ความรู้เกี่ยวกับ “โรคเบาหวาน” ที่ใคร ๆ ก็ยังเข้าใจผิด!

หนึ่งในปัญหาสุขภาพยอดฮิตของคนไทย ที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ คือ “โรคเบาหวาน” จากสถานการณ์โรคเบาหวานในภาคพื้นแปซิฟิก (Western Pacific) ในปี 2560 ประเทศไทย มีผู้ที่เป็นเบาหวาน 4.4 ล้านคน ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนมากที่มีความเข้าใจ หรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน จนละเลยการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี และเพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจ “โรคเบาหวาน” ได้อย่างถูกต้อง มาร่วมไขความจริง ไปพร้อม ๆ กัน

อาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล คือ ตัวการให้เกิดโรคเบาหวาน

ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีเพียง “แป้งและน้ำตาล” เท่านั้น ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหวาน แต่อาหารประเภทเนื้อแดงที่มีไขมันมาก อย่างเนื้อวัว เนื้อหมู รวมถึงเนื้อที่ผ่านการปรุงแต่ง อาทิ ไส้กรอก เบคอน และแฮม ก็เป็นตัวการของโรคเบาหวานเช่นกัน เนื่องจากไขมันอิ่มตัวจะเข้าไปยับยั้งอินซูลินให้ออกฤทธิ์ได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลด ทำให้ “ตับอ่อน” ต้องผลิตอินซูลินออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ อาจทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเกินไป จนเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตับอ่อนไม่อาจผลิตและปล่อยอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีดังเดิม จึงทำให้เป็นโรคเบาหวาน

เบาหวาน เป็นโรคของคนอ้วน หรือผู้สูงอายุเท่านั้น

สำหรับโรคเบาหวาน ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นคนอ้วนหรือผู้สูงอายุเท่านั้น ถึงเป็นโรคเบาหวานได้ เนื่องจากว่า “โรคเบาหวาน” สามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงอายุ เพียงแต่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคในแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียด หรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงไม่แปลกที่เด็กหรือคนผอมที่มีพฤติกรรมเช่นที่ว่านี้ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคเบาหวานได้เหมือนกัน

เป็นเบาหวาน ห้ามกินขนมหวาน หรืออาหารที่มีรสหวานเด็ดขาด

เป็นที่รู้กันดีว่า “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” เป็นผลให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้หลาย ๆ คน (ทั้งที่เป็นและไม่โรคเบาหวาน) เข้าใจว่า การงดอาหารทุกประเภทที่มีรสหวาน หรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะขนมหวานหลากหลายเมนู จะให้ปลอดจากโรคเบาหวานได้ หรือหากป่วยเป็นเบาหวาน ก็จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่จริง ๆ แล้ว ความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอเพียงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม ควบคุมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถรับประทานขนมหวานได้ แต่ต้องไม่มากเกินไป

เบาหวาน เป็นโรคพันธุกรรม ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้

เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็ต้องป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าโรคเบาหวานจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นเบาหวาน 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป ฉะนั้น หากดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ (แม้บางมื้อจะทานตามใจชอบ) มีการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพียงเท่านี้ ก็มีสิทธิ์ปลอดจากโรคเบาหวานได้เหมือนกัน

น้ำตาลจากผลไม้ปลอดภัยที่สุด ทานมากเพียงใด ก็ไม่อันตราย

ไม่ได้มีแต่ขนมหวานเท่านั้น ที่เป็นหนึ่งในตัวการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพราะ “ผลไม้ที่มีรสหวาน” ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน เนื่องจากว่า “ฟรักโทส” หรือ “ฟรุกโตส” เป็นน้ำตาลที่ได้จากผลไม้ จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส อันมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวาน ผลไม้อบแห้ง ผลไม้ตากแห้ง หรือผลไม้แปรรูปต่าง ๆ ในปริมาณมาก โดยเฉพาะทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น ขนุน กล้วย และลำไย เป็นต้น แต่ถ้าอยากทานจริง ๆ ก็ต้องทานในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

เป็นเบาหวาน ห้ามบริจาคเลือด

ความเชื่อที่ว่า ผู้เป็นโรคเบาหวานไม่สามารถบริจาคเลือดได้นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากถ้ามีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความดันร่วม ไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน  อาทิ แผลจากเบาหวาน โรคไต หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ก็สามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติ

หากในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เราก็ไม่เป็น

แม้ว่า เรื่องของ “พันธุกรรม” จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน หากใช้มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง อาทิ ไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นประจำ พักผ่อนน้อย หรือมีความเครียดสะสม เป็นต้น

** โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน เริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง 

ผู้ป่วยเบาหวาน ห้ามเข้ารับการผ่าตัด

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยเบาหวาน มักถูกเตือนให้ระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล เนื่องจากจะหายช้ากว่าปกติ เมื่อถูกเตือนแบบนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ แต่รู้ไหมว่า ที่จริง ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เหมือนผู้ป่วยปกติทั่วไป เพียงแต่แพทย์และผู้ป่วยต้องระวังในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเท่านั้นเอง

ข้อมูลจาก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