ชี้เป้า 6 ช่องทาง “เช็กมิจฉาชีพ” เบื้องต้นก่อนกดโอน

ในปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์ หรือหน้าจอสมาร์ตโฟนด้วยแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากง่าย สะดวก รวดเร็ว เราแทบจะไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับธนาคารเพื่อดำเนินการใด ๆ และแทบจะไม่ต้องเดินหาตู้เอทีเอ็มเพื่อทำธุรกรรมอีกต่อไป (แบบที่ช่วงหนึ่ง เวลาจะโอนเงินซื้อของออนไลน์ ต้องไปทำการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม) ทุกอย่างสามารถปิดจบได้ง่าย ๆ ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียวในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

แต่ด้วยความง่าย สะดวก และรวดเร็ว ที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ มันกลายเป็นช่องโหว่ให้เราสามารถทำธุรกรรมไปหา “เหล่ามิจฉาชีพ” ได้ง่าย ๆ เช่นกัน แม้ว่าระบบการทำธุรกรรมของสถาบันทางการเงินบนออนไลน์จะค่อนข้างปลอดภัยและรัดกุม แต่ถ้าตัวเราเผลอไปบอกข้อมูลส่วนตัวกับมิจฉาชีพ เผลอเชื่อและดำเนินการต่าง ๆ ตามที่มิจฉาชีพบอก อยากซื้อของชิ้นหนึ่งมาก กลัวของหมด จึงเผลอกดโอนเงินให้กับผู้ขายโดยไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ หรือเผลอไปกดลิงก์แปลก ๆ เพื่อติดตั้งแอปฯ อันตรายที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงบัญชีออนไลน์ของเราและจัดการดูดเงินออกไปจากบัญชีจนเกลี้ยง มันก็ทำได้ง่าย ๆ สะดวก และรวดเร็วมากสำหรับมิจฉาชีพเช่นกัน

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเอง “เผลอ” ทำธุรกรรมใด ๆ เราจึงต้องมีสติทุกครั้งที่จะจับโทรศัพท์มือถือ ที่เปรียบได้ว่าเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ของเรา ในกรณีที่เราจะเป็นคนทำธุรกรรมเองแบบตั้งใจอย่างการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อจะกดโอนเงินไปที่ไหนก็ตาม ต้องเช็กให้แน่ใจก่อนว่าปลอดภัยที่จะโอนหรือไม่ เพราะปัญหามิจฉาชีพแฝงตัวเป็นคนค้าขายหลอกลวงผู้บริโภค เป็นปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่มีคนตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสั่งของแล้วไม่ส่ง หรือส่งของไม่ตรงปก ดังนั้น จึงควรตรวจสอบรายชื่อและเช็กบัญชีมิจฉาชีพให้ดี ก่อนตัดสินใจโอนเงินทุกครั้ง

ตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้แนะนำวิธีและช่องทางในการตรวจสอบมิจฉาชีพในขั้นเบื้องต้น เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และนี่คือ 6 ช่องทางในการเช็กว่าตัวเรากำลังโดนมิจฉาชีพจู่โจมหลอกให้โอนเงินอยู่หรือไม่

1. ตรวจสอบชื่อผ่าน Google

เป็นวิธีสุดคลาสสิกที่หลายคนอาจมองข้าม แต่แท้จริงแล้วเป็นวิธีที่ช่วยกรองในขั้นเบื้องต้นได้เป็นอย่างดีว่าชื่อบัญชีที่เรากำลังจะโอนเงินไปให้นั้นเป็นคนค้าขายธรรมดาหรือเป็นมิจฉาชีพ เพียงแค่นำเอาชื่อคนขาย หรือชื่อของเจ้าของบัญชีที่เรากำลังจะโอนเงิน ไปค้นหาบน Google ถ้าเป็นมิจฉาชีพ ก็จะมีรายละเอียดเตือนภัยว่าบัญชีนี้เคยมีประวัติอย่างไรบ้าง รวมถึงอาจเจอข่าวเก่า ๆ ที่มีเนื้อหาของการฉ้อโกง การหลอกลวงที่เป็นชื่อเดียวกันกับที่เรานำไปค้นหาก็ได้ การตรวจสอบชื่อผ่านทาง Google จึงเป็นการเช็กในขั้นแรกแบบง่าย ๆ และไม่ยุ่งยากอะไร

