กัมมันตรังสีคืออะไร ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่

ข่าวใหญ่ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่าง ๆ และสร้างความสับสน ความน่าฉงนสงสัยว่าสรุปแล้วฉันจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะเป็นข่าวที่วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายไป ก่อนที่จะถูกพบในสภาพที่ถูกหลอมไปแล้วนั้น จะเห็นว่าเวลานี้ผู้คนยังไม่อาจเชื่อข่าวสารที่ถูกนำเสนอออกมาได้เต็มร้อยว่าตนเองจะปลอดภัย ด้วยข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ที่ไม่นิ่ง เดี๋ยวสื่อนั้นว่าอย่างนั้น สื่อนี้ว่าอย่างนี้ อีกในขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐที่ควรจะมีหน้าที่สื่อสารกับประชาชนโดยตรง ก็ไม่ได้ชี้แจงให้เกิดความกระจ่างเท่าไรนัก ความหวาดกลัวและความสงสัย ทำให้คนหาข้อมูลเอง และคิดกันไปต่าง ๆ นานา ทั้งคิดโดยอิงกับความรู้และข้อเท็จจริง และวิตกจนคิดเองเกินจริง

เนื่องจากกัมมันตรังสีไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิด และไม่รู้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร การมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ กัมมันตรังสี จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น อย่างน้อยที่สุดก็คือ จะได้ไม่มีใครไปขโมยมันออกมาจากที่ที่มันควรจะอยู่ และนำไปขายทอดตามร้านรับซื้อของเก่า จนกระทั่งนำไปชำแหละ หรือนำมาหลอมรวมกับเศษเหล็กทั่ว ๆ ไปเพื่อรีไซเคิล จนทำให้คนทั้งประเทศแตกตื่นกันขนาดนี้

ธาตุกัมมันตรังสีคืออะไร

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า “ธาตุ” ความรู้พื้นฐานในทางวิทยาศาสตร์จะหมายถึง สารบริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยสารเพียงชนิดเดียว ไม่สามารถนำมาแยกหรือสลายออกเป็นสารอื่นได้อีก อนุภาคที่เล็กที่สุดของธาตุจะเรียกว่า อะตอม โดยโครงสร้างภายในของอะตอมจะประกอบด้วยนิวเคลียสซึ่งเป็นแกนกลางของอะตอม มีอิเล็กตรอน (มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ) โคจรอยู่รอบ ๆ นิวเคลียส และภายในนิวเคลียสประกอบด้วยโปรตอน (มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก) และนิวตรอน (ไม่มีประจุไฟฟ้า) โดยในสภาวะปกติ โครงสร้างของอะตอมจะมีจำนวนอิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนโปรตอน

ส่วน ธาตุกัมมันตรังสี จะเป็นธาตุที่มีองค์ประกอบภายในนิวเคลียสที่ไม่เสถียร ทำให้มีการสลายตัวหรือมีการปล่อยรังสีของธาตุอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้องค์ประกอบภายในนิวเคลียสมีความสมดุลและเสถียรมากขึ้น นั่นหมายความว่าธาตุกัมมันตรังสี ก็คือธาตุที่มีสมบัติในการแผ่รังสีได้เองอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏการณ์การแผ่รังสีที่เกิดขึ้นจะเรียกว่า กัมมันตภาพรังสี

เนื่องจากธาตุกัมมันตรังสีจะแผ่รังสีออกมาเองตลอดเวลา เป็นรังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องตรวจจับด้วยเครื่องมือตรวจสอบเท่านั้น อีกทั้งการแผ่รังสีนี้สามารถเปลี่ยนธาตุดังกล่าวเป็นธาตุอื่นได้ด้วย รังสีที่แผ่ออกมาจึงอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตลึกไปถึงระดับพันธุกรรมเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าหากได้รับอันตรายลึกลงไปถึงระดับพันธุกรรม ก็จะถ่ายทอดความผิดปกติต่าง ๆ ไปยังทายาทรุ่นต่อ ๆ ไปได้ แต่อันตรายเบื้องต้นหากเราไปสัมผัสเข้ากับธาตุกัมมันตรังสีหรือรังสีที่แผ่ออกมา ก็จะได้รับความเสียหายต่ออวัยวะภายนอกก่อน เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผลไหม้ หรือเนื้อตาย และอาการทั่วไปหลังจากได้รับรังสีในปริมาณมาก เช่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว

สำหรับ ธาตุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” (Caesium-137) ที่กำลังเป็นข่าวดังอยู่ในเวลานี้ เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม (Cs) ธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 55 ลักษณะเป็นโลหะอ่อน มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก เมื่ออยู่ในสถานะของแข็งจะมีสภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ โดยส่วนมากนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เช่น วัดความหนาของวัสดุ วัดการไหลของของเหลว เครื่องวัดความชื้น ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ประโยชน์ทางการแพทย์ใช้รักษาโรคมะเร็ง

รังสีที่แผ่ออกมาจากธาตุกัมมันตรังสีมีอะไรบ้าง

ปรากฏการณ์การแผ่รังสีของธาตุกัมมันตรังสีจะเรียกว่า กัมมันตภาพรังสี โดยกัมมันตภาพรังสี มี 3 ชนิด ได้แก่

1. รังสีแอลฟา (Alpha: α) คือ อนุภาคที่มีคุณสมบัติประจุเป็นบวก มีมวลค่อนข้างใหญ่ ส่งผลให้รังสีแอลฟาเกิดการเบี่ยงเบนจากการเคลื่อนที่ได้ยาก มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำ ผ่านอากาศได้เพียง 2-3 เซนติเมตร ไม่สามารถทะลุผ่านสิ่งกีดขวาง เช่น ผิวหนัง แผ่นโลหะบาง ๆ หรือแผ่นกระดาษไปได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง รังสีแอลฟาจะถ่ายทอดพลังงานเกือบทั้งหมดออกไป ส่งผลให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนของสารที่รังสีผ่านได้ดี มีอันตรายกับสิ่งมีชีวิตน้อยที่สุด

2. รังสีบีตา (Beta: β) มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับอิเล็กตรอน ซึ่งมีประจุไฟฟ้าเป็นลบและมีมวลต่ำ แต่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง (สูงกว่ารังสีแอลฟาราว 100 เท่า) และมีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงถึงระดับใกล้เคียงกับความเร็วแสง

3. รังสีแกมมา (Gamma: γ) รังสีแกมมาที่มีสถานะเป็นกลางทางไฟฟ้า มีสมบัติคล้ายรังสีเอกซ์ (X-ray) คือเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นหรือมีความถี่สูง ไม่มีประจุและไม่มีมวล เป็นรังสีที่มีพลังงานสูง เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสง และมีความสามารถในการทะลุทะลวงสูงที่สุด และมีอันตรายกับสิ่งมีชีวิตมากที่สุด สิ่งที่ใช้ป้องกันรังสีแกมมาได้ คือ ตะกั่ว คอนกรีตหนา เป็นต้น

โดย “ซีเซียม-137” จะมีกลไกการสลายตัวแบบบีตา สลายตัวให้รังสีบีตาและรังสีแกมมา แล้วกลายสภาพไปเป็นธาตุแบเรียม-137 (Ba-137) อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีและไอโซโทปรังสีซีเซียม-137 ในช่วงที่เริ่มมีการเผยแพร่ข่าวสารว่าหายไปและกำลังตามหาอยู่แรก ๆ ระบุว่าซีเซียม-137 ที่ถูกบรรจุในวัสดุลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยเหล็กสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 14-20 เซนติเมตร มีฐานทำด้วยแผ่นโลหะทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าเชื่อมติดอยู่ น้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม

โดยปริมาณของไอโซโทปรังสีซีเซียม-137 ที่บรรจุอยู่ภายในมีค่าเริ่มต้นที่ 80 มิลลิคูรี (80 mCi) วัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 เนื่องจากซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 30.08 ปี ทำให้ปัจจุบัน (ผ่านมา 28 ปี) ซีเซียม-137 ที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะที่หายไปจะมีปริมาณเหลืออยู่ที่ 41.14 มิลลิคูรี โดยประมาณ คำนวณย้อนเป็นปริมาณซีเซียม-137 ตั้งต้นอยู่ที่ประมาณ 484 ไมโครกรัม (ไม่ถึง 1 ช้อนชา) โดยอัตราปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 มีค่าดังนี้

