ค้นพบแบคทีเรียย่อยสลายขยะ เปลี่ยนเป็นน้ำและคาร์บอน

มลพิษจากขยะพลาสติก กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับโลกใบนี้ โดยเฉพาะมหาสมุทรที่เป็นแหล่งธรรมชาติ ที่ขยะต่างถูกพัดพามาสะสมไว้ จากการวิจัยคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ปริมาณขยะพลาสติกจะมีมากกว่าจำนวนปลาในน่านน้ำเสียอีก จึงเกิดเป็นโจทย์ให้คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องเร่งหาวิธีแก้ไข

โดยล่าสุด มิแรนดา วอง และ จีนนี่ เยา สองนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ด้วยอายุเพียง 20 ปี ที่ได้พัฒนาแบคทีเรียชนิดหนึ่งตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ และค้นพบผ่านการทดลองแกมบังเอิญว่า แบคทีเรียที่พวกเธอกำลังเพาะอยู่นั้นดำรงชีวิตด้วยสารพทาเลต ซึ่งสังเกตจากการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียกับการลดลงของสารพทาเลต

สารพทาเลต Phthalate คือ สารที่ใช้ในการทำพลาสติก เพื่อความยืดหยุ่นและทนทาน ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของพลาสติก แต่มันไม่ได้ถูกผูกไว้ด้วยแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม ผลที่เกิดคือด้วยความเป็นมลพิษของพทาเลต และการหลุดเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย มันไม่เพียงแต่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังเป็นมลพิษต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น พทาเลตถูกพบมากในผลิตภัณ์ของใช้ทั่วไปที่เราต้องสัมผัส เช่น ของเล่นเด็ก กระป๋องเครื่องดื่ม เครื่องสำอางค์ หรือแม้แต่ผลิตภัณ์สำหรับห่ออาหาร

ดังนั้นการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพทาเลตได้ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง โดยในกระบวนการย่อยสลายนั้นแบคทีเรียผู้รับบทพระเอกของเรื่องนี้ จะทำการเปลี่ยนพทาเลตเป็น น้ำ คาร์บอน และแอลกอฮอลล์

จีนนี่ ให้ความเห็นว่า กับสังคมที่ต้องขึ้นอยู่กับพลาสติกนั้น การลดการผลิตลงก็เป็นเป้าหมายที่ดีแต่ยังไม่พอ และพลาสติกนั้นใช้เวลาในการย่อยสลายถึงพัน ๆ ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง

โดยการค้นพบของพวกเธอทั้งสองนั้นได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยมีเงินทุนสนับสนุนมากถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อการพัฒนาต่อยอดของพวกเธอ และเป้าหมายแรกของพวกเธอคือการนำสิ่งที่ค้นพบนี้ไปใช้กับการบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

เป็นเรื่องน่ายินดีกับข้อมูลนี้ ที่นอกจากโลกจะได้วิธีกำจัดขยะที่กระจัดกระจายแล้ว ในด้านการเรียนรู้เรายังได้รู้จักชื่อของคนที่พยายามหาหนทางในการบรรเทาความเจ็บป่วยของสิ่งแวดล้อม ที่แม้ตอนนี้จะดูเหมือนเป็นก้าวเล็ก ๆ จากคนไม่กี่คน แต่แน่นอนว่าการต่อยอดและพัฒนาจะสามารถสรรค์สร้างสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

ที่มา : https://www.ted.com/talks/two_young_scientists_break_down_plastics_with_bacteria/transcript?language=th&fbclid=IwAR3smXdFrWoYmXIDihPi_AdmXiBvFPNu7gDyqdLBGhUhlXk7wiI4NWoE-gg#t-178572