คนกับรถรวมกันเป็นหนึ่ง!

ในกีฬาแข่งรถ เรามักจะได้ยินเรื่องของการ “เซตอัปรถ” อยู่เป็นประจำนะครับ เพราะมันคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้รถเร็วและแรง อันจะนำไปสู่ชัยชนะบนสนามแข่ง อย่างไรก็ดี ต่อให้เซตอัปรถดีอย่างไร แต่หากคนขับขี่ไม่สามารถรีดสมรรถนะของรถออกมาได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยากที่จะไปสู่ชัยชนะ

เคยมีคำถามว่า หากให้ไมเคิล ชูมัคเกอร์ มาขับรถของทีมอย่างมินาร์ดี (ทีมท้ายแถวของเอฟวันในยุคก่อน) เขาจะชนะได้หรือไม่ หรือหากให้นักขับทีมมินาร์ดี มาขับรถเฟอร์รารี่ จะชนะได้หรือไม่ หรือกระทั่งในยุคนี้ หากให้นักบิดมือเทพในโมโตจีพีอย่าง มาร์ค มาร์เกซ หรือ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร่ ไปขี่รถทีมดูคาติ จะชนะได้หรือเปล่า

ที่เอ่ยมาเป็นเพียงประเด็นคำถามที่ตั้งเอาไว้ ที่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นหรอกครับ แต่บอกได้เลย ในทุก ๆ ชนิดกีฬา ต่อให้จะเป็นนักกีฬาพรสวรรค์ระดับเทพ มีอุปกรณ์ครบครัน แต่หากปราศจากการฝึกซ้อม ก็ยากที่จะชนะคู่แข่งได้ในทันที กีฬามอเตอร์สปอร์ตก็เช่นกันครับ สังเกตได้เลยว่านักแข่งที่ว่าเก่ง ๆ เมื่อต้องย้ายทีมหรือเปลี่ยนรถคันใหม่พวกเขายังต้องใช้เวลา

ขึ้นอยู่กับว่าจะใครจะใช้เวลามากหรือน้อย อย่างวาเลนติโน่ รอสซี่ ที่ย้ายสลับขั้วจากฮอนด้าสู่ยามาฮ่าในปี 2004 แล้วขี่ชนะได้เลยในสนามแรกภายใต้ต้นสังกัดใหม่ เขาก็ต้องผ่านการซ้อม การปรับตัวต่าง ๆ มาเยอะในช่วงการทดสอบรถวินเตอร์เทสต์ เพียงแต่ว่าเขาปรับตัวได้เร็วมาก และสามารถรีดสมรรถนะของรถออกมาได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น

ฝีมือและพรสวรรค์ก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ แต่ผมยังเชื่อว่าการที่นักขับต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรถคือสิ่งที่สำคัญกว่า อย่างในการการแข่งขันเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ (WSBK) หลายคนมองว่า หากนักบิดจากโมโตจีพี ข้ามฝากมาแข่งในรายการนี้ อย่างไรก็มีฝีมือเหนือกว่านักบิดคนอื่น ๆ และก็มีโอกาสชนะได้ไม่ยาก แต่ที่ผ่านมา ผลการแข่งขันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จริง

อัลบาโร เบาติสตา อดีตนักบิดโมโตจีพี ซึ่งเป็นแชมป์โลกเวิลด์ซูเปอร์ไบค์คนล่าสุด ใช้เวลาถึง 3 ปี นับจากข้ามฝั่งจากโมโตจีพีมา WSBK ก่อนจะคว้าแชมป์โลกได้เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ใครก็มองว่า รถโปรดักชันไบค์แบบในฝั่ง WSBK ขี่ง่ายกว่ารถแข่งโมโตจีพีที่แรงและควบคุมยากกว่าเยอะ นักบิดระดับโมโตจีพีลงมาขี่ WSBK ก็ไม่น่าจะใช่งานยากอะไร

หรือหากจะต่อให้นำข้อมูลการเซตอัปรถของรถแข่งของคนที่เป็นแชมป์โลก มาใส่ในรถอีกหนึ่งคันในสเปกเดียวกันให้เหมือนกันแบบเป๊ะ ๆ แต่หากคนที่ควบคุมพวงมาลัยหรือแฮนเดิลบาร์ไม่สามารถเค้นสมรรถนะได้เต็มประสิทธิภาพก็เร็วไม่เท่าแน่นอน ซึ่งทางเดียวที่ทำได้ คือการซ้อม ซ้อม และซ้อม เพื่อให้คุ้นเคยกับตัวรถ และวิธีการขับขี่ของตัวเอง

ปัจจุบันในสนามแข่งรถ ไล่ตั้งแต่ระดับโลกลงมาถึงระดับประเทศในบ้านเรา มีคอมพิวเตอร์ที่จะส่งข้อมูล Data ต่าง ๆ ของตัวรถมาที่ทีมงาน นั่นหมายความว่ามีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการเซตอัปรถมากขึ้น แต่กระนั้น ในขั้นตอนสุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับ “มนุษย์” อยู่ดีว่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกับคุณหมอที่เห็นอาการ แล้วต้องวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษาผู้ป่วย

ส่วนผู้ป่วยก็เปรียบเหมือนนักแข่ง ที่จำเป็นต้องเล่าอาการของตัวรถให้คุณหมอได้เข้าใจและถูกต้องที่สุด ที่สำคัญจะต้องสอดคล้องและเป็นเหตุเป็นผลกับ Data ที่โชว์ออกมาด้วย ซึ่งสโลแกน “คนกับรถรวมกันเป็นหนึ่ง” จากโฆษณารถยามาฮ่าตระกูล R ซีรีส์ คือคำจำกัดความที่ทำให้เห็นภาพที่สุดครับ คือจะทำอย่างไรให้คน (นับรวมทั้งนักแข่งและทีมงานด้วย) เป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถให้ได้มากที่สุด

ทั้งหมดคือความท้าทายของนักแข่งรถทุกระดับ โดยเฉพาะนักแข่งไทยในการแข่งขันระดับโลก ที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้ เราจำเป็นต้องเป็นหนึ่งกับตัวรถให้ได้มากที่สุด เพราะในแต่ละสนามก็จะมีคาแรกเตอร์ต่างกันไป การเซตอัปก็จะต่างไปด้วย หากไม่รู้จักรถ ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีกในการทำความคุ้นเคยกับเรซซิ่งไลน์ของสนามนั้น ๆ

สุดท้ายขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับนักแข่งไทยและทีมแข่งไทยบนเวทีระดับโลกทุกการแข่งขันครับ เพราะก้าวแรกสู่ระดับเวิลด์คลาส ไม่มีอะไรที่ง่ายแน่นอน แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