ส่องนโยบายจัดการพลาสติกที่ต่างประเทศ ทำแล้วได้ผลดี เขาทำได้ยังไงนะ !

ภาพจาก ทวิตเตอร์ @Rak_Mah_Jung

หลังผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Rak_Mah_Jung แชร์ภาพ เจ้านกอัลบาทรอส ขย้อนอาหารที่หาได้จากในทะเลออกมาป้อนลูกน้อยในรัง แต่อาหารที่ว่า คือ “เศษพลาสติก”  ทำให้กระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมรวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์ขยะพลาสติกล้นทะเลกลับมาอีกครั้ง พร้อม #GreeneryChallenge ที่พูดถึงการจุดประกายรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลากสติกในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

และวันนี้ Tonkit360 ขอพาทุกคนไปดูนโยบายจำกัดและกำจัดขยะพลาสติกในต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย และประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีวิธีการจัดการอย่างไรและผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดบ้าง

ประเทศญี่ปุ่น

มีกฎหมายด้านการจัดการขยะเฉพาะ และทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการจัดการขยะด้วย ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวนำมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสําเร็จในด้านการจัดการขยะสูง

นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ยังมีกฎหมายด้านการส่งเสริมการนําทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้ซ้ำและนํากลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยคํานึงถึงหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งได้มีการออกกฎหมายเฉพาะตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ อาทิ กฎหมายรีไซเคิลภาชนะและบรรจุภัณฑ์ กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้า กฎหมายรีไซเคิลขยะเศษอาหาร กฎหมายรีไซเคิลขยะจากการก่อสร้าง และกฎหมายรีไซเคิลยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เป็นต้น

ประเทศจีน

เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จึงไม่แปลกที่อัตราการใช้ถุงพลาสติกจะสูงมากเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ พบว่าใน 1 ปี ทั่วทั้งประเทศสร้างขยะถุงพลาสติกสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี (คิดเป็นการใช้ถุงพลาสติกถึงประมาณ 3,000 ล้านใบ/วัน)

กระทั่งเมื่อปี 2008 รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งห้ามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าจัดเตรียมถุงพลาสติกฟรีที่มีขนาดบางกว่า 0.25 มิลลิเมตรให้กับลูกค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้จีนลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 40,000 ล้านใบ แต่ในร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ก็ยังคงมีให้ถุงพลาสติกฟรีอยู่

ประเทศบังกลาเทศ

ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ประกาศกฎหมายทั้งห้ามผลิตและให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อ ในปี 2002 ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งละ 2,000 ดอลลาร์ เหตุเพราะบังกลาเทศขาดการจัดการกับระบบขยะทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 1988 และปี 1998 โดยขยะจำนวนมากไปอุดตันในท่อระบายน้ำ

สำหรับมาตรการดังกล่าวมีผลให้ชาวบังกลาเทศไม่กล้าใช้และทิ้งถุงพลาสติกตามท้องถนน ส่งผลให้ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก

ประเทศอังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักร

เป็นอีกประเทศที่กำลังตื่นตัวเรื่องการกำกับดูแลการใช้ถุงพลาสติก โดยในปี 2015 อังกฤษมีคำสั่งเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในร้านค้าใหญ่ ๆ คิดใบละ 5 เพนซ์ (2.14 บาท) ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 80% และคาดว่าการลดการใช้ถุงพลาสติกในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยสามารถลดงบประมาณค่ากำจัดขยะมูลฝอยได้ถึง 60 ล้านปอนด์ ทั้งยังลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้อีก 13 ล้านปอนด์

และในอนาคต “อังกฤษ” แผนที่จะนำระบบมัดจำขวดพลาสติกมาใช้ รวมถึงในการประชุมเครือจักรภพครั้งที่ผ่านมา อังกฤษได้เสนอให้มีการห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และก้านสำลีแคะหูอีกด้วย

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “อเมริกา” แม้ยังไม่มีคำสั่งห้ามหรือการเก็บภาษีกับถุงขยะพลาสติกทั่วประเทศ แต่ก็มีบางรัฐที่ออกมาตรการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อาทิ ออสติน และบราวน์สวิลล์ รัฐเท็กซัส, บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์, ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์, ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย และซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน เป็นต้น

ซึ่งนโยบายการห้ามใช้ถุงพลาสติกหรือการเก็บภาษีถุงพลาสติกของแต่ละรัฐ ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวเมือง ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกของรัฐที่มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ ลดลงไปกว่า 70% ทีเดียว

ประเทศไอร์แลนด์

เริ่มบังคับใช้การจัดการขยะโดยการเก็บภาษีถุงพลาสติก 15 ยูโรเซนต์ต่อใบ เมื่อปี 2544 ซึ่งปีแรกที่เริ่มเก็บภาษี พบว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณร้อยละ 90 จาก 1,200 ล้านใบ เหลือเพียง 235 ล้านใบ ทำให้ขยะทั่วประเทศมีปริมาณลดลงอย่างมาก และต่อมาในปี 2550 ไอร์แลนด์ได้ขึ้นภาษีถุงพลาสติก จาก 15 เป็น 22 ยูโรเซนต์ต่อใบ ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติก ในช่วงปี 2547-2549 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ประเทศอินโดนีเซีย

ในปี 2016 อินโดนีเซียใช้งบประมาณถึง 1 พันล้านในการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทดลองเก็บภาษีถุงพลาสติก แม้ในช่วงต้นจะเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้จำนวนมาก

ประเทศเมียนมาร์

ได้ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกในหลายเมือง อาทิ มัณฑะเลย์ บากัน และเนปิดอว์ นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาร์ยังประกาศให้พื้นที่เมืองมิตจีนาและเมืองสะกายเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกอีกด้วย

ประเทศกัมพูชา

ใช้วิธีเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค ขณะที่ทางการกำลังพิจารณาห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.03 มิลลิเมตร และมีความกว้างน้อยกว่า 30 เซนติเมตร โดยกัมพูชาตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 50% ภายในปี 2019 และจะเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในปี 2020

ประเทศมาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซีย ใช้วิธีเก็บภาษีเฉพาะเขตเมืองปีนัง พร้อมทั้งรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก และโฟม เฉพาะวันเสาร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2016 ทั้งยังแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ดังกล่าว ด้วยการกำหนดให้ผู้ค้าปลีก อาทิ พ่อค้าแม่ค้าในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ต้องยอมรับข้อกำหนดนี้ เมื่อสมัครหรือต่ออายุใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ โดยหากผู้ซื้อต้องการใช้ถุงพลาสติก ต้องชำระเงิน 20 เซ็นต์ต่อถุงพลาสติก 1 ใบ

ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการจัดการขยะพลาสติก แม้ว่าผลลัพธ์จะยังออกมาได้ไม่ดีมากนัก หรือบางประเทศต้องเจอกระแสต่อต้านจากประชาชน ก็ถือว่าได้เริ่มมีการลงมือจัดการปัญหาอย่างจริงจังแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับมาดู “ประเทศไทย” มีเพียงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเรื่องงดการให้ถุงพลาสติกเท่านั้น ซึ่งมีประชาชนตื่นตัวและให้ความร่วมมือแค่บางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ต้องรอดูในอนาคตว่า รัฐบาลใดของไทยที่กล้าจะประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกหรือการเก็บภาษีถุงพลาสติกแบบที่นานาประเทศกำลังทำอยู่ในขณะนี้บ้าง

อ้างอิงข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร