มีอะไรดี ที่บรูไน (ตอนที่ 2)

มีอะไรดี ที่บรูไน (ตอนแรก)

ความเดิมตอนที่แล้ว เราได้แวะไปที่ กัมปง ไอเยอร์ หมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นชุมชนเก่าแก่ของบรูไน และเป็นรากฐานของบรูไนยุคปัจจุบัน

กัมปง ไอเยอร์ หรือ Water Village นอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นชุมชนกลางน้ำอันดับหนึ่งของโลกแล้ว ยังถือเป็นต้นกำเนิดของหมู่บ้านชาวประมง

ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะอารยธรรมสมัยใหม่ของบูรไนในยุคที่ยังไม่มีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สร้างความร่ำรวยให้กับบรูไนเป็นเศรษฐีทุกวันนี้

การที่ กัมปง ไอเยอร์ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นชุมชนกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เพราะ กัมปง ไอเยอร์ ประกอบด้วย 42 หมู่บ้าน และประชากรกว่า 30,000 คน

ดังนั้น การเดินทางสัญจรของชาวกัมปง ไอเยอร์ที่ตั้งรกรากกันมาแต่โบราณจึงต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะหลัก โดยในปัจจุบันที่บรูไนเจริญแล้วก็ยังเป็นเช่นนั้น

เหมือนกับชุมชนชาวน้ำทั่วไป ชาวบ้านที่มีฐานะก็สามารถเป็นเจ้าของเรือราคาแพง และสภาพเรือก็ลดหลั่นลงมาตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน

ครอบครัวที่ไม่มีปัญญาซื้อเรือก็จะใช้บริการ Water Taxi ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือหางยาวของบ้านเราแต่มีความกว้างมากกว่าเล็กน้อยและก็สั้นกว่าเล็กน้อย

ที่ริมฝั่งน้ำ ทางรัฐบาลได้จัดสถานที่จอดรถไว้ให้ชาวกัมปง ไอเยอร์ฐานะดี คือสามารถมีรถยนต์ส่วนตัวขับ ซึ่งจากการสังเกตจะเห็นรถยนต์จำนวนมากบนฝั่ง

ความที่ กัมปง ไอเยอร์ เป็นชุมชนกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนชุมชนจึงมีสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ มัสยิด โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านขายของ

สภาพบ้านเรือนโดยทั่วไปก็เหมือนกับสภาพบ้านเรือนริมคลองบางกอกน้อยของไทย คือมีลักษณะเป็นบ้านไม้ริมน้ำ มีตลิ่ง และมีท่าเรือของบ้านแต่ละหลังคาเรือน

การคมนาคม นอกจากจะใช้เรือเป็นพาหนะหลัก กัมปง ไอเยอร์ ยังมีสะพานมากมายที่ทอดระหว่างหมู่บ้านและหน่วยสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ

เพราะลึกเข้าไปจากบรรดาบ้านริมน้ำ ยังมีบ้านเรือนผู้คนปลูกสร้างซ้อนอยู่ด้านในอีกหลายชั้น บางหมู่บ้านมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับชุมชนแออัดของไทยไม่น้อย

แม้โดยส่วนใหญ่ กัมปง ไอเยอร์ จะมีสภาพไม่ต่างจากหมู่บ้านชาวประมง แต่ด้วยสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ได้มีการเรียกขาน กัมปง ไอเยอร์ ว่าเป็น เวนิซแห่งตะวันออก

ทุกวันนี้ แม้กว่า 40,000 ชีวิตที่อาศัยอยู่ใน กัมปง ไอเยอร์ จะถูกมองว่าเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง แต่ กัมปง ไอเยอร์ ก็คือประวัติศาสตร์ที่บรูไนปฏิเสธไม่ได้

นอกจากธุรกิจประมงจะมีส่วนสร้างชาติให้บรูไนเป็นบรูไนในทุกวันนี้ ก่อนที่บรูไนจะรุ่มรวยด้วยธุรกิจปิโตรเลียมแล้ว หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าบรูไนมีธุรกิจการบูร

พงศาวดารจีน (Zhao Rugua, 977) ได้กล่าวถึงบรูไนในฐานะเมืองท่าสำคัญของบอร์เนียวที่มีกองเรือรบคอยคุ้มครองเรือสำเภาของพ่อค้าวาณิชบริเวณทะเลจีนใต้

ส่วนบันทึกของชาวชวา (Prapanca, 1365) ได้กล่าวถึงบรูไนที่อยู่ใต้อาณัติของอาณาจักรมัชปาหิต โดยบรูไนมีชื่อเสียงอย่างมากเรื่องสินค้าทุกชนิดที่เกี่ยวกับการบูร

หนังสือ European Sources for the History of the Sultanate of Brunei in the Sixteenth Century บรรณาธิการโดย Robert Nicholl (1975) ก็ได้กล่าวถึงการบูรเช่นกัน

