Samui Song (ไม่มีสมุยสำหรับเธอ) – เพราะใครๆก็อยากมีชีวิตที่ดี

เอ่ยชื่อว่าเป็นหนังของผู้กำกับ “เป็นเอก รัตนเรือง” มั่นใจว่า 95 เปอร์เซนต์คงคิดเบือนหน้าหนีเพราะส่วนใหญ่ใครก็ตามที่ดูหนังพี่เขาจบมักจะออกโรงด้วยความมึนงงและพูดกันว่า “หนังอะไรวะ” / “ดูไม่รู้เรื่อง” / “หลับ” / “ขอเงินคืนได้ไหม” ทว่ากับภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 9 ผกก.เป็นเอก กลับมาพร้อมเรื่องราวที่ย่อยง่าย เป็นมิตรกับคนดู ไม่ใช่เป็นแค่มิตรกับตัว “เป็นเอก” หรือแฟนคลับเหมือนเรื่องก่อนๆแล้ว

หนังเล่าถึง วิ (เฌอมาลย์ บุญศักดิ์) นักแสดงหญิงชื่อดังที่มีชีวิตหลังจออันน่าเห็นใจ สามีของเธอถูกดึงเข้าไปเป็นสาวกของลัทธิประหลาดที่ตัวเธอไม่เชื่อและศรัทธา ความทุกข์เริ่มกัดกินเธออย่างต่อเนื่อง และเมื่อความอดทนถึงขีดสุด เธอก็ไหว้วาน กาย (เดวิด อัศวนนท์) นักฆ่ารับจ้างที่รู้จักกันโดยบังเอิญ จัดการฆ่าสามีของเธอเพื่อที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่แน่นอนว่าเรื่องราวมันไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย และนำไปสู่เส้นทางชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดูแค่ตัวอย่างหนังที่ปล่อยออกมา แฟนคลับหรือแฟนชังของ เป็นเอก คงรู้สึกประหลาดใจเพราะมันออกแนว ทริลเลอร์ ตลกโปกฮา ไม่ซับซ้อน และเรียกร้องความสนใจจากคนดูทั่วไปมากกว่าหนังเรื่องอื่นที่เขาทำมา ขนาดที่ผู้เขียนเองแม้ไม่ใช่แฟนหนังพี่เขายังคิดว่ามาไม้ไหนหว่า? กระทั่งพอลองตีตั๋วเข้าไปดู ก็พบว่านี่คืองานของ เป็นเอก ที่แมสที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติการทำงานของเขา ดูง่าย ไม่ยากแก่การทำความเข้าใจ และยังมีลายเซ็นอยู่ครบครัน

ด้วยสไตล์หนังที่มาแนวทริลเลอร์ ระทึกขวัญ และแอบตลกในบางฉาก หากนักแสดงที่เลือกมาเล่นไม่ดี เคมีไม่เข้า ทุกอย่างก็จบเห่ แต่เรื่องนี้เล่นกันสอบผ่านได้เกียรตินิยมทุกคน เริ่มตั้งแต่ พลอย-เฌอมาลย์ บุญศักดิ์ ซึ่งเป็นคนที่แบกหนังไว้ทั้งเรื่อง แม้เราจะเห็นหน้าเธอตามสื่อกอสซิปมากกว่าผลงานบนจอทีวีในช่วง 2 ปีหลัง แต่เมื่อไหร่ที่เธออยู่หน้ากล้องถ่ายหนัง เธอก็ฉายวิญญาณความเป็นนักแสดงขายฝีมือได้น่าประทับใจ ขณะที่ เดวิด อัศวนนท์ กับบทนักฆ่าตกอับ ส่วนตัวเวลาดูพี่เขาแสดงเรื่องอื่นจะรู้สึกอึดอัดนิดหน่อยกับลีลา “โอเวอร์ แอ็คติ้ง” ที่มากล้น แต่เรื่องนี้ใส่พลังได้ไม่มาก ไม่ล้นเกินไป แถมยังสอดแทรกความตลกเข้ามาจนทำให้หนังดูไม่เครียด ส่วนคุณพี่ วิทยา ปานศรีงาม กับบทเจ้าลัทธิ ออกน้อยๆแต่อยู่หมัด ดูแล้วรู้ว่าพี่เขาไม่มาดีแน่

นอกจากเส้นเรื่องหลัก หนังยังสอดแทรกการจิกกัดสังคมเอาไว้ตามสไตล์ผู้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นความงมงายต่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทย ที่ยอมให้คนแปลกหน้าจูงจมูก หลอกล่อง่ายๆ (เหมือนวัดแห่งหนึ่งในบ้านเรา) กระทั่งตัวนักแสดง มีฉากหนึ่งที่ผู้เขียนดูแล้วขำกลิ้งคือตอนที่ วิ ขอผู้จัดการส่วนตัวรับงานแสดงบทแปลกๆบ้าง แต่ถูกปฏิเสธเพราะคนดูติดภาพนางร้ายที่ทำให้เธอเป็นที่โด่งดังไปแล้ว ซึ่งก็เหมือนเป็นการล้อภาพลักษณ์ของพลอยในชีวิตจริงที่แสบแซ่บเกินกว่าจะรับบทนางเอกยุคนี้ได้

แม้แต่ผู้กำกับก็ยังกล้าล้อตัวเอง ฉากหนึ่งที่ เป็นเอก มาร่วมแสดงในบทรับเชิญแล้วพูดกับเจ้าลัทธิว่า “อยากทำหนังให้ได้ 100 ล้าน” ก็ถือเป็นตลกร้ายที่ดูแล้วขำขื่นๆเหมือนกัน ขนาดหนังที่แมสๆของเขาในอดีตอย่าง มนต์รักทรานซิสเตอร์ กับ ฝนตกขึ้นฟ้า ก็ทำเงินไม่ถึงกับทำให้ ผกก.ยิ้มได้

แต่เหนืออื่นใดสาระสำคัญคือการที่ตัวละครทุกคนล้วนมีแรงขับเคลื่อนที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือแสวงหาทางดับทุกข์ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขโดยไม่สนวิธีการแม้จะมีตัวเลือกที่ดีกว่ามากมาย (ก็ถ้ามันเลือกทางออกง่ายๆหนังคงจบภายใน 10 นาที) เช่น วิ ที่อยากสลัดหนีจากสามีจอมงมงายเพื่อเป็นอิสระ, กาย นักฆ่าที่อยากได้เงินไปรักษาแม่ กระทั่ง เฌอโรม สามีของ วิ ที่พอจะเข้าใจได้ว่าการถวายตัวและใจเข้าเป็นสาวกของลัทธิประหลาด ก็เพราะอยากกลบปมด้อยของตัวเอง ลืมความเศร้าที่ไม่มีทางหนีพ้น

ดังนั้น สำหรับตัวละครในหนังเรื่องนี้ คำว่า “สมุย” อาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่เรารู้จักกันดี แต่อาจเป็นสถานที่หรือจุดหมายปลายทางอะไรสักอย่างที่พวกเขาอยากจะปลดเปลื้องความทุกข์ ความเศร้า และภาระที่มี เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า…