ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน


เชื่อว่าคุณผู้อ่านที่ยังประคองตัวเป็นโสดหรือใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยว คงเคยมีปัญหาแบบนี้ให้ขบคิดมาแล้วบ้างไม่มากก็น้อยนั่นคือ.. เราจะใช้ชีวิตอย่างไรดี ในวันหยุดยาว ?

ผมเองก็เช่นเดียวกันเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา พยายามใช้ชีวิตในวันหยุดเทศกาลให้คุ้มค่าที่สุด แบบไม่เบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่ให้คนอื่นมาเบียดเบียนเราด้วย เรื่องคิดไปเที่ยวช่วงเทศกาลน่ะเหรอ? เหอ เหอ เมินซะเถอะ ขี้เกียจไปเบียดมหาชน แย่งกันกินแย่งกันใช้

อยู่กรุงเทพฯเดี๋ยวนี้ถนนหนทางก็มิได้โล่งเหมือนสมัยก่อน เพราะคนจากจังหวัดอื่นสลับขั้วเข้ามาพาญาติมิตรไปเที่ยว กิน ช็อป ในห้างหรือร้านอาหารดังๆ ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้อยู่ดี สุดท้ายคุณก็จะได้แต่สิ่งไม่คุ้มค่า และความหงุดหงิดใจไปพอๆกัน

หยุดยาวที่ผ่านมา ผมลองใช้วิธีเป็นมนุษย์ถ้ำ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ หุงข้าวทำกับข้าวกินเอง บางมื้อก็ซื้อกับข้าวมาสลับบ้าง เหลือก็เก็บเอาไว้มื้อต่อไป ว่างอ่านหนังสือ จัดบ้าน ดูแลต้นไม้ และ ออกกำลังกาย ใช้ชีวิตเรียบง่ายที่สุดแบบ Back to basic พบว่ามีความสุขเหลือล้น

ความรู้สึกว่าอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร ทำอะไรเองได้หมด มันทำให้เกิดพลังดีครับ ไม่ต้องไปชี้นิ้วสั่งใครด้วย เพราะพอเราสั่งก็ต้องมีความคาดหวัง พอไม่ได้อย่างที่หวัง ก็จะพาลเกิดความหงุดหงิดขึ้นมาอีก

คาถาที่ผมได้จากเทศกาลปีใหม่ปีนี้จึงเป็น “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

กับวิถีชีวิตยุคใหม่ซึ่งเป็นสังคม “สะดวกซื้อ” สังเกตว่า เด็กเขาจะไม่ค่อยยอมทำอะไรเอง จนพาลทำอะไรไม่เป็นกันหมดแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว กลายเป็นสังคม “ชี้นิ้ว” ฉันจะเอาโน่น หนูจะเอานี่ สั่งคุณพ่อ สั่งคุณแม่ สั่งคนโน้นสั่งคนนี้

จะว่าไปผู้ใหญ่สมัยก่อนไม่ยอมให้ลูกหลานอยู่กันสบายหรือได้อะไรมาง่ายๆหรอกครับ กว่าจะขอเงินสิบบาทยี่สิบบาท ต้องแลกมาด้วยการคัดคำศัพท์บ้าง ถูบ้านบ้าง ซื้อกับข้าวบ้าง นั่นคือกุศโลบายที่ทำให้เด็กแข็งแรงทางอ้อม ลำบากเป็น และรู้จักทำงานแลกเงิน ลองตอนเด็กลำบากเป็น โตขึ้นมาก็มีภูมิคุ้มกัน กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคอะไรง่ายๆ

ใครอ่านแล้วเห็นดีเห็นงามจะลองเอาคาถาที่ว่านี้ไปลองฝึกตน ฝึกลูกหลานบ้าง ผมก็ขอเอาใจช่วยครับ.