เดอะแบกของบ้านต้องรู้! ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

ได้เวลามาวางแผนการเงินในครอบครัวอีกครั้ง หลังจากที่เข้าสู่ช่วงเทศกาลของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ก็ต้องเตรียมทำหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่คุณจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่ารายได้สุทธิของคุณหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนวัยทำงานที่มีบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัว มีรายการลดหย่อนที่เรียกว่า “ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มภาระส่วนตัวและครอบครัว” ด้วย ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณเสียภาษีได้ถูกลง หรืออาจจะทำให้รายได้สุทธิของคุณอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีเลยด้วยซ้ำไป และอาจจะได้เงินที่เคยถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วคืนด้วย เพราะฉะนั้น คุณจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลในส่วนนี้ให้ดี ๆ ว่าครอบครัวที่คุณดูแลอยู่ มีใครที่คุณสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีของคุณได้บ้าง เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขของกฎหมายมากที่สุด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 60,000 บาทต่อปีภาษี เป็นสิทธิค่าลดหย่อนภาษีโดยไม่มีเงื่อนไข สำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นภาษี

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส

สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 60,000 บาทต่อปีภาษี สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น โดยคู่สมรสหรือตัวเราเองต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 คน

3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าใช้จ่ายสำหรับการฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรของตนเอง ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงหรือสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/ครรภ์/ปีภาษี แต่สามีสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีของตนเองได้ในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล

4. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร

บุตร 1 คนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ได้คนละ 30,000 บาทต่อปีภาษี ซึ่งจะต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20-25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถนำไปหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

  • กรณีมีเฉพาะบุตรตามกฎหมาย: ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
  • กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: ลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน นับเฉพาะแค่บุตรที่ยังมีชีวิตอยู่
  • กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้

5. ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส

  • กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง: สามารถนำไปหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทต่อปีภาษี ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ พี่น้องต้องตกลงกันว่าใครจะใช้สิทธินี้ เนื่องจากค่าลดหย่อนนี้สามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว บิดามารดาจึงต้องกรอกเอกสารแบบ ลย.3 เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าบุตรคนไหนขอใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนให้ตนเอง
  • กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรส: สามารถนำไปหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทต่อปีภาษี ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส (คู่สมรสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย) และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
  • หากผู้เสียภาษีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนทั้งบิดามารดาของตนเอง และบิดามารดาของคู่สมรส จะสามารถประหยัดค่าภาษีได้สูงสุดถึง 120,000 บาทเลยทีเดียว

6. ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ

สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะที่มีชื่อผู้เสียภาษีเงินได้เป็นผู้ดูแล (ในกรณีที่ผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพเป็นบิดามารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้เสียภาษีเงินได้เอง ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท)