เที่ยวป่าฝนอินโด (ตอนจบ)

เที่ยวป่าฝนอินโด (ตอนแรก)

“ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า”

นอกจากจะเป็นเพลงดังของ “แม๊กซ์ เจนมานะ” แล้ว ยังเป็น “ใบสั่งยา” ของคุณหมอรุ่นใหม่แห่งรัฐ South Dakota

นั่นคือ ParkRx “ใบสั่งยา” ของคุณหมอรุ่นใหม่แห่งรัฐ South Dakota แปลว่า “ใบสั่งให้ไปเดินป่าพักผ่อน” หรือ Park Prescriptions สำหรับรักษาอาการเหนื่อยล้า รวมถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย

สำหรับแฟน Travel Tips “ต้นคิด 360 องศา” ของเรา ผมก็อยากจะขอแนะนำเหมือนกันว่า “ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า” ครับ

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำเสนอเรื่องราวของ “ป่าฝน” ระดับโลก อาทิ “ป่าลุ่มน้ำอะเมซอน” และ “ป่าฝนลุ่มน้ำคองโก” รวมถึง “ป่าดิบชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “ป่าฝนอินโด” ที่เหมาะสำหรับการ “เดินป่าหน้าฝน” ฤดูนี้

โดยในสัปดาห์นี้ เราจะมาลง Detail กัน ซึ่งเป็นตอนจบครับ

ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ในสัปดาห์ก่อน ว่า “ป่าดิบชื้นของเอเชีย” หรือ “ป่าดิบชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อย่าง “ป่าฝนอินโด” เป็น “ป่าฝนโบราณ” ที่สุดของโลก เพราะเป็นป่าที่มีตั้งแต่ยุค Pleistocene หรือกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว

ดังนั้น คงไม่ต้องพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะความเก่าแก่นี่เองที่ทำให้ “ป่าฝนอินโด” แห่งนี้ มีความสมบูรณ์อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกเลยทีเดียว

สำหรับอาณาเขตของ “ป่าฝนอินโด” นั้น กินพื้นที่ตั้งแต่ประเทศอินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เมื่อรวมกันแล้ว ป่าผืนนี้จึงถือเป็นผืนป่าที่สำคัญของโลก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเฉพาะ “ป่าฝนอินโด” นั้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนใน “สุมาตรา” “บอร์เนียว” และ “ปาปัว”

สำหรับแฟน “ต้นคิด 360 องศา” ขอแนะนำ “บอร์เนียว” ครับ

ไม่เพียงความคุ้นเคยของผู้เขียน แต่เพราะ “บอร์เนียว” มีเสน่ห์ของความเป็นป่าใกล้เมือง นอกจากนี้ “บอร์เนียว” ยังครอบคลุมเพื่อนบ้านอาเซียนเราถึง 3 ประเทศด้วยกันนั่นคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบูรไน

เมือง Pangkalan Bun บนเกาะ “บอร์เนียว” หรือเกาะ “กาลิมันตัน” เป็นท่าเรือเพื่อนำเข้าสู่ “อุทยานแห่งชาติ Tanjung Puting”

เพื่อไม่ให้แฟน Travel Tips เหนื่อยมากเกินไป และเราก็ยังไม่ถึงคราวที่จะเดินป่ากันอย่างจริงๆ จังๆ เราเพียงมาเที่ยวป่ากันครับ ผมจึงขอแนะนำ “อุทยานแห่งชาติ Tanjung Puting” สำหรับการ “เที่ยวป่าฝนอินโด” ครับ

มีเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิไปลงที่จาการ์ตาหลากหลายสายการบินครับ ราคาไม่แพง ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงจาการ์ตา จากจาการ์ตาต่อเครื่องไปท่าเรือเมือง Pangkalan Bun อีก 1 ชั่วโมง 15 นาที จากนั้นลงเรือเพื่อล่องเข้าไปใน “อุทยานแห่งชาติ Tanjung Puting”

ระหว่างล่องเรือจะสังเกตเห็นสีแม่น้ำที่ดูแปลกตา จากสีโคลนจะไล่สีเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ป่าลึก ขณะเดียวกันความใสก็กลับเพิ่มมากขึ้น จากสีน้ำตาลขุ่น ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีดำ สีส้มออกแดง จนกระทั่งเป็นสีน้ำตาลอ่อนใส

แม้จะมีสภาพเป็นป่าดงดิบของ “บอร์เนียว” ทว่า “อุทยานแห่งชาติ Tanjung Puting” เหมาะแก่การเดินป่า มีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง โดยเฉพาะ “ลิงจมูกยาว” ที่ผมเคยเขียนถึงเอาไว้ใน “ต้นคิด 360 องศา” และที่สำคัญก็คือ มี “อุรังอุตัง” สัญลักษณ์สำคัญของ “อินโดนีเซีย”

“อุรังอุตัง” เป็นภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย เป็นคำที่เกิดจากคำสองคำนำมาผสมกันคือ “อุรัง” แปลว่า “คน” กับ “อุตัง” แปลว่า “ป่า”

ปัจจุบัน “อุรังอุตัง” เป็นสัตว์ป่ากลุ่มใกล้สูญพันธุ์ หรือ Endangered ใน “บอร์เนียว” และเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ หรือ Critically Endangered ใน “สุมาตรา”

ดังที่ทราบกันดี ว่า “อุรังอุตัง” คือสัญลักษณ์สำคัญของ “อินโดนีเซีย” ที่เป็นเช่นก็เนื่องมาจาก ทั้ง “บอร์เนียว” และ “สุมาตรา” เป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติเพียงสองแห่งบนโลกใบนี้ของ “อุรังอุตัง”

โดยในปัจจุบัน โลกของเราเหลือ “อุรังอุตัง” อยู่เพียงราว 100,000 ตัว และมีจำนวนลดลงกว่า 60% ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการทำลายป่าและการล่า “อุรังอุตัง” อย่างผิดกฎหมาย

การ “เที่ยวป่าฝนอินโด” งวดนี้ นอกจากจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าที่ผมได้สอดแทรกในข้อเขียนแล้ว ผมเชื่อว่า แฟน Travel Tips “ต้นคิด 360 องศา” ของเราคงจะได้พักผ่อน จากคำขวัญของ “แม๊กซ์ เจนมานะ” จากบทเพลง “ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า”

ที่นอกจากจะเป็นเพลงดังของ แล้ว ปัจจุบัน “ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า” ยังเปรียบเสมือน “ใบสั่งยา” ของคุณหมอรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่รัฐ South Dakota ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น

นอกจากจะได้พักผ่อนเพื่อปรับสมดุลร่างกายจากการได้สัมผัสสัตว์ป่าในถิ่นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีส่วนช่วยกันสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กันครับ

เหตุผลหลักก็คือ สถานที่ซึ่งเหมาะสมสำหรับ “การเที่ยวป่า” ก็ย่อมต้องเป็น “ป่า” และ “ป่า” ก็ประกอบด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า การเที่ยวป่าอย่างสมบูรณ์แบบ ต้องมีทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า นี่คือหลักคิดที่สำคัญครับ