ตามที่มีการใช้วิธีการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ (CDM) เป็นช่องทางของการฟอกเงินที่ได้จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด และการพนัน รวมถึงการหลอกลวงทางการเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อส่งผ่านไปยังผู้กระทำผิด โดยไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติจำนวนมากนั้น
สถาบันการเงินต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยการทำธุรกรรมเงินสดผ่านเครื่องฝากเงินตู้ CDM ต้องสามารถตรวจสอบได้ทั้งต้นทางและปลายทาง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรม ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกันพิจารณาวิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้บริการ และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น การแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM* สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ
- ผู้ฝากเงินใส่หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัส OTP (One-Time Password) ที่ได้รับ โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 30,000 บาทต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
- ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตน ร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN) โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
ทั้งนี้ การแสดงตนที่ตู้ CDM ด้วยวิธีการดังกล่าว จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยในระยะต่อไป ปปง. ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จะประเมินผลการดำเนินการ เพื่อพัฒนาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการสามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ธนาคาร หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของธนาคารที่ใช้บริการ
ที่มา : สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]