ใช่ชีวิตวิถีใหม่อีกต่อไป เพราะเราต่างคุ้นเคย และใช้ชีวิตแบบนี้จนเคยชินเป็นปกติไปแล้ว ในเมื่อสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, CNN