  • ที่ระยะ 30 เซนติเมตรจากวัสดุกัมมันตรังสีด้านช่องเปิด ประมาณ 1.29 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง
  • ที่ระยะ 60 เซนติเมตรจากวัสดุกัมมันตรังสีด้านช่องเปิด ประมาณ 0.12 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง
  • ที่ระยะ 120 เซนติเมตรจากวัสดุกัมมันตรังสีด้านช่องเปิด ประมาณ 0.03 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง
  • ที่ระยะ 180 เซนติเมตรจากวัสดุกัมมันตรังสีด้านช่องเปิด ประมาณ 0.01 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง

ค่าครึ่งชีวิตคืออะไร

อีกหนึ่งเรื่องถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับข่าวที่วัสดุกัมมันตรังสีและไอโซโทปรังสีซีเซียม-137 หายไป คือเรื่องของ “ค่าครึ่งชีวิต” ซึ่งก็มีทั้งคนเข้าใจผิดและไม่เข้าใจว่าค่าครึ่งชีวิตคืออะไร ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อธิบายความรู้เกี่ยวกับค่าครึ่งชีวิต (Half-life) ว่าเป็นระยะเวลาที่สารกัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวจนเหลือครึ่งหนึ่งของกัมมันตภาพรังสีตั้งต้น (ที่มีอยู่เดิม) ถูกใช้ในฟิสิกส์นิวเคลียร์เพื่ออธิบายความเร็วช้าของการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี โดยแต่ละไอโซโทปจะมีค่าครึ่งชีวิตเฉพาะของไอโซโทปนั้น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ปัจจัยภายนอกหรือสมบัติทางเคมีจะเปลี่ยนไป

ดังนั้น ซีเซียม-137 ที่มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 30.08 ปี มีข้อมูลว่าปริมาณที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะที่หายไป มีค่าเริ่มต้นอยู่ที่ 80 มิลลิคูรี (80 mCi) โดยวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 ในระยะเวลา 30 ปีให้หลัง (ปี 2568) คาดว่าปริมาณของซีเซียม-137 ที่อยู่ภายในภาชนะจะเหลืออยู่ประมาณ 40 มิลลิคูรี แต่เนื่องจาก ณ เวลาที่เป็นข่าวนี้ (ปี 2566) เป็นเวลาเพียง 28 ปี ทำให้มีการคำนวณออกมาว่าปริมาณซีเซียม-137 ที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะที่หายไปจะมีปริมาณเหลืออยู่ที่ 41.14 มิลลิคูรี นั่นเอง

แล้วซีเซียม-137 ที่มีปริมาณเหลืออยู่ที่ 41.14 มิลลิคูรีนี้ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะค่อย ๆ สลายตัวหมดไป คำนวณง่าย ๆ จากค่าครึ่งชีวิตที่อยู่ที่ประมาณ 30 ปี ว่าในปี 2568 จะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 40 มิลลิคูรี อีก 30 ปีต่อมา (ประมาณปี 2598) จะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 20 มิลลิคูรี อีก 30 ปีต่อไป (ประมาณปี 2628) จะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 10 มิลลิคูรี อีก 30 ปีต่อไป (ประมาณปี 2658) จะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 5 มิลลิคูรี นับต่อไปอีก 30 ปี (ประมาณปี 2688) ถึงจะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 2.5 มิลลิคูรี และนับต่อไปอีก 30 ปี (ประมาณปี 2718) ถึงจะเหลือซีเซียม-137 อยู่ประมาณ 1.25 มิลลิคูรี

ดังนั้น กว่าที่ซีเซียม-137 จะสลายตัวเหลือในระดับที่เกือบหมด หรือเหลือน้อยมาก ๆ แต่ก็ยังเหลืออยู่ (ปริมาณเป็น 0 ที่ตามด้วยทศนิยมหลายตำแหน่ง เนื่องจากเหลือครึ่งชีวิตในทุก ๆ 30 ปี) ต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำที่สุดก็ประมาณ 300 ปีเลยทีเดียว

ธาตุกัมมันตรังสี มีธาตุชนิดอื่น ๆ อีก

ธาตุกัมมันตรังสี ไม่ได้มีแค่ซีเซียม-137 เท่านั้น และนี่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ย้อนไปในปี 2543 หรือเมื่อ 23 ปีก่อน ก็เคยมีเหตุการณ์ธาตุกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 แผ่รังสี เช่นกัน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ ต.สำโรง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีผู้ได้รับผลกระทบหลายพันคน และมีผู้เสียชีวิตจากรังสีด้วย

แม้ว่าธาตุกัมมันตรังสีนั้นจะอันตราย แต่มนุษย์ก็สามารถใช้ประยุกต์ประโยชน์จากธาตุกัมมันตรังสีได้ในหลากหลายด้าน ปัจจุบันได้มีการนำรังสีและสารกัมมันตรังสีมาใช้งานต่าง ๆ เช่น ในทางการแพทย์มีการใช้ในการตรวจวินิจฉัยและบำบัดอาการโรคของผู้เจ็บป่วยจากโรคร้ายต่าง ๆ เช่น การฉายรังสีเอกซ์ การตรวจสมอง การตรวจกระดูก และการบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการใช้งานทางรังสีในกิจการอุตสาหกรรม การเกษตร และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น การใช้รังสีตรวจสอบรอยเชื่อม รอยร้าวในชิ้นส่วนโลหะต่าง ๆ การใช้ป้ายเรืองแสงในที่มืด การตรวจอายุวัตถุโบราณ การถนอมอาหารด้วยรังสี และการฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์

โดยธาตุกัมมันตรังสีที่ใช้ประโยชน์กันในปัจจุบัน อาทิเช่น คาร์บอน-14, ฟอสฟอรัส-32, โพแทสเซียม-32, โคบอลต์-60, ไอโอดีน-131, ซีเซียม-137, เรเดียม-226 และยูเรเนียม-238

อันตรายจากการรับรังสี

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตประจำวันของมนุษย์เรานั้น โดยทั่วไปทุกคนจะได้รับรังสี ทั้งจากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์ผลิตขึ้นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากรังสีมีอยู่หลายชนิด แต่รังสีที่จะก่อปัญหาแก่สิ่งมีชีวิตเรียกว่า รังสีชนิดก่อไอออน (ionising radiation) ซึ่งส่งผลทางชีวภาพต่อสิ่งมีชีวิตได้ จึงมีข้อกำหนดเรื่องการรับรังสีของมนุษย์ว่าไม่ควรเกินเท่าไร

การวัดปริมาณรังสีมีหน่วยเป็น ซีเวิร์ต (sievert) ใช้วัดผลของรังสีต่อบุคคล โดยซีเวิร์ตเป็นหน่วยวัดที่ใหญ่มาก เราจึงมักพบเห็นหน่วย มิลลิซีเวิร์ต (millisievert: mSv) หรือก็คือ 1 ใน 1,000 ของซีเวิร์ต หรือไมโครซีเวิร์ต (microsievert: ?Sv) หรือก็คือ 1 ใน 1,000,000 ของซีเวิร์ต ในบุคคลทั่วไป นอกเหนือจากการได้รับรังสี
ในธรรมชาติแล้ว จะต้องได้รับรังสีไม่เกิน 0.001 ซีเวิร์ต/ปี เว้นแต่ผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์ เพราะจำเป็นต้องได้รับรังสีจากการเอกซเรย์ ทำซีทีสแกน หรือการฉายรังสีรักษาโรค อย่างไรก็ตาม รังสีเหล่านี้มีผลกระทบน้อยมาก

ส่วนคนที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี เป็นผู้ปฏิบัติงานรังสี ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในบริเวณรังสีชนิดก่อไอออนต้องได้รับรังสีไม่เกิน 0.02 ซีเวิร์ตต่อปี โดยในแต่ละปีจะรับรังสีได้ไม่เกิน 0.05 ซีเวิร์ต ทั้งนี้ตลอดในช่วง 5 ปี ติดต่อกันจะต้องได้รับรังสีไม่เกิน 0.10 ซีเวิร์ต

การที่รังสีสามารถทำให้ตัวกลางที่มันเคลื่อนที่ผ่านแตกตัวเป็นไอออนได้ รังสีจึงมีอันตรายต่อมนุษย์ โดยผลของรังสีต่อมนุษย์สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทคือ ผลทางพันธุกรรมและการเจ็บป่วยจากรังสี ซึ่งผลทางพันธุกรรมจากรังสีจะมีผลทำให้การสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกายมนุษย์เกิดการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมไปยังทายาทรุ่นต่อไป