2. ตรวจสอบรายชื่อผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถใช้เช็กในเบื้องต้นได้เช่นกัน เพราะโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก เพื่อใช้สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันเรื่องราวกับสาธารณชนผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่เคยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพชื่อนั้นชื่อนี้ มีกระบวนการขั้นตอนในการหลอกลวงแบบนั้นแบบนี้ ก็มักจะมีการนำข้อมูลที่ตัวเองมีหรือประสบการณ์โดนโกงของตัวเองมาโพสต์แชร์ในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง หรือโพสต์เตือนภัยเป็นอุทาหรณ์ไว้ตามกลุ่มต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

3. เช็กผ่านเว็บไซต์ “Blacklistseller”

Blacklistseller เป็นช่องทางการเช็กมิจฉาชีพผ่านทางเว็บไซต์ โดยเว็บไซต์นี้จะมีการระบุข้อมูลของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ชื่อบัญชีมิจฉาชีพ รายชื่อมิจฉาชีพ สามารถเช็กเลขบัญชีของมิจฉาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนซื้อขายจนไปถึงขั้นตอนโอนเงิน เราสามารถนำเอาข้อมูลที่เราได้จากมิจฉาชีพมาค้นหาประวัติฉ้อโกงได้ ถ้าคนขายส่งภาพสำเนาบัตรประชาชนมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการโอนเงิน เราก็สามารถใช้เลขบัตรประชาชนค้นหาประวัติการเปลี่ยนชื่อได้ นอกจากนี้ เรายังร่วมแจ้งข้อมูลของผู้ขายที่ควรระวัง เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้เช่นกัน

4. เช็กผ่านเว็บไซต์ “ฉลาดโอน”

ฉลาดโอน เป็นช่องทางการเช็กมิจฉาชีพผ่านทางเว็บไซต์ ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน สามารถตรวจสอบข้อมูลชื่อบัญชี เลขที่บัญชีธนาคาร/พร้อมเพย์/ทรูวอลเล็ต หรือเบอร์โทร/sms ของผู้รับโอน ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ สามารถแจ้งข้อมูลคนโกงเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อได้ หรือถ้าถูกโกง ก็สามารถแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ให้ทีมงานช่วยรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีระบบยืนยันตัวตนผู้ขาย สามารถแสดงบัตรที่ได้จากฉลาดโอนต่อผู้ซื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือว่าผู้ขายมีตัวตนจริง

5. เช็กผ่านเว็บไซต์ “เช็กก่อน”

เช็กก่อน เป็นช่องทางการเช็กมิจฉาชีพผ่านทางเว็บไซต์ช่องทางใหม่ สำหรับเช็กบัญชีมิจฉาชีพและตรวจสอบบัญชีผู้ซื้อ/ผู้ขาย เพื่อป้องกันการถูกโกงออนไลน์สำหรับประชาชน เราสามารถตรวจสอบเบอร์โทร เลขบัญชี พร้อมเพย์ เพื่อเช็กว่าบัญชีที่เรากำลังจะโอนเงินไปนั้นเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ เพียงแค่กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร เบอร์พร้อมเพย์ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ URL เว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์/เพจ ที่ต้องการจะตรวจสอบก่อนโอน และสามารถแจ้งเบาะแสคนโกง เพื่อป้องกันไม่ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้ อีกทั้งยังมีข่าวสารความรู้เพื่อรู้ทันกลโกงให้ได้เช็กอีกด้วย

6. เช็กจากเบอร์โทรศัพท์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังคงทำงานอย่างหนักกันแบบไม่เว้นวันหยุดราชการ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในทุกหย่อมหญ้า ด้วยการโทรมาหลอกลวงพร้อมมุกใหม่ ๆ อยู่เสมอ การรู้ทันมุกมิจฉาชีพถือเป็นการป้องกันตัวเองในระดับหนึ่ง แต่กว่าเราจะรู้ว่าเป็นมิจฉาชีพก็เสียเวลารับโทรศัพท์ เสียเวลาคุยด้วยตั้งนาน ดังนั้น การเช็กมิจฉาชีพจากเบอร์โทรศัพท์ด้วยแอปพลิเคชันกรองเบอร์น่าสงสัย ก็เป็นตัวช่วยให้ตรวจสอบคนโกงได้อย่างง่าย ๆ ในเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอก หรือไม่เสียเวลารับโทรศัพท์จากหมายเลขที่แจ้งเตือนว่าน่าสงสัยด้วย โทรมาก็กดทิ้งเลย

  • Whoscall – ตรวจสอบเบอร์โทรและ SMS แจ้งเตือนมิจฉาชีพ
  • Truecaller – ตรวจสอบแหล่งที่มาของคนโทร โดยเฉพาะจากต่างประเทศ