“สังคมผู้สูงอายุ” กับมาตรการดูแลของภาครัฐ

ประเด็น “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ “Aging Society” เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัวในปี 2564 เป็นผลให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุในระยะยาว อาทิ

บูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ

ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการ ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต้องร่วมกันส่งเงินเข้ากองทุนในอัตรา 3% ของค่าจ้าง

สำหรับมาตรการนี้ จะช่วยให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในการดำรงชีพ ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ

การจ้างงานผู้สูงอายุ

เป็นมาตรการทางด้านภาษี เพื่อจูงใจให้นายจ้างมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง และต้องการทำงาน ให้มีโอกาสได้ทำงานต่อ เพื่อสร้างรายได้ในการดำรงชีวิต

สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)

เป็นมาตรการที่รัฐมอบหมายให้สถาบันการเงินดำเนินการ เพื่อให้ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สามารถนำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระหนี้มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพแบบรายเดือนหลังเกษียณ

การสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุ

รัฐได้สนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุบนที่ราชพัสดุและบนพื้นที่อื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

รับผิดชอบโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.ชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ โดยกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกันกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ (อัตราค่าเช่า เท่ากับ 1 บาท/ตารางวา/เดือน และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเท่ากับ 2 เท่าของค่าเช่า 1 ปี) ยกเว้นพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ ที่ให้กำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ผู้เช่าจะได้รับสิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยอาจมีการต่อสัญญาเช่าออกไปอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี

การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

รับผิดชอบหาพื้นที่เพื่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคงและบ้านประชารัฐมาใช้ดำเนินการ

การให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

เป็นสวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในรูปแบบของ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิต ดังนี้

– ช่วงอายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
– ช่วงอายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
– ช่วงอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
– ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

รายจ่ายด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพ

คือ สิทธิที่ทุกคน (ข้าราชการ/มนุษย์เงินเดือน/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ) จะได้รับเงินชราภาพในรูปแบบ “บำเหน็จและบำนาญชราภาพ” ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ ดังนี้

บำเหน็จชราภาพ

– จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินที่คุณจ่ายสมทบเท่านั้น
– จ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้บำเหน็จเท่ากับเงินที่คุณจ่ายสมทบ บวกกับเงินที่นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ประกันสังคมกำหนด

บำนาญชราภาพ

เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน แม้ว่าจะหยุดส่งไปช่วงหนึ่งแล้วกลับมาเข้าระบบประกันสังคมใหม่ หรือส่งติดต่อกัน 15 ปีก็ตาม จะมีสิทธิ์รับบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่คิดคือ 15,000 บาท)

แต่ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ก็จะได้บำนาญบวกเพิ่มขึ้นไปอีก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี เช่น จ่ายเงินสมทบ 30 ปี ก็จะได้รับบำนาญเป็น 20% + (1.5% x 15 ปี) เท่ากับ 42.5%

นอกจากนี้ ภาครัฐยังเตรียมมาตรการต่าง ๆ ไว้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ อาทิ กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

ข้อมูลจาก ข่าวกระทรวงการคลัง, กรมกิจการผู้สูงอายุสำนักงานประกันสังคม