ส่วนผลที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย จะเกิดเมื่อร่างกายได้รับกัมมันตรังสีเข้าไปทางใดทางหนึ่ง ผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล การหายใจ หรือรับประทาน โมเลกุลของธาตุต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นเซลล์จะแตกตัว ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เกิดได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงสาหัสและเสียชีวิต รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง

ส่วนอันตรายทางรังสีของไอโซโทปรังสีซีเซียม-137 ข้อมูลจาก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่าการได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเชียม-137 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใดแต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้ ในกรณีหากได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผิวหนังแสบร้อนและมีผื่นแดงคล้ายน้ำร้อนลวกหรือโดนไฟไหม้ หรืออาจมีอาการคลื่นเหียนอาเจียนได้ ถ้าหากได้รับปริมาณรังสีที่สูงมากพอ

โดยซีเชียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง สภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสกับผงซีเชียม-137 นั้น อาจได้รับซีเชียม-137 เข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือการหายใจ และรับประทานผงซีเซียม-137 เข้าไป เมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่าง ๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่วนใหญ่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ และส่วนน้อยอยู่ในตับและไขกระดูก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของอวัยวะที่ซีเซียม-137 นั้นเข้าไปสะสมอยู่

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ได้รับอันตรายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี ชนิดของรังสีที่ได้รับ แต่อาการที่พบเมื่อสัมผัสกับซีเซียม 137 คือ เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ส่วนผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง ในกรณีสัมผัสปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้น ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น

อันตรายของรังสีในระดับที่ก่อมะเร็งได้นั้น จะอยู่ที่ 0.1-1 Sv ซีเวิร์ต/ปี แต่จากการตรวจวัดรังสีโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พบว่าค่าของกัมมันตรังสีที่พบไม่มากไปกว่าปกติในระดับที่เป็นอันตราย อีกทั้งได้มีการตรวจวัดหาซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นแดงจากการหลอมเหล็ก ซึ่งถูกจัดเก็บในถุงบิ๊กแบ็กแล้ว บริเวณโดยรอบไม่พบรังสีกระจายอยู่ ต้องขยับเครื่องวัดค่าเข้าไปหาถุงบิ๊กแบ็กนั้น ถึงจะเริ่มเจอความเข้มข้นของรังสี สอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุว่าซีเซียมข137 ปล่อยรังสีระดับ 1.29 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมงที่ระยะ 30 เซนติเมตร และเหลือเพียง 0.01 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมงที่ระยะ 180 เซนติเมตร

ทว่าสิ่งที่น่ากังวลก็ คือโอกาสที่ซีเซียม-137 จะตกค้างในอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากซีเซียม-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร และถูกเจือจางเป็นฝุ่นละอองหายไปกับอากาศ โดยที่เราจะแทบไม่มีทางตรวจจับได้เลย ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต โดยจะแพร่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ได้ทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งก็ต้องมีการตรวจวัดเป็นวงกว้างต่อไป การระมัดระวังและตื่นรู้เป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ควรทบทวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ประกอบด้วย ก่อนที่จะตื่นตระหนกจนเกินเหตุ และรับสารเอาแต่ข้อมูลผิด ๆ โดยที่ไม่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง

ซึ่งหลังจากที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยที่หลอมโลหะจากเศษเหล็กแห่งหนึ่ง โดยพบว่ามีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะ แต่เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานดังกล่าว พบว่าระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่าระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติเช่นกัน ยังไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม และฝุ่นโลหะปนเปื้อนทั้งหมดได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงานแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังพอเบาใจได้ (จากข้อมูลที่ออกมา) ในเวลานี้คือ การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิลที่รับซื้อเศษโลหะมือสอง มีการปะปนเอาวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ โดยเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอม และระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ที่มีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 ปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม แต่มีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด

ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการจัดการแหล่งรับซื้อของเก่าที่อยู่ในชุมชน

