Parody เมื่อการล้อเลียนกลายเป็นเรื่องสนุก (เกินไป)

Parody คือการสร้างคลิปล้อเลียนหรือเลียนแบบเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน หรือมีจุดประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ โดยจะเป็นการแสดงผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดการพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งแอ็กเคานต์ในโซเชียลมีเดียที่ทำคลิปล้อเลียนแบบนี้จะเรียกตัวเองว่า แอ็กฯ Parody

ถามว่าวิธีการแบบนี้ หากย้อนกลับไปในอดีต ยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียมีหรือไม่ คำตอบคือมีค่ะ แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม จนกระทั่งวันหนึ่งชาวโลกได้รู้จักกับโซเชียลมีเดีย การทำคลิปล้อเลียนจึงกลายจุดขายของเหล่า ครีเอเตอร์ ที่บอกว่าตนเองคือ แอ็กฯ Parody และหลายแอ็กฯ ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย

คลิป Parody มีให้ชมกันเรื่อย ๆ ในเกือบทุกพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก จนกระทั่งการตลาดยุคดิจิทัลหันมาให้ความนิยมกับเหล่า Influencer หรือครีเอเตอร์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทำให้หลายแอ็กฯ มีรายได้ไม่น้อยจากแบรนด์ที่ต้องการสินค้าหรือบริการของตนอยู่ในกระแส นานวันเข้า ครีเอเตอร์ ที่สร้างสรรค์ คลิป Parody ก็เริ่มจะหลุดจากกรอบของจริยธรรม เราได้เห็นคลิป Parody ที่ล้อเลียนต้นฉบับที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเรียกความสนุกและกลายเป็นความสนุกที่เพิ่มดีกรีความเจ็บปวดให้กับต้นฉบับที่โดนล้อ

ดังเช่นเหตุการณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อครีเอเตอร์ Parody รายหนึ่งที่มีผู้ติดตามหลักล้าน ทำคลิป Parody ล้อเลียนท่าการกินของเด็กมัธยมปลายที่สนุกกับการทำคลิปกินเที่ยวเพื่อให้คนอื่นได้เห็นรอยยิ้มของเธอ กลายเป็นว่าท่าทางการกินและรอยยิ้มของเธอ กลายเป็นเหยื่อของครีเอเตอร์ ที่ต้องการสร้าง Contents เมื่อคลิปถูกปล่อยออกมา เด็กสาวที่เป็นต้นฉบับถูกนำออกไปล้อเลียนในวงกว้างกับเหล่าครีเอเตอร์ Parody

เรื่องจบลงที่เด็กสาวต้องปิดแอ็กเคานต์ตนเอง ทั้งที่เธอไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ขณะที่ แอ็กฯ Parody ออกมาขอโทษกับสิ่งที่ได้ทำไป ส่วนเนติเซนก็ดันแตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยกับคลิป Parody และคนที่ไม่เห็นด้วยกับคลิปที่เอาคนอื่นมาล้อเลียนให้กลายเป็นเรื่องสนุก

แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนสังคมค่ะ น้อง ๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียนแล้วชอบทำคลิปลง TikTok, Facebook หรือ YouTube คงต้องระวังกันให้มากขึ้น เพราะเราอยู่ในสังคมยุคใหม่ที่ใครก็ได้ สามารถเข้ามาวิจารณ์ หรือด่าทอเราทั้งที่เราอยู่ในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในขณะที่เหล่าครีเอเตอร์ในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อให้ตนเองได้ Engagement จนลืมไปแล้วว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นได้ทำร้ายคนที่เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วยหรือเปล่า

อย่าสนใจแต่ความสนุกและยอดผู้ชมจนลืมคิดถึงจริยธรรมที่ควรมีอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มิเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่คุณทำลงไป ก็จะย้อนกลับเข้ามาหาตัวคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง “what goes around comes around” (ถ้าคุณทำให้คนอื่นเป็นตัวตลก วันหนึ่งคุณก็จะถูกคนอื่นทำให้คุณเป็นตัวตลกด้วยเช่นกัน)

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า