The Shape of Water – ความรักของคนแพ้

วงการภาพยนตร์ต่างประเทศตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนงานประกาศรางวัลอันทรงเกียรติ “ออสการ์” ครั้งที่ 90 ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 4 มีนาคม นี้ ค่ายหนังบ้านเราหลายๆ เจ้าเลยใช้โอกาสนี้ปล่อยภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่มีชื่อนำเสนอเข้าชิงรางวัลแต่ละประเภทออกมาให้แฟนหนังชาวไทยได้ชมและร่วมตัดสินว่าหนังเรื่องไหนสมควรแก่การได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ The Shape of Water ก็คือหนึ่งในผู้ท้าชิง

ภาพยนตร์รักอารมณ์ประหลาดของ กิลเลอร์โม เดลโตโร ปีนี้ได้รับการยกให้เป็นเต็ง 1 สำหรับสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หลังเรื่องราวโดนใจคณะกรรมการจนถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 13 สาขา แม้ส่วนตัวว่ามันดู Overated ไปสักหน่อยแต่อันนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน

หนังดำเนินเรื่องในบรรยากาศยุคสงครามเย็นที่ สหรัฐอเมริกา กับ โซเวียต เขม่นใส่กันในปี 1960 เล่าถึง เอไลซ่า (แซลลี ฮอว์กินส์) หญิงใบ้ผู้อาภัพ กิจวัตรประจำวันของเธอไม่มีอะไรมากไปกว่าตื่นนอน, ทำอาหาร, อาบน้ำ, สำเร็จความใคร่, แต่งตัวออกไปทำงานในฐานะภารโรงหญิงประจำห้องทดลองลับของสหรัฐอเมริกา ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติกระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบสัตว์ประหลาดพรายน้ำที่รัฐบาลจับมาทดลอง เธอมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับสัตว์ประหลาดตัวนี้ จนเกิดความผูกพันกลายเป็นความรักในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ “ชาย-หญิง” แต่เป็น “หญิงงามกับสัตว์ประหลาด”

ดูจากหนังตัวอย่าง เนื้อเรื่อง และตัวละครเอกที่เป็นหญิงงามกับสัตว์ประหลาด คุณผู้ชมคงคิดว่ามันช่างเหมือน Beauty and the Beast (โฉมงามกับเจ้าชายอสูร) เสียนี่กระไร ซึ่งก็จริงตามนั้น แต่สิ่งที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวคือ The Shape of Water นั้นดิบ รุนแรง และมืดมนกว่า ไม่มีเรื่องราวเพ้อฝันหรือถ้อยคำสวยหวาน มีแต่บทสนทนาที่ดิบ สมจริง เลือดสาด และฉากสยิวกิ้วมากมายชนิดที่ว่าถ้าบุตรหลานของท่านเรียกร้องอยากให้คุณพาไปดูเรื่องนี้เพราะดูตัวอย่างแล้วน่าจะโรแมนติก พาไปดูเรื่องอื่นดีกว่า

คนที่เป็นแฟนหนังของ กิลเลอร์โม เดลโตโร ผู้กำกับที่ฝากฝังผลงานสไตล์แฟนตาซีดังๆ ไว้มากมายเช่น Hellboy, Pan’s Labyrinth, Pacific Rim วางใจได้เพราะพี่เขายังคงทำหนังและใส่ลายเซ็นของตัวเองไว้ครบครัน โดยเฉพาะการเล่าถึงกลุ่มคนชายขอบของสังคม มนุษย์ที่สังคมตราหน้าว่าเป็นผู้อ่อนแอ พ่ายแพ้ ไม่สมประกอบ ซึ่งในเรื่องนี้ก็หมายถึง หญิงพิการ, สัตว์ประหลาด, ศิลปินตกอับที่ดันมีรสนิยมแบบรักร่วมเพศ, เพื่อนร่วมงานปากจัดแต่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของสามี ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้หนังจะนำเสนอกันตรงๆว่านี่คือหนังรัก แต่สิ่งที่ล้มเหลวกลับเป็นการนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงงามกับสัตว์ประหลาดซะอย่างงั้น หนังสอบตกในจุดนี้อย่างไม่น่าให้อภัยเพราะตลอดทั้งเรื่องเหมือนกำลังดู เอไลซ่า ยัดเยียดความรักให้แก่พรายน้ำไร้ชื่ออยู่ฝั่งเดียว ขณะที่ฝั่งพรายน้ำก็เหมือนสัตว์ประหลาดที่ถูกชักใยให้รู้จักกับ “ความรัก” มากกว่าผูกพันกับอีกฝ่ายมากกว่า เราแทบไม่เห็นสัตว์ประหลาดแสดงความรัก-ผูกพันต่อหญิงที่ช่วยเขาออกมาสักช็อต ประหนึ่งถูกคลุมถุงชน พ่อแม่อยากให้คบหากับคนนี้เหรอ? อืมๆ ก็ได้ตามใจ เธออยากนอนกับเราใช่ไหม มาสิรออยู่แล้ว ประมาณนั้น // ขณะเดียวกันบทหนังยังมีหลายจุดที่ดูแล้วแอบขำ ยกตัวอย่างฉากที่ เอไลซ่า วางแผนพาสัตว์ประหลาดหนีออกจากห้องทดลอง อุตส่าห์เตรียมแผนไว้เสียดิบดี แต่พอจะพาหนีจริงๆ ดันลืมไปว่าเจ้าสัตว์ประหลาดนี่ถูกโซ่ล็อคคออยู่ (………..) และอีกหลายจุดที่แม้จะพยายามอ้างความเป็นแฟนตาซีมากลบเกลื่อนแต่ดูแล้วเหมือน แถสด แถเปื่อยแถไฟไหม้ แถน้ำร้อนลวกไปหน่อย

เมื่อหัวใจหลักของเรื่องดูไร้พลัง ทำให้ต้องเบี่ยงเบนมาดูส่วนประกอบอื่นแทนเช่นด้านโปรดักชั่น ฉาก บรรยากาศ ห้องทดลอง ออกแบบได้สวยงามตามมาตรฐานแฟนตาซีของ กิลเลอร์โม เดลโตโร ส่วนเรื่องการแสดง แซลลี ฮอว์กินส์ นักแสดงหญิงชาวอังกฤษ ทุ่มพลังสุดตัวแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้แบบสมแล้วที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมหลายสำนัก ส่วนประเด็นรองอย่างเรื่องกลุ่มคนชายขอบของสังคม ไปมาดันสะท้อนได้ถึงแก่นกว่าเรื่องความรักของหนังเสียอีก เพราะหนังเปิดพื้นที่ให้นักแสดงที่ได้รับบทเป็นคนกลุ่มนี้ ถ่ายทอดความเป็น Loser ออกมาเต็มสูบเช่นหญิงใบ้ผู้อ้างว้าง ต้องการความรักมาเติมเต็มหัวใจที่เหี่ยวเฉา, จิตรกรชาวสีม่วงที่ต้องสู้ขายงานในยุคที่ภาพถ่ายถูกเข้ามาแทนภาพวาดและถูกรังเกียจเรื่องรสนิยมทางเพศที่ไม่เหมือนคนอื่น, พนักงานประจำห้องทดลองที่ต้องโดนกดขี่จากผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

ถึงจะไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบดังที่สื่อหลายสำนักในต่างประเทศยกย่อง แต่มันก็ยังเป็นหนังที่อยู่ในมาตรฐานที่ดีของ กิลเลอร์โม เดลโตโร ดูง่ายไม่ซับซ้อน และคิดว่างานประกาศรางวัลที่จะมาถึง The Shape of Water ก็น่าจะโกยกลับบ้านไปหลายสาขา กระนั้นในส่วนของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จะคว้ามาได้หรือไม่ คงต้องฮัมเพลงสุดฮิตในช่วงนี้สักหน่อยว่า……..ให้คุกกี้ทำนายกัน