ใครที่ติดตามข่าวนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น จะเห็นว่าในช่วงแรกยังไม่ได้รับความสนใจมากถึงขนาดนี้ จะพบว่าเส้นทางการหายไปของวัตถุที่บรรจุธาตุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 นั้น สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ในอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนที่จะค่อย ๆ พบเบาะแสเป็นเส้นทางให้ติดตามที่ร้านรับซื้อของเก่าหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามแหล่งชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ คำถามคือ กฎหมายบ้านเรานั้นมีการควบคุมแหล่งรับซื้อของเก่ามากเพียงไร และมันดีแล้วหรือที่แหล่งรับซื้อของเก่าเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมากถึงเพียงนี้

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อ 23 ปีก่อน ที่เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรังสีที่สมุทรปราการ หรือเหตุการณ์ โคบอลต์-60 แผ่รังสี ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์แรกที่สังคมไทยได้สัมผัสกับความน่ากลัวของสารกัมมันตภาพรังสีเป็นครั้งแรก จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นั้น คือส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ หรือเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ถูกเก็บอย่างไม่ถูกต้อง ถูกเก็บมาโดยคนขายของเก่า ซึ่งคนขายของเก่าก็นำไปแยกชิ้นส่วนโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นวัตถุอันตราย ส่งผลให้คนเก็บของเก่าที่สัมผัสกับวัตถุโดยตรงและบุคคลใกล้เคียงได้รับรังสีก่อไอออน ผู้สัมผัสและบุคคลที่เกี่ยวข้องเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากรังสีจนต้องเข้าไปพบแพทย์

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้มีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 10 ราย เสียชีวิตในภายหลัง 3 ราย ที่เหลือพิการ และมีผู้ได้รับผลกระทบอีกนับพันคน ซึ่งเป็นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงในรัศมี 50-100 เมตร ถูกตรวจเลือดและพบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำผิดปกติ จนทำให้หญิงมีครรภ์ 1 รายต้องทำแท้ง

จะเห็นว่าการที่มีแหล่งรับซื้อของเก่าอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมากถึงเพียงนี้ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าวและมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างได้ง่ายมาก วัตถุเหล่านี้ สภาพภายนอกก็เหมือนกับเศษเหล็กหรือของเก่าทั่ว ๆ ไป ซึ่งชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างคนเก็บของเก่าไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นวัตถุอันตราย และเมื่อนำมาชำแหละขายตามร้านรับซื้อของเก่า ความเป็นพิษของรังสีของวัตุกัมมันตรังสีก็จะกระจายสู่ชุมชนใกล้เคียง ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันว่าความเป็นพิษและรังสีของกัมมันตรังสีสามารถตกค้างและปนเปื้อนในอยู่ในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหากเป็นฝุ่น ยังอาจแพร่กระจายไปในอากาศได้นับพันกิโลเมตรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการร้านค้าของเก่า ได้แก่พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการประกอบกิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์มือสอง มิให้เป็นแหล่งรับซื้อขายของโจร รวมถึงเป็นการป้องกันและปราบปรามการใช้กิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่าเป็นแหล่งฟอกเงินของผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีรายละเอียดถึงสถานที่ในการจัดตั้งร้านค้าของเก่าแต่อย่างใดว่าควรอยู่ห่างจากชุมชนมากน้อยแค่ไหน

และเมื่อไปดูกฎหมายอีกฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 ซึ่งมีการพูดถึง “วัตถุอันตราย” จะพบว่ามีการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็ไม่ชัดเจนว่าสามารถนับรวมเอาร้านรับซื้อของเก่า ที่อาจไปรับซื้อของเก่าประเภทวัตถุอันตรายเข้ามาในสถานที่ด้วยหรือเปล่า สืบเนื่องมาจากกฎหมายควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่านั้นเก่าเกินไป และยังไม่ได้พิจารณาถึงกรณีที่รับซื้อของเก่าประเภทวัตถุกัมมันตรังสีและผลกระทบ เมื่อร้านรับซื้อของเก่าซื้อเอาวัตถุเหล่านี้มาชำแหละกลางชุมชน และเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างเช่นนี้

