การกระทำแบบไหนบ้างที่เข้าข่าย “ทารุณกรรมสัตว์”

พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ หรือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์ในการคุ้มครอง “สัตว์” เพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์จากฝีมือมนุษย์และเอาผิดตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์ที่ปล่อย ละทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์ รวมถึงเพื่อปกป้องมนุษย์จากความเสียหายในทรัพย์สินหรือร่างกายที่เกิดจากสัตว์ด้วยเช่นกัน แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557 หรือก็คือราว ๆ 10 ปีที่แล้ว แต่ปัญหาการทำร้ายสัตว์ หรือทารุณกรรมสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญ ยังมีการให้ข้อมูลบิดเบือนเรื่องการทำทารุณกรรมสัตว์อยู่หลายประเด็น จากการแสดงความคิดเห็นของชาวเน็ตทั่วไป

นิยามของ “สัตว์”

หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

นิยามของ “การทารุณกรรม” “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” และ “เจ้าของสัตว์”

“การทารุณกรรม” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ

“การจัดสวัสดิภาพสัตว์” หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ

“เจ้าของสัตว์” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย

รายละเอียดของกฎหมายคุ้มครองสัตว์ แบบไหนเข้าข่าย/ไม่เข้าข่าย ทารุณกรรมสัตว์

  • การกระทำที่ “ไม่ถือว่า” เป็นการทารุณกรรมสัตว์
  1. ฆ่าเพื่อใช้เป็นอาหาร (เฉพาะสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร)
  2. ฆ่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์
  3. ฆ่าเพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
  4. ฆ่าตามความเห็นของสัตวแพทย์ ในกรณีที่เห็นว่าสัตว์มีอาการเจ็บป่วย พิการ หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถเยียวยาหรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
  5. ฆ่าตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
  6. ฆ่าตามกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน
  7. การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์เพื่อการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทําได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับ
    ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายวาด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
  8. การตัดหู หาง ขน เขา งา โดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือการดำรงชีวิต
  9. การจัดให้มีการต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่น
  10. การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ
  11. การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
  • ส่วน การกระทำที่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นไปตามนิยามการทารุณกรรมของพ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ
  1. การกระทำ/งดเว้นการกระทำ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด พิการ หรือตาย
  2. การใช้งานสัตว์พิการ สัตว์ป่วย สัตว์ชรา สัตว์ที่กำลังท้อง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์
  3. ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ (ข่มขืนสัตว์)
  4. ใช้งานสัตว์เกินสมควรหรือให้ทำงานที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสัตว์เจ็บป่วย ชรา หรือยังเล็กเกินไป

บทลงโทษของการทารุณกรรมสัตว์

การทารุณกรรมสัตว์ ผิดกฎหมายหลายฉบับ และีบทลงโทษแตกต่างกันไป ดังนี้

1. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 กำหนดบทลงโทษของผู้ที่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ด้วย (คดีอาญาแผ่นดิน ที่ยอมความไม่ได้)

  • มาตรา 381 ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558]
  • มาตรา 382 ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558]

3. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตรวจชำระใหม่) พ.ศ.2535

กรณีที่สัตว์มีเจ้าของ

มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้กำหนดบทลงโทษแก่เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตราอื่น ๆ ด้วย คือ

มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากทอดทิ้งสัตว์ ไม่จัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์อย่างเหมาะสมตามสภาพของสัตว์ มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

มาตรา 24 การขนส่งสัตว์ หรือการนําสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม หากขนส่งไม่เหมาะสม มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ฝ่าฝืนมาตรา 23 หากเจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

นั่นหมายความว่า ถ้าเจ้าของสัตว์ทำร้ายสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร กฎหมายก็เอาผิดด้วยเช่นกัน