การบูร (Camphor) เป็นผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของพืชที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora ในวงศ์ Lauraceae มีชื่อพ้อง Laurus camphora หรือต้นการบูร

คำ การบูร มาจากภาษาสันสกฤตว่า Karapur หรือ กรปูร ซึ่งแปลว่า หินปูน เพราะโบราณเข้าใจว่าของนี้เป็นพวกหินปูนที่มีกลิ่นหอม ต่อมาชื่อนี้เพี้ยนเป็น กรบูร และเป็น การบูร

การบูรธรรมชาติเป็นผลึกเล็กๆ ที่เกิดอยู่ทั่วไปทั้งต้น มักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ มีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาที่แก่นของต้น ส่วนที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีการบูรมาก

ส่วนในใบและยอดอ่อนจะมีการบูรอยู่น้อย  โดยในใบอ่อนจะมีการบูรน้อยกว่าใบแก่ ผงการบูรเป็นเกล็ดกลมเล็กๆ  สีขาวแห้ง  ทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด มีรสร้อนปร่า

การผลิตการบูรใช้ทั้งลำต้นและรากนำมาเลื่อยและสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปกลั่นโดยใช้ไอน้ำในเครื่องกลั่น เมื่อกลั่นได้น้ำมันระเหย การบูรจะตกผลึกแยกออกมา แล้วกรองแยกผลึก

อีกวิธีใช้กลั่นจากใบและยอดอ่อนของต้นที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี แทนการบูรอายุ 40 ปี ถึงแม้ว่าจะให้ปริมาณที่น้อยกว่า แต่สามารถตัดใบและยอดอ่อนมากลั่นได้ทุกๆ 2 เดือน

จากภาพประกอบ ท่อนไม้ที่เราเห็นคนนั่งเลื่อยนั้น คือต้นการบูร การบูรเป็นสินค้าหลักของบรูไน (Teixeira, 1507) ก่อนการทำประมง และธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบัน

อาณาจักรมัชปาหิตที่ปกครองบรูไนในยุคนั้น มีเขตอำนาจครอบคลุมทั่วทั้งแหลมมลายูตอนใต้ ไปจนถึงสุมาตรา บาหลี ฟิลิปปินส์ และแน่นอนที่สุดก็คือ บอร์เนียว

Teixeira (1507) กล่าวต่ออีกว่า ในห้วงนั้น ความคิดล่าอาณานิคมกำลังแพร่ขยายในยุโรป เป้าหมายหลักเพื่อการดูดซับทรัพยากรธรรมชาติเอามาเป็นของตน

หมู่เกาะโมลุกกะของอินโดนีเซียขึ้นชื่อลือชาในเรื่องเครื่องเทศนานาชนิดโดยเฉพาะกระวานและกานพลู และจันทน์เทศจากหมู่เกาะบันดาของอินโดนีเซียเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีไม้จันทน์ ของติมอร์ เลสเต สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแร่เงิน จากบริเวณหมู่เกาะรีวกีว จรดแนวเกาะไต้หวัน

Barbosa (1550) บันทึกไว้ว่า บอร์เนียวบริเวณปากแม่น้ำเซเรียมีต้นการบูรมาก และมีการผลิตการบูรส่งไปขายให้ชาวฮินดูในอินเดียและชาวมุสลิมทั่วไปที่นิยมใช้

ก่อนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรมัชปาหิตค่อยๆ คลายอิทธิพลลง ทำให้สุลต่านบรูไนเริ่มสั่งสมบารมีมากขึ้นๆ ในทศวรรษถัดมา (Zhao Rugua, 1371)

ก่อนที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 สุลต่านบรูไนทรงอิทธิพลถึงขีดสุด โดยแผ่อาณาเขตปกครองครอบคลุมตั้งแต่บอร์เนียวจนถึงตอนใต้ของฟิลิปปินส์

โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่เข้ามาทางตอนใต้ของภูมิภาค โดยมีชวาและมลายูรับอิทธิพลโดยตรงและขยายขึ้นมาทางบอร์เนียวที่ตั้งของบรูไน

และได้ปักหลักอย่างหนักแน่นในบรูไน โดยเกาะบอร์เนียวเป็นพื้นที่ยึดครองของมลายูภายหลังอาณาจักรมัชปาหิตได้เสื่อมลง สุลต่านบรูไนได้เริ่มสร้างบรูไนยุคใหม่ขึ้น

ตามบันทึกของ Beltrán (1578) นักเดินทางชาวสเปน พบว่า บรูไนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการก่อสร้างมัสยิดหลังใหญ่ขึ้น และมีหมู่บ้านกลางน้ำอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยพบ

เขาหมายถึง กัมปง ไอเยอร์ หรือ Water Village ต้นกำเนิดของหมู่บ้านชาวประมง ที่นับเป็นธุรกิจที่สร้างชาติบรูไนต่อจากธุรกิจการบูร และต่อมาคือธุรกิจปิโตรเลียม