กัปตัน-แอร์โฮสเตส กับสิทธิอันพึงมี ตามข้อตกลงสากล

จากกรณี เที่ยวบิน TG 971 ซูริก-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เกิดความล่าช้ากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง หลังนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เนื่องจากที่นั่งของคณะนักบินที่จะโดยสารกลับ (Deadhead pilot) ไม่ได้นั่งในชั้นธุรกิจหรือชั้นเฟิร์สคลาสตามสิทธิ (ของกัปตันที่ได้มาพร้อมกับการเซ็นสัญญากับทางสายการบิน) กระทั่ง ผู้โดยสาร (สามี-ภรรยา) คู่หนึ่ง ซึ่งได้จองที่นั่งชั้นบิสซิเนสคลาส และได้รับการอัพเกรดเป็นชั้นเฟิร์สคลาส ยอมสละที่นั่งให้กับนักบินที่ขอโดยสารไปด้วย

แม้เรื่องราวปมดราม่า #การบินไทย ยังอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง แต่เชื่อว่า หลายคนคงสงสัยว่า นอกจากสิทธิที่กัปตันได้รับจากกการเซ็นสัญญากับทางสายการบิน (สิทธิของแต่ละสายการบิน อาจแตกต่างกันออกไป) แล้ว กัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (สจ๊วตและแอร์โฮสเตส) นั้น ยังมีสิทธิดำเนินการตามกฏการบินสากลในเรื่องใดบ้าง

สิทธิของกัปตัน

อันที่จริงแล้ว นอกจากสิทธิต่าง ๆ ที่กัปตันหรือนักบินได้รับตามที่บริษัท (สายการบิน) ตกลงว่าจ้างมาตั้งแต่ก่อนเข้าทำงาน กัปตันบนเครื่องนั้น ยังมีสิทธิหรืออำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องการนำเครื่องบินขึ้น-ลง หากกัปตันเชื่อว่า ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็สามารถตัดสินใจไม่นำเครื่องบินขึ้น-ลง ได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงานบนเครื่อง

กรณีที่พบว่า มีผู้โดยสารฝ่าฝืนคำสั่งหรืออาจเป็นภัยอันตรายคุกคามความปลอดภัยของผู้โดยสารคนอื่น ๆ กัปตันก็สามารถจับกุมผู้โดยสารคนดังกล่าวได้ทันที และยังสามารถเซ็นรับรองพินัยกรรมของผู้โดยสาร ซึ่งเสียชีวิตบนเครื่องบินได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กัปตันยังเป็นผู้มีสิทธิวินิจฉัยว่า จะรับหรือไม่รับผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หากพบว่า ผู้โดยสารคนดังกล่าวอยู่ในอาการเมามาย มีพฤติกรรมอันชวนสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่อง หรือมีอาการป่วยที่เชื่อว่า หากให้โดยสารไปกับสายการบิน อาจทำให้ผู้โดยสารดังกล่าวเสียชีวิตได้

สิทธิของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

ส่วนสิทธิของแอร์โฮสเตสที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร มีทั้งการคัดกรองผู้โดยสาร อาทิ พบผู้โดยสารอยู่ในอาการมึนเมา ก็สามารถเชิญลงจากเครื่องได้ เพราะผู้โดยสารคนดังกล่าวอาจลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อผู้โดยสารท่านอื่น เช่น ลุกขึ้นไปเปิดประตู ขณะเครื่องบินอยู่ หรือลุกขึ้นไปลวนลามผู้โดยสารคนอื่น และหากพบผู้โดยสารใช้สารเสพติด ก็สามารถเชิญลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้โดยสารที่แอร์โฮสเตส สามารถเดินไปเชิญให้ลงจากเครื่องบิน โดยไม่มีความผิดนั้น อาทิ

  • กรณีที่ผู้โดยสารทะเลาะ เพื่อแย่งที่นั่ง (ส่วนใหญ่จะเป็นคนในครอบครัว หรือคนรู้จักที่เดินทางพร้อมกัน)
  • กรณีมีเด็กเล็กอยู่ในความดูแล แต่ปล่อยปละละเลยจนสร้างความเดือดร้อนกับผู้โดยสารคนอื่น หรือทำทรัพย์สินเสียหาย เว้นแต่กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือดูแลตัวเองได้
  • กรณีผู้โดยสารที่มีอาการป่วยหนัก เช่น มีอาการไอหนัก เป็นอีสุกอีใสขั้นรุนแรง หรือผู้ในภาวะช่วยเหลือตัวเองลำบาก หากเป็นเช่นนี้ แอร์โฮสเตส อาจขอคำปรึกษานักบินก่อน เพื่อร่วมกันวินิจฉัยว่า อาการป่วยดังกล่าวมีโอกาสติดต่อไปยังผู้โดยสารคนอื่นหรือไม่ แต่ทั้งนี้ หากผู้โดยสารมีใบรับรองแพทย์ติดตัวมา ประกอบกับมีความจำเป็นต้องโดยสารเครื่องบินด้วยสาเหตุที่จำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น เดินทางไปผ่าตัดที่ต่างประเทศ ก็จะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปด้วย

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องคำพูดต้องห้ามเวลาขึ้นเครื่องบินบางคำ ที่หากผู้โดยสารเผลอหลุดปากไป ก็อาจต้องถูกเชิญลงจากเครื่องบิน เพื่อตรวจสอบสัมภาระ อาทิ ระเบิด หรือ BOMB ฉะนั้น หากเครื่องบินดีเลย์ เพราะสาเหตุนี้ ก็อย่าโกรธเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินเลยนะคะ เพราะหน้าที่สำคัญของกัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน คือ การดูแลความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารทุกท่านบนเครื่องบิน นับตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เวลาขึ้นเครื่องบิน ก็เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของกัปตัน รวมถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกครั้งนะคะ เพื่อไม่ให้เรื่องเล็กต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่