แม้ว่าจะมีข้อกำหนดว่าผู้ที่จะขอใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าได้ ต้องมีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ในกรณีที่ประกอบการซื้อขายเศษวัสดุ (วัสดุรีไซเคิล) แต่คำถามคือการบังคับใช้กฎหมายจะเคร่งครัดแค่ไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ขึ้นมาอีก

คนหมดสิ้นศรัทธากับการจัดการของรัฐ

อีกประเด็นที่สำคัญจากกรณีที่เกิดขึ้น คือความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการและควบคุมสารกัมมันตภาพรังสีของหน่วยงานรัฐ จะเห็นได้ว่ากำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่ความหละหลวมของข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้วัตถุอันตรายอย่างสารกัมมันตรังสีนั้นสูญหายได้ง่ายดายเหลือเกิน ท่าทีหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ การทำงานที่ล่าช้า การแถลงข่าวที่แทบจะไม่ให้ข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ ให้ความกระจ่าง หรือสร้างความมั่นใจกับประชาชนได้เลยว่าบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องจะปลอดภัยจากอันตรายของสารกัมมันตรังสีนี้หรือไม่ สังคมอาจไม่ได้ต้องการคำตอบที่หวือหวา แต่สังคมต้องการความจริงที่ไม่ถูกปิดกั้น ไม่หมกเม็ด รวมถึงการสร้างความมั่นใจในด้านต่าง ๆ อย่างน่าเชื่อถือ เพื่อความเข้าใจและการรับมือ ว่าพวกเราต้องทำอย่างไรต่อ

เวลานี้เริ่มมีแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการที่ออกมาแสดงความกังวลกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งก็มีทั้งการให้ความรู้และความเบาใจว่าจากข้อเท็จจริง (ที่ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน) ว่าสารกัมมันตรังสีดังกล่าวอันตรายจริง แต่จากปริมาณ ความเข้มข้น และข้อมูลอื่น ๆ ที่มี มันยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนกขนาดนั้น บางส่วนก็กังวลว่าันจะเป็นหายนะสำหรับคนไทย หากสารและรังสีดังกล่าวรั่วไหลจนเจือปนกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะพยายามชี้แจงข้อมูลเหล่านี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมประชาชนถึงแทบจะไม่เชื่อและรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงานที่ดูแลเลย

เพราะหลัก ๆ แล้ว การให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหรือช่องทางของรัฐโดยตรงก่อน ไม่ใช่ให้ประชาชนที่พอจะมีความรู้ด้านนี้ออกมาพูดเตือนหรือให้ความรู้ประชาชนด้วยกันเอง หรือปล่อยเงียบจนประชาชนบางส่วนตื่นตระหนก หวาดกลัวจนสติแตก สื่อมวลชนก็ทำหน้าที่นำเสนอข่าวได้ดี แต่มันก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง แทนที่จะให้สื่อต่าง ๆ หาข้อมูลมาทำข่าวเอง ภาครัฐควรจะเป็นฝ่ายที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และตรงไปตรงมากับสื่อมากกว่า เพื่อให้สื่อนำมานำเสนอได้อย่างถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน ในเวลาแบบนี้อาจมีเฟกนิวส์ที่ปั่นป่วน ทำให้คนหวาดกลัวเกินกว่าความเป็นจริง หรือคนเริ่มหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จริงบ้างเท็จบ้าง แล้วคิดมโนต่าง ๆ นานาที่เลวร้ายเกินจริง มันจะทำให้เรื่องราวบานปลายไปกันใหญ่

อีกสิ่งที่รัฐต้องควบคุมควบคู่กับอันตรายของกัมมันตรังสี คือความตื่นกลัวของคน! ในเวลานี้คนต้องการความจริงที่ดูน่าเชื่อถือ และท่าทีการจัดการกับเหตุการณ์ที่ดูจริงจัง จริงใจ และได้มาตรฐานมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งหมดก็เพื่อความสบายใจและเชื่อมั่นของประชาชน ว่าพวกเขาจะยังคงปลอดภัยดี ไม่ต้องมารับผลกระทบระยะยาวจากความสะเพร่าของคนกลุ่มหนึ่ง และความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการและควบคุมสารกัมมันตภาพรังสีของหน่วยงานรัฐ ข้อมูลควรจะเป็นข้อมูลที่เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย อธิบายกระจ่าง เพราะประชาชนทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกัมมันตรังสี