6 เทคนิค สู่ “เรซูเม่” คุณภาพ

การทำเรซูเม่ หรือใบสมัครงานนั้น เป็นทักษะที่ทุกๆคนควรมีไว้ เพราะเรซูเม่จะเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นแรก ที่จะช่วยในการหางาน และเป็นด่านแรกที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทที่เราสมัครงานไปนั้นได้รู้จักกับตัวคุณ เพราะฉะนั้นการมี “เรซูเม่” ที่เด่นตา และถูกหลักการนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการจะหางานในอนาคต

ใช้รูปอย่างเป็นทางการ

ภาพตัวอย่าง (ภาพจาก wikimedia)

การส่งเรซูเม่ไปสมัครงานนั้น คุณต้องให้เกียรติกับบริษัทที่คุณกำลังจะสมัครงานด้วย เพราะฉะนั้นรูปที่ใช้ส่ง ก็จะแสดงให้เห็นถึงภาพ ภาพแรกที่เขาจะเห็นคุณ ซึ่งมันควรจะเป็นภาพอย่างเป็นทางการ ภาพหน้าตรงนั่นเอง เพราะถ้าคุณช้ภาพอย่างไม่เป็นทางการ นอกจากจะเป็นการไม่ให้เกียรติบริษัทที่คุณไปสมัครแล้ว มันยังแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของคุณด้วย ลักษณะจะคล้ายๆกับการถ่ายรูปทำวีซ่าหรือพาสปอร์ต

ให้เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ภาพจาก pexels.com

อันนี้อาจจะฟังดูง่าย แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนหลายต่อหลายคน ที่ฝากประวัติย่อไว้ แต่ให้เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อไม่ถึงตัว อันนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคุณโดยเฉพาะเลยนะ เพราะถ้าเกิดบริษัทอยากจะสัมภาษณ์งาน เขาอาจจะติดต่อคุณไม่ได้ และบริษัทส่วนใหญ่ก็จะไม่เสียเวลามาตามหาข้อมูลติดต่อได้ เพราะเขาไม่มีเวลาพอหรือเขาก็คงเลือกจะไปติดต่อกับผู้สมัครรายอื่นแทน

นอกจากเบอร์โทรศัพท์แล้ว อีเมลเองก็สำคัญนะ ให้อีเมลที่ดูดีหน่อย อย่าเอาอีเมลที่ใช้ชื่อข้อความหยาบคายไปให้ล่ะ แต่ที่สำคัญคือ ต้องติดต่อได้และต้องหมั่นเข้าไปดูอีเมลด้วย เผื่อเขาอีเมลตอบกลับมา

ปรับประวัติย่อให้เข้ากับงานที่สมัคร

ภาพจาก pixabay.com

อันนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะแน่นอนว่าคุณอาจจะมองว่า “ประวัติก็ดีอยู่แล้ว จะให้ปรับอะไรอีก?” จริงๆแล้วมันมีหลายเรื่องที่สามารถปรับได้ เช่นถ้างานที่คุณไปสมัครเน้นว่าคุณต้องพูดภาษาอังกฤษได้ดี ก็ควรจะแสดงหลักฐานว่าพูดได้ เช่นใส่คะแนนสอบภาษาอังกฤษอย่าง IELTS หรือ ใส่ว่าคุณมีทักษะในการพูดภาษานั้นๆไป

บางงานเองก็อาจจะถามถึงทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ คุณก็อาจจะสามารถเขียนย่อไว้ในประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเก่า หรือมหาวิทยาลัยว่า ใช้โปรแกรมนี้บ่อย ใช้เป็น หรือเคยเข้าคอร์สฝึกการใช้โปรแกรมต่างๆมาแล้ว และต้องไม่ลืมว่า แค่ประวัติการเรียนและงานนั้นอาจจะไม่พอ บางทีถ้าคุณเคยไปออกแคมป์ ฝึกงานที่ไหน มีผลงานอะไรบ้าง หรือเคยทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับงานที่จะสมัครไปนั้น ก็ควรจะใส่เอาไว้ใน “เรซูเม่” ด้วย

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถปรับ “ประวัติย่อ” ให้เข้ากับงานที่ไปสมัครได้ และสิ่งสำคัญที่ควรดูเพื่อช่วยในการปรับนั้น คือดูตำแหน่งงานที่สมัคร และดูว่าบริษัทนั้นต้องการเห็นอะไรในตัวผู้สมัครบ้าง และพยายามปรับเรซูเม่ตาม เรียงลำดับความสำคัญตามความเหมาะสมกับงานแต่ละงานที่จะสมัคร

ถ้ามีคนติดต่อได้ จะดีมาก

ภาพจาก pixabay.com

การบอกประสบการณ์ในการทำงานและเรียนนั้น แน่นอนว่าก็ต้องบอกกันอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้าคุณสามารถมีคนมารับรองประสบการณ์ของคุณได้ (จะเป็นเจ้านายของงานที่เก่า หรืออาจารย์ที่เคยเรียนด้วยตอนมหาลัย) ก็จะทำให้ “ประวัติย่อ” ของคุณดูมีน้ำหนักมากขึ้น และคนที่จะจ้างงาน ก็สามารถติดต่อเพื่อสอบถามการทำงานในงานก่อนๆได้ เพื่อจะได้เรียนรู้ว่า ผู้สมัครเป็นคนแบบไหนด้วย

การติดต่อแบบนี้ ควรจะแจ้งหัวหน้าหรืออาจารย์ก่อนนะ เพื่อเขาจะได้เตรียมพร้อมเกิดมีคนโทรไปหาจริงๆ หรือถ้าจะให้อีเมล ก็ได้เช่นกัน

ประวัติงาน และการศึกษาไม่ใช่ทุกอย่างนะ และมีเยอะ ก็ไม่ใช่ว่าดีเสมอ…

ภาพจาก Bluediamondgallery.com

บางบริษัทอาจจะมองเรื่องประสบการณ์การทำงานและระดับการศึกษาเป็นหลัก แต่ก็มีหลายๆบริษัทที่ระบุว่าอยากได้คนที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนจบใหม่และยังไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานมาก่อน อาจจะต้องนำกิจกรรมต่างๆที่เคยทำในมหาวิทยาลัยมาตีแผ่ และแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีศักยภาพ และได้อะไรจากการทำกิจกรรมเหล่านี้บ้าง จะเป็นกิจกรรม หรืองานวิทยานิพนธ์ที่เคยเขียน ประวัติความสำเร็จเช่นการได้ทุนเรียน เคยเป็นอาสาสมัคร หรือพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษา ทุกๆอย่างจะช่วยให้ประวัติของคุณดูมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น

บางคนที่มีคะแนนตอนเรียนดี ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำงานได้ดี และถ้าเรียนดีแต่ไม่มีกิจกรรมนอกวิชาเรียนเลย บางบริษัทก็อาจจะมองว่าคนๆนี้ ไม่เหมาะกับงานก็ได้เหมือนกันนะ

อย่าให้ยาวจนเกินไป

ภาพจาก pixabay.com

สิ่งหนึ่งที่ควรระวังเวลาจะส่งประวัติย่อ นั่นคือความยาว เพราะนี่คือ “ประวัติย่อ” นะ ไม่ใช่ “เรียงความ” ซึ่งมีข้อแนะนำว่า ประวัติย่อควรจะมีความยาวประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ A4 โดยประมาณ เพราะเจ้าหน้าที่บางคนอาจจะไม่มีเวลาอ่านประวัติของคนจนหมด เพราะฉะนั้นถ้าเขียนประวัติยาว เขาอาจจะไม่อยากอ่านก็ได้

ในขณะเดียวกัน สำหรับ “เรซูเม่” ภาษาอังกฤษเอง การเตรียมประวัติส่วนตัวสั้นๆ ประมาณ 1 ย่อหน้า (4-5 บรรทัด) ก็จะช่วยพอสมควร อันนี้เพื่อเป็นการแนะนำตัวให้กับคนอ่านใบสมัคร การทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้คัดประวัติสนใจอยากอ่านประวัติของเรา เพราะเป็นการช่วยร่นเวลาให้เขา และช่วยให้ไม่จำเป็นจะต้องอ่านประวัติย่อให้จบ ก็พอจะรู้จักกับตัวผู้มาสมัครงานแล้ว พยายามเน้นข้อดีของคุณไว้พอสมควรในประวัติส่วนตัวนี้ แต่สุดท้ายคือ อย่าให้ยาวจนเกินไปล่